คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2142/2517

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

มาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 บัญญัติว่า”ก่อนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์จะยื่นคำขอฝ่ายเดียวโดยทำเป็นคำร้องขอให้พิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ชั่วคราวก็ได้ เมื่อศาลได้รับคำร้องนี้แล้วให้ดำเนินการไต่สวนต่อไปโดยทันที ถ้าศาลเห็นว่าคดีมีมูลก็ให้สั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ชั่วคราว” คำว่าศาลตามมาตรานี้ต้องหมายความถึงศาลชั้นต้น โดยกฎหมายบัญญัติให้ศาลทำการไต่สวนฟังว่าคดีของโจทก์มีมูลหรือไม่เสียก่อนที่จะสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ชั่วคราว เพราะถ้าได้ผ่านการพิจารณาของศาลชั้นต้นไปจนศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดหรือมีคำพิพากษาแล้วกรณีก็ไม่จำเป็นต้องทำการไต่สวนฟังว่าคดีมีมูลหรือไม่อีก ฉะนั้น ที่กฎหมายบัญญัติไว้เช่นนี้จึงเป็นเรื่องที่ประสงค์จะให้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ร้องขอให้พิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ไว้ชั่วคราว ได้ก็แต่ในกรณีก่อนที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดเท่านั้นพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ไม่มีบทบัญญัติให้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ร้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราวในระหว่างฎีกาได้

ย่อยาว

คดีนี้ เดิมโจทก์ฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาด และพิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำสั่งศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์ฎีกาและยื่นคำร้องขอให้พิทักษ์ทรัพย์จำเลยไว้ชั่วคราวในระหว่างฎีกา

ศาลแพ่งวินิจฉัยว่า คดีโจทก์มีมูลในเรื่องจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว คดีนี้ศาลแพ่งเคยสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดไว้เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษากลับยกฟ้อง การพิทักษ์ทรัพย์เดิมก็หมดไปเมื่อคดีไม่มีการพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในขณะนี้ ศาลก็มีอำนาจสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้ชั่วคราวได้ตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 โจทก์ขอพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราวมาในขณะยื่นฎีกาศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 254 วรรคท้าย ประกอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153 จึงมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยชั่วคราว

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์จะขอพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราวได้ก็เฉพาะในกรณีที่ก่อนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดเท่านั้น ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 และการพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราวนี้ได้มีบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 โดยเฉพาะแล้วจะนำบทบัญญัติวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาใช้บังคับโดยอนุโลมไม่ได้ ฉะนั้น โจทก์จึงยื่นคำร้องขอให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยชั่วคราวระหว่างฎีกาไม่ได้ พิพากษากลับคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ยกคำร้องของโจทก์

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า มาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483บัญญัติว่า “ก่อนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์จะยื่นคำขอฝ่ายเดียวโดยทำเป็นคำร้องขอให้พิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ชั่วคราวก็ได้ เมื่อศาลได้รับคำร้องนี้แล้วให้ดำเนินการไต่สวนต่อไปโดยทันที ถ้าศาลเห็นว่าคดีมีมูลก็ให้สั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ชั่วคราว ” คำว่า ศาล ตามมาตรานี้ต้องหมายความถึงศาลชั้นต้น โดยกฎหมายบัญญัติให้ศาลทำการไต่สวนฟังว่าคดีของโจทก์มีมูลหรือไม่เสียก่อนที่จะสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ชั่วคราว เพราะถ้าได้ผ่านการพิจารณาของศาลชั้นต้นไปจนศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดหรือมีคำพิพากษาแล้ว กรณีก็ไม่จำเป็นต้องทำการไต่สวนฟังว่าคดีมีมูลหรือไม่อีกฉะนั้น ที่กฎหมายบัญญัติไว้เช่นนี้จึงเป็นเรื่องที่ประสงค์จะให้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ร้องขอให้พิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ไว้ชั่วคราวได้ก็แต่ในกรณีก่อนที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดเท่านั้น พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ไม่มีบทบัญญัติให้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ร้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราวในระหว่างฎีกาได้ ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำร้องโจทก์ชอบแล้ว

พิพากษายืน

Share