คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 626/2515

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องบังคับจำเลยตามสัญญากู้ยืมเงิน จำเลยให้การต่อสู้ว่าต้นเงินกู้จำนวนตามฟ้องนั้นเป็นเงินมัดจำค่าซื้อที่ดินที่โจทก์วางไว้กับจำเลยตามสัญญาซื้อขายที่ดิน
แต่เนื่องจากขณะทำสัญญาไม่มีแบบพิมพ์สัญญาซื้อขาย จึงเอาแบบพิมพ์สัญญากู้มากรอกข้อความแทน เช่นนี้ เป็นการต่อสู้เพื่อนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารสัญญากู้ มิใช่เพื่อนำสืบหักล้างเอกสารสัญญากู้อันจะเข้าข้อยกเว้นให้นำสืบพยานบุคคลได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94
โจทก์ฟ้องบังคับจำเลยที่ 2 ให้รับผิดตามสัญญาค้ำประกันเงินกู้ที่จำเลยที่ 1 ทำไว้แก่โจทก์ดังกล่าว จำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้ลอยๆ ว่าตนเป็นเพียงผู้รับรองต่อโจทก์ว่าจะเป็นผู้จัดให้มีการซื้อขายที่ดินกันให้สำเร็จเรียบร้อยเท่านั้น มิได้แสดงเหตุที่จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ไว้แต่อย่างใด เช่นนี้ถือว่าจำเลยไม่มีประเด็นที่จะนำสืบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2510 จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินโจทก์ทั้งสามไป 38,750 บาท ยอมให้ดอกเบี้ยตามกฎหมายทุกเดือน กำหนดชำระต้นเงินภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2510 โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน ปรากฏตามสำเนาสัญญากู้และค้ำประกันท้ายฟ้องจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระต้นเงินและดอกเบี้ยให้โจทก์เลย นับถึงวันฟ้องเป็นเวลา 1 ปี 25 วัน เป็นเงินดอกเบี้ย 3,108 บาท โจทก์ได้ทวงถามแล้วจำเลยก็ไม่ชำระ จึงขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระต้นเงินและดอกเบี้ยให้โจทก์เป็นเงิน 41,858 บาท กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 38,750 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จ จำเลยทั้งสองให้การร่วมกันและฟ้องแย้งว่า จำเลยไม่ได้กู้เงินโจทก์ตามฟ้อง ความจริงโจทก์กับพวกอีก 2 คน คือนางเฮียงและนายช่วยรวม 5 คน ได้ตกลงซื้อที่ดินจำเลยที่ 1 แปลงหนึ่งเนื้อที่ 38 ไร่ 2 งาน 26 วา อยู่ตำบลลาดบัว อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ในราคาไร่ละ 1,350 บาท คิดเป็นเงินประมาณ 50,475 บาท โจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อได้วางมัดจำไว้เป็นเงิน 38,750 บาท แต่วันวางมัดจำไม่มีแบบพิมพ์สัญญาซื้อขายที่ดิน ผู้เขียนได้เอาแบบพิมพ์สัญญากู้มาเขียนกรอกข้อความแทนสัญญาซื้อขาย เมื่อได้วางมัดจำแล้วจำเลยที่ 1 ได้มอบที่ดินให้โจทก์กับพวกเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินนั้นแล้วต่อมาการซื้อขายที่ดินไม่อาจกระทำได้โดยนายวิเชียร คล้ายเสื้อสามีจำเลยที่ 1 ได้คัดค้านไม่ยอมให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อขายที่ดินนั้นให้แก่โจทก์ จึงไม่ใช่ความผิดของจำเลย การกระทำของโจทก์แสดงว่าเป็นการปฏิเสธการซื้อขายดังกล่าว เป็นเหตุให้จำเลยเสียหายคิดเป็นเงิน 8,500 บาท ส่วนจำเลยที่ 2 เพียงเป็นผู้รับรองต่อโจทก์ว่าจะเป็นผู้จัดให้มีการซื้อขายสำเร็จเป็นที่เรียบร้อยเท่านั้น ขอให้บังคับโจทก์ใช้ค่าเสียหายให้จำเลยที่ 1 เป็นเงิน 8,500 บาท โดยให้หักกลบลบกับจำนวนเงินมัดจำ

ศาลชั้นต้นสั่งรับคำให้การ ส่วนฟ้องแย้งเห็นว่าไม่เกี่ยวข้องกับฟ้องเดิม จึงไม่รับฟ้องแย้ง หลักฐานสัญญากู้และสัญญาค้ำประกันจำเลยอ้างแต่เพียงว่ารับเงินของโจทก์เป็นการวางมัดจำในการที่โจทก์ตกลงซื้อที่ดินจากจำเลยที่ 1 ภาระหน้าที่การพิสูจน์ตามข้อต่อสู้ของจำเลยเป็นการนำสืบแก้ไขเอกสารซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 จึงพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระต้นเงิน 38,750 บาทแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2510 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเงินเสร็จ ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระ ก็ให้จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันรับผิดชำระแทนแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่ากรณีเป็นการนำสืบหักล้างเอกสาร จึงไม่ต้องห้ามตามมาตรา 94 นี้

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า ตามคำให้การของจำเลยก็รับว่าได้ทำสัญญากู้ตามเอกสารท้ายฟ้องให้โจทก์ไว้จริง เอกสารฉบับนี้มีข้อความชัดเจนว่าจำเลยที่ 1 ได้รับเงินไปแล้วในวันทำสัญญานั้นจะชำระต้นเงินคืนภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2510 กำหนดอัตราดอกเบี้ยกันตามกฎหมายจำเลยที่ 1 ได้ลงชื่อไว้ในฐานะเป็นผู้กู้ เมื่อเอกสารมีข้อความชัดแจ้งเช่นนี้ จำเลยจะขอนำสืบว่าความจริงจำเลยได้รับเงินจากโจทก์ไปเป็นค่ามัดจำที่ดิน จึงเป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข) ตามนัยแห่งคำพิพากษาฎีกาที่ 288/2503 คดีระหว่างนายใจ ศิริกุล โจทก์ นายเสริม หรรษา จำเลย

สำหรับจำเลยที่ 2 ซึ่งลงนามเป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ก็กล่าวอ้างลอย ๆ ว่า จำเลยที่ 2 เพียงเป็นผู้รับรองต่อโจทก์ว่าจะเป็นผู้จัดให้มีการซื้อขายที่ดินกันให้สำเร็จเป็นที่เรียบร้อยเท่านั้น แต่เหตุใดจำเลยที่ 2 จึงต้องทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ให้โจทก์ไว้ จำเลยที่ 2 ก็มิได้แสดงเหตุผลให้ปรากฏชัดแจ้งในคำให้การ จึงไม่มีประเด็นที่จะนำสืบแต่ประการใด

ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

Share