คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 467/2515

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หนี้ตามสัญญาเงินกู้ซึ่งแปลงมาจากหนี้ที่ค้างชำระราคาที่ดินที่ซื้อขายกันระหว่างโจทก์จำเลยนั้น จะนำสืบการใช้เงินได้ก็ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสือ ลงลายมือชื่อผู้ให้กู้มาแสดงว่าจำเลยได้ใช้เงินตามที่กู้แล้ว หรือได้มีการแทงเพิกถอนลงในสัญญากู้นั้น การที่โจทก์เซ็นในหนังสือสัญญาซื้อขาย (ที่ดินแปลงนั้น) ว่าได้รับเงินไปแล้วนั้น เป็นคนละเรื่องกับการกู้ยืมรายนี้ ยังไม่พอจะถือเป็นหลักฐานที่จำเลยได้คืนเงินกู้ให้โจทก์แล้ว

ย่อยาว

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ขายที่ดินแปลงหนึ่งให้จำเลยราคา25,000 บาทชำระแล้ว 12,000 บาท ที่เหลือ 13,000 บาทได้แปลงเป็นหนี้เงินกู้ ถึงกำหนดตามสัญญากู้นั้นแล้วจำเลยไม่ชำระ ขอให้ศาลบังคับ

จำเลยให้การรับว่าได้ซื้อที่ดินจากโจทก์ 25,000 บาท ค้างชำระ13,000 บาท แล้วทำสัญญากู้ไว้ตามฟ้องจริง แต่ต่อสู้ว่าได้ชำระเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์แล้วโดยในวันไปทำการโอนทะเบียนกันนั้น จำเลยได้ขายฝากที่ดินดังกล่าวไว้กับผู้ซื้อ 22,000 บาท ชำระให้โจทก์ไปแล้ว จำเลยขอหนังสือสัญญากู้คืน โจทก์บอกว่าจะคืนให้ภายหลังแต่ก็ไม่คืนให้จำเลย ทั้งในสัญญาซื้อขายที่ดินที่โจทก์ขายให้จำเลยก็ระบุว่าโจทก์ได้รับเงินไปจากจำเลยเป็นค่าที่ดินเสร็จสิ้นแล้วซึ่งมีผลเท่ากับโจทก์ได้ออกใบรับเงินตามหนังสือสัญญากู้ให้แก่จำเลยหนี้สินตามสัญญากู้จึงระงับสิ้นไปแล้ว

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ตามฟ้อง

จำเลยฎีกาต่อมา

ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่าโจทก์มีหนังสือสัญญากู้มาเป็นหลักฐานว่าจำเลยได้กู้เงินโจทก์ไป 13,000 บาท จำเลยไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ให้กู้มาแสดงว่าจำเลยได้ใช้เงินตามที่กู้นี้ให้โจทก์แล้ว หรือได้มีการแทงเพิกถอนลงในสัญญากู้นี้แต่อย่างไรที่จำเลยฎีกาว่าการที่โจทก์เซ็นในหนังสือสัญญาซื้อขายว่า ได้รับเงินไปแล้วนั้น ก็เป็นเรื่องเกี่ยวแก่การซื้อขายที่ดินเป็นคนละเรื่องกับการกู้ยืมรายนี้ ยังไม่พอจะถือเป็นหลักฐานที่จำเลยได้ชำระเงินกู้ให้โจทก์แล้ว ศาลฎีกาเห็นว่าที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยใช้เงินตามสัญญากู้ให้โจทก์นั้น ชอบแล้วฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืนยกฎีกาจำเลย

Share