คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1891/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ค่าพาหนะที่มิได้เหมาจ่ายเป็นจำนวนแน่นอน มิใช่ค่าจ้าง ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 2 จึงไม่ต้องนำมารวมกับเงินเดือนเพื่อคำนวณเป็นค่าชดเชยหรือ สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย ได้รับเงินเดือนเดือนละ 8,560 บาท พร้อมกับค่าจ้างที่เป็นประโยชน์ในการใช้รถประจำตำแหน่งเป็นส่วนตัวรวมทั้งค่าน้ำมัน คำนวณเป็นเงินประมาณเดือนละ 20,000 บาท รวมเป็นค่าจ้างเดือนละ 28,560 บาท เมื่อวันที่ 9สิงหาคม 2525 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิดและจ่ายค่าชดเชยให้โดยคำนวณเฉพาะเงินเดือนเดือนละ 8,560 บาท มิได้นำประโยชน์ที่ได้รับการใช้รถยนต์เป็นส่วนตัวและเบิกน้ำมันจากจำเลยเดือนละ20,000 บาท มารวมคำนวณด้วย ทำให้จำนวนเงินค่าชดเชยและเงินบอกกล่าวล่วงหน้าขาดไป 140,000 บาท ขอให้บังคับจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวให้โจทก์

จำเลยให้การว่า ผลประโยชน์ที่โจทก์ได้รับจากสวัสดิการในการใช้รถยนต์เป็นส่วนตัวและเบิกค่าน้ำมันจากจำเลยนั้น เงินจำนวนนี้มิใช่ค่าจ้าง จำเลยให้พนักงานใช้รถยนต์เพื่อความสะดวกในการทำงาน และจำเลยที่ 1เป็นผู้จ่ายเงินค่าบริการดูแลรักษาและค่าน้ำมันให้แก่สถานีบริการจำหน่ายน้ำมันตามความเป็นจริง มิได้จ่ายให้โจทก์เป็นประจำทุกเดือน ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าประโยชน์จากการใช้รถยนต์มิใช่ค่าจ้างไม่ต้องนำมารวมกับเงินเดือนเพื่อจ่ายค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า จำเลยจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าครบถ้วนแล้ว พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า การที่จำเลยให้โจทก์ใช้รถยนต์ของจำเลยเป็นการส่วนตัว และสามารถเบิกน้ำมันรถจากสถานีจำหน่ายน้ำมันตามที่จำเลยกำหนดได้นั้นเป็นการอำนวยความสะดวกในการทำงานได้รวดเร็วในฐานะที่โจทก์ปฏิบัติงานให้จำเลย ส่วนการจ่ายน้ำมันรถก็ต้องปฏิบัติตามระเบียบของจำเลยโดยต้องนำใบเสร็จรับเงินค่าน้ำมันรถจากสถานีจำหน่ายน้ำมันมาเบิกเงินจากจำเลย จำเลยมิได้จ่ายค่าพาหนะเป็นการเหมาจ่ายให้โจทก์เป็นจำนวนเงินแน่นอนจึงมิใช่ค่าจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 2 ไม่ต้องนำมารวมกับเงินเดือนเพื่อจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า

พิพากษายืน

Share