คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1741/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์และจำเลยต่างครอบครองที่ดินมรดกเป็นส่วนสัด ที่ดินพิพาทซึ่งโจทก์ครอบครองจึงเป็นของโจทก์ การที่โจทก์มิได้นำสำรวจที่ดินหรือเสียภาษีบำรุงท้องที่ ไม่ทำให้โจทก์เสียสิทธิครอบครอง และการที่โจทก์มิได้คัดค้านกรณีที่จำเลยขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือขอออกโฉนดที่ดินมิได้หมายความว่าโจทก์ยอมรับโดยปริยายว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย ที่จำเลยขอออกโฉนดที่ดินของจำเลยแล้วรังวัดรวมที่ดินพิพาทของโจทก์เข้าไปด้วย เป็นการไม่ชอบแม้โจทก์จะฟ้องขอให้แบ่งแยกที่พิพาท ศาลก็มีอำนาจที่จะเพิกถอนโฉนดที่ดินส่วนที่ทับที่ดินพิพาทและห้ามจำเลยเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า มารดาโจทก์ได้ครอบครองที่ดิน 1 แปลง ด้วยความสงบเปิดเผยและเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันนานประมาณ 5 ปีก็ถึงแก่ความตาย โจทก์เข้ารับมรดกครอบครองที่ดินดังกล่าว ต่อมาจำเลยอ้างว่าที่ดินเป็นของจำเลยซึ่งได้ขอออกโฉนดไว้แล้ว ปรากฏว่าจำเลยได้ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์และโฉนดที่ดินทับที่ดินของโจทก์ทั้งแปลง เป็นการไม่ชอบ ขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์โดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ให้จำเลยแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวออกจากโฉนดแล้วใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์

จำเลยให้การว่า จำเลยร่วมกันครอบครองที่ดินดังกล่าวมาก่อนที่จะเป็นที่ดินมีโฉนด เมื่อทางราชการออกโฉนดที่ดินดังกล่าวโจทก์ไม่เคยคัดค้านการขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือโฉนดที่ดิน โจทก์ไม่ใช่เจ้าของที่ดินพิพาทโจทก์ขออาศัยปลูกบ้านอยู่ในที่พิพาท ครั้นที่ดินตกเป็นของจำเลย จำเลยคงให้โจทก์อาศัยเช่นเดิม

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า ที่ดินแปลงเนื้อที่ 3 ไร่เศษรวมทั้งที่พิพาทเป็นที่ดินมรดกซึ่งโจทก์และจำเลยต่างครอบครองเพื่อตนเองเป็นส่วนสัดที่ดินพิพาทซึ่งโจทก์ครอบครองจึงเป็นของโจทก์ แล้ววินิจฉัยว่า การที่โจทก์มิได้นำสำรวจที่ดินหรือเสียภาษีบำรุงท้องที่ ไม่ทำให้โจทก์เสียสิทธิครอบครอง การที่โจทก์มิได้คัดค้านกรณีที่จำเลยกับพวกขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือขอออกโฉนดที่ดิน มิได้หมายความว่าโจทก์ยอมรับโดยปริยายว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยกับพวก ที่จำเลยขอออกโฉนดที่ดินของจำเลยแล้วรังวัดรวมที่ดินพิพาทของโจทก์เข้าไปด้วย เป็นการไม่ชอบ แม้โจทก์จะฟ้องขอให้แบ่งแยกที่พิพาทศาลก็มีอำนาจที่จะเพิกถอนโฉนดที่ดินส่วนที่ทับที่ดินพิพาทและห้ามจำเลยเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทได้

พิพากษากลับว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ ให้เพิกถอนโฉนดที่ดินของจำเลยเฉพาะส่วนที่ทับที่ดินพิพาท ห้ามจำเลยเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท

Share