คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 625/2515

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่บุตรตายลงทำให้โจทก์ซึ่งเป็นบิดาต้องขาดไร้อุปการะโจทก์ชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนในการที่โจทก์ต้องขาดไร้อุปการะโดยไม่ต้องพิจารณาว่าโจทก์มีฐานะดีหรือไม่
โจทก์ฟ้องจำเลยเรียกค่าเสียหายฐานละเมิดภายใน 1 ปีแล้วอายุความย่อมสะดุดหยุดอยู่จนกว่าคดีจะได้วินิจฉัยถึงที่สุด หรือเสร็จไปโดยประการอื่น แม้โจทก์จะยื่นฟ้องเพิ่มเติมเมื่อพ้น 1 ปี นับแต่วันละเมิด แต่ก่อนวันศาลชี้สองสถาน และเป็นฟ้องที่เกี่ยวกับฟ้องเดิม ย่อมทำได้ฟ้องเพิ่มเติมของโจทก์ไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและเพิ่มเติมฟ้องว่า โจทก์เป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของเด็กชายอำนาจ เด็กชายชำนาญ จำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2507 จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ตามทางการที่จ้าง และตามคำสั่งของจำเลยที่ 2ที่ 3 บรรทุกแกลบ ด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวัง ถอยหลังรถลงที่ลาดชันด้วยความเร็วล้อหลังชนปลายเสาที่กองอยู่ริมทาง ปลายเสาเหวี่ยงไปโดนเด็กชายอำนาจ เด็กชายชำนาญ ถึงแก่ความตาย เด็กชายวันชัยได้รับบาดเจ็บสาหัส ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหาย ค่าทำบุญค่าใช้จ่ายในการทำศพและค่าทำขวัญ รวม 74,258 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะชำระเงินเสร็จ และให้ใช้ค่าทดแทนเพราะเหตุขาดไร้อุปการะเป็นเงินอย่างน้อย 40,000 บาทให้โจทก์ด้วย

จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ที่ 3 มีหน้าที่เป็นเด็กท้ายรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ล.บ. 00846 ซึ่งมีนายถนอมเป็นคนขับ วันเกิดเหตุนายไพกรรมการวัดท่าโขลงขอให้จำเลยที่ 1 นำรถยนต์ไปบรรทุกแกลบ จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ด้วยความระมัดระวัง เหตุที่เกิดขึ้นเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย เป็นความผิดของบุตรโจทก์ที่มายืนใกล้เสาจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ไม่จำต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ ค่าใช้จ่ายในการทำบุญ 7 วัน 50 วัน และ 100 วัน โจทก์เรียกสูงเกินไปค่าเสียหายเกี่ยวกับโจทก์เป็นโรคประสาทเนื่องจากการตายของบุตรมิได้บรรยายว่าเป็นค่ารักษาหรือค่าอะไร เป็นฟ้องเคลือบคลุมค่าเสียหายในเหตุที่โจทก์ต้องสูญเสียบุตรและเรียกค่าทำขวัญ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกได้ตามกฎหมาย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะ จำเลยที่ 2 ที่ 3 ให้การว่า ฟ้องเพิ่มเติมของโจทก์ ขาดอายุความ

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์โดยประมาทต้องรับผิดชอบใช้ค่าทำบุญ ค่าทำศพ รวม 20,000 บาท ส่วนค่าเสียหายเกี่ยวกับโจทก์เป็นโรคประสาท ไม่มีกฎหมายสนับสนุนเรียกไม่ได้ ค่าขาดอุปการะเลี้ยงดูนั้น ฟ้องเพิ่มเติมของโจทก์ขาดอายุความ จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ในทางการที่จ้าง จึงต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 1 กระทำ ไม่ได้ความว่าจำเลยที่ 3 ได้เกี่ยวข้องกับรถยนต์รายนี้ จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิด พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทน 20,000 บาท พร้อมกับดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ตั้งแต่วันพิพากษาจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์

โจทก์และจำเลยที่ 2 ที่ 3 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2-3 และขับรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ไปเกิดเหตุคดีนี้ตามทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ฟ้องเพิ่มเติมของโจทก์เกี่ยวกับค่าขาดไร้อุปการะเลี้ยงดูไม่ขาดอายุความ จึงกำหนดให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ในข้อนี้เป็นเงิน 30,000 บาท ที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าทำศพเป็นเงิน 20,000 บาทชอบด้วยรูปคดีแล้ว พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยทั้งสามรับผิดร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 50,000 บาทให้โจทก์ ให้จำเลยทั้งสามเสียดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์และจำเลยที่ 2 ที่ 3 ฎีกา

ศาลฎีกาเชื่อว่าจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ไปในทางการที่จ้าง เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ที่ 3 จำเลยที่ 2 ที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในผลที่จำเลยที่ 1 ทำละเมิด

ฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ข้อ 3 นั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยที่ 1 ทำละเมิดเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2507 โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 3 ให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2508 ฟังได้ว่าโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายภายใน 1 ปีนับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ทำละเมิด เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ยังศาลแล้ว อายุความย่อมสะดุดหยุดอยู่จนกว่าจะได้วินิจฉัยถึงที่สุดหรือเสร็จไปโดยประการอื่น ฉะนั้น แม้โจทก์จะยื่นฟ้องเพิ่มเติมเรียกค่าขาดไร้อุปการะเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2509 ก็ตาม ฟ้องเพิ่มเติมของโจทก์ซึ่งได้ยื่นก่อนวันศาลทำการชี้สองสถาน ก็เป็นฟ้องที่เกี่ยวกับฟ้องเดิม โจทก์ชอบที่จะเสนอคำฟ้องเพิ่มเติมได้ ฟ้องเพิ่มเติมของโจทก์ไม่ขาดอายุความ

ส่วนโจทก์จะมีสิทธิได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูหรือไม่นั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443 วรรค 3 บัญญัติว่า “ถ้าว่าเหตุที่ตามลงนั้นทำให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น” และมาตรา 1535 บัญญัติว่า “บุตรจำต้องอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา” กฎหมายมีดังนี้ จึงถือได้ว่าการที่เด็กชายอำนาจเด็กชายชำนาญตายลง ทำให้โจทก์ผู้เป็นบิดาต้องขาดไร้อุปการะจากผู้ตายตามกฎหมาย ทั้งนี้ โดยมิต้องพิจารณาว่าโจทก์มีฐานะดีหรือไม่ โจทก์ชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมาย

พิพากษายืน ยกฎีกาของโจทก์และจำเลยที่ 2 ที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับไปทั้งสองฝ่าย

Share