คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1485/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีก่อน กรมทางหลวงเป็นโจทก์ฟ้องโจทก์คดีนี้กับ ส.ลูกจ้างของโจทก์กับจำเลยที่ 1 ที่ 2 คดีนี้เป็นจำเลย หาว่า ส. ขับรถยนต์โดยสารในทางการที่จ้างของโจทก์และจำเลย ที่ 1ขับรถยนต์บรรทุกในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ด้วยความประมาทโดยต่างขับเคียงคู่ใกล้ชิดกันด้วยความเร็วสูงในลักษณะแข่งขันความเร็วกัน เป็นเหตุให้รถทั้งสองคัน กระแทกกันจนรถยนต์โดยสารแฉลบออกไปชนเสาและราวเกาะกลางถนนกับ เสาไฟฟ้าของกรมทางหลวงเสียหาย ขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งสี่ (ในคดีก่อน)ใช้ค่าเสียหาย คดีถึงที่สุดโดยศาลฟัง ข้อเท็จจริงว่า เหตุละเมิดเกิดจากความผิดของรถยนต์บรรทุกน้ำมัน อีกคันหนึ่งขับแซงเบียดกระแทกรถยนต์บรรทุกทำให้รถยนต์บรรทุก เสียหลักไปชนรถยนต์โดยสารหาใช่ความผิดของจำเลยที่ 1 คดีนี้และ ส. ไม่ พิพากษายกฟ้องโจทก์มาฟ้องคดีนี้ โดยอ้างเหตุอย่างเดียวกับที่โจทก์ให้การต่อสู้ในคดีก่อนว่า จำเลยที่ 1 คดีนี้ขับรถเบนออกมาทางด้านขวาเข้ามาชน รถยนต์โดยสารของโจทก์เสียหลักพุ่งเข้าชนเกาะกลางถนน เป็นความ ประมาทของจำเลยที่ 1 ฝ่ายเดียว เช่นนี้ เห็นได้ว่า ประเด็นข้อพิพาทโดยตรงในคดีก่อนกับคดีนี้เป็นอย่างเดียวกันว่า ส.ลูกจ้างของโจทก์หรือจำเลยที่ 1 คดีนี้เป็น ฝ่ายขับรถยนต์โดยประมาทแม้ว่าในคดีก่อน โจทก์กับ ส. ลูกจ้าง และจำเลยที่ 1 ที่ 2 คดีนี้จะเป็นจำเลยด้วย กันก็ตามก็ต้องถือว่าโจทก์เป็นคู่ความในกระบวนพิจารณาของ ศาลในคดีก่อนด้วยคำพิพากษาในคดีก่อนจึงมีผลผูกพัน โจทก์คดีนี้ว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ขับรถยนต์บรรทุกโดย ประมาทดังข้ออ้างในฟ้องเป็นความประมาทของรถยนต์บรรทุกน้ำมันอีกคันหนึ่ง โจทก์จะโต้แย้งว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่าย ประมาทหาได้ไม่
เมื่อโจทก์ต้องถูกผูกพันตามคำพิพากษาในคดีก่อนโดยผลของกฎหมายว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ทำละเมิดต่อโจทก์ ก็เท่ากับ ว่า จำเลยที่ 1รวมทั้งจำเลยอื่น (นายจ้างของจำเลยที่ 1 และผู้รับประกันภัยรถยนต์ ที่จำเลยที่ 1 ขับ) ไม่ได้ โต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ปัญหาเกี่ยวกับอำนาจฟ้องย่อมเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้ไม่มีฝ่ายใดกล่าวอ้างศาลก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ครอบครองรถยนต์โดยสารหมายเลขทะเบียน 1 จ-7569 จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ทำหน้าที่ขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน ส.บ. 20649 จำเลยที่ 4 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกดังกล่าวจำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน ส.บ.20649 ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ที่ 3 โดยประมาท ขับด้วยความเร็วสูงแซงรถบรรทุกน้ำมันชนรถยนต์โดยสารหมายเลขทะเบียน 1 จ-7569 จนเสียหลักพุ่งเข้าชนราวเกาะกลางถนนและชนเสาไฟฟ้าโจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยทั้งสี่ร่ววมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 ไม่ใช่นายจ้างของจำเลยที่ 1และเหตุเกิดเพราะความประมาทของผู้ขับรถยนต์โดยสารหมายเลขทะเบียน1 จ-7569 ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 4 ให้การว่า ความเสียหายเกิดขึ้นเพราะความประมาทของผู้ขับรถยนต์โดยสารหมายเลขทะเบียน 1 จ-7569 และจำเลยที่ 4 รับประกันภัยในวงเงินไม่เกิน 100,000 บาท ถ้าจะรับผิดก็เพียงเท่าจำนวนเงินดังกล่าว

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาว่า คำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 6055/2521หมายเลขแดงที่ 1866/2523 ของศาลแพ่งที่ฟังว่า จำเลยที่ 1 คดีนี้ไม่ได้ขับรถยนต์โดยประมาท ไม่มีผลผูกพันโจทก์คดีนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 145 ดังที่โจทก์ฎีกาหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า กรณีที่โจทก์ฟ้องกล่าวหาจำเลยที่ 1 ว่าขับรถยนต์บรรทุกโดยประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้โจทก์เสียหายให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์คดีนี้นั้นกรมทางหลวงได้เป็นโจทก์ ฟ้องโจทก์ นายสมพร ฤทธิ์เดช ลูกจ้างขับรถยนต์โดยสารของโจทก์กับจำเลยที่ 1 ที่ 2 คดีนี้เป็นจำเลยหาว่า นายสมพร ฤทธิ์เดช กับจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์โดยสารกับรถยนต์บรรทุกในทางการที่จ้างของโจทก์ และของจำเลยที่ 2 ด้วยความประมาท โดยต่างขับเคียงคู่ใกล้ชิดกันด้วยความเร็วสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ในลักษณะแข่งขันความเร็วกัน เป็นที่น่าหวาดเสียวโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยและความเดือดร้อนของผู้อื่น เป็นเหตุให้รถทั้งสองคันกระแทกกันจนรถยนต์โดยสารแฉลบออกไปทางขวาชนเสาและราวคอนกรีตเสริมเหล็กเกาะกลางถนน กับชนเสาไฟฟ้กลางถนนของโจทก์ (กรมทางหลวง) ชำรุดเสียหาย ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าเสียหาย ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงในคดีดังกล่าวนี้ว่า เหตุละเมิดเกิดจากความผิดของรถยนต์บรรทุกน้ำมันอีกคันหนึ่งขับแรงเบียดกระแทกรถยนต์บรรทุก ทำให้รถยนต์บรรทุกเสียหลักเบนไปทางขวาชนกับรถยนต์โดยสาร หาใช่ความผิดของจำเลยที่ 1 คดีนี้และนายสมพร ฤทธิ์เดช จำเลยที่ 3 ในคดีนั้นไม่ พิพากษาฟ้องโจทก์ คดีถึงที่สุดเพียงศาลชั้นต้น ตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 10555/2521 หมายเลขแดงที่ 1866/2523 ของศาลแพ่งเห็นว่าข้ออ้างของโจทก์ในคดีนี้เป็นเรื่องเดียวกับที่โจทก์ถูกกรมทางหลงฟ้องให้ร่วมรับผิดร่วมกับลูกจ้างในผลแหงการทำละเมิดของนายสมพรลูกจ้าง ในคดีแพ่งดังกล่าวโจทก์ให้การการโต้แย้งว่า จำเลยที่ 1 คดีนี้ขับรถเบนออกมาทางด้านขวาเข้ามาชนรถยนต์โดยาร ของโจทก์เสียหลักพุ่งเข้าชนเกาะกลางถนนเป็นความประมาทของจำเลยที่ 1 ฝ่ายเดียว เช่นเดียวกับข้ออ้างในคดีนี้อันมีประเด็นข้อพิพาทกันโดยตรงว่า นายสมพรลูกจ้างของโจทก์หรือจำเลยที่ 1คดีนี้เป็นฝ่ายขับรถยนต์โดยประมาท แม้ว่าในคดีนั้นโจทก์กับนายสมพรลูกจ้างและจำเลยที่ 1 ที่ 2 คดีนี้จะเป็นจำเลยด้วยกันก็ตาม ก็ต้องถือว่าโจทก์เป็นคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลในคดีนั้นด้วย หากจำต้องเป็นโจทก์และจำเลยคนละฝ่าย จึงจะถือว่าเป็นคู่ความดังที่โจทก์อ้างฎีกาไม่ ดังนั้นคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 6055/2521 หมายเลขแดงที่ 1866/2523จึงมีผลผูกพันโจทก์คดีนี้ว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ขับรถยนต์บรรทุกโดยประมาทดังข้ออ้างในฟ้องเป็นความประมาทของรถยนต์บรรทุกน้ำมันอีกคันหนึ่ง โจทก์จะโต้แย้งว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายประมาทหาได้ไม่

ที่โจทก์ฎีกาว่า ปัญหาเรื่องคำพิพากษาผูกพันโจทก์ ไม่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์ยกขึ้นวินิจฉัยโดยไม่มีฝ่ายใดกล่าวอ้างเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า เมื่อโจทก์ต้องถูกผูกพันตามคำพิพากษาโดยผลของกฎหมายว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ทำละเมิดต่อโจทก์ให้ได้รับความเสียหายแล้ว ก็เท่ากับว่าจำเลยที่ 1 รวมทั้งจำเลยอื่นไม่ได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ให้จำเลยที่ 1 และจำเลยอื่นร่วมรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ปัญหาเกี่ยวกับอำนาจฟ้องย่อมเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์ยกขึ้นวินิจฉัยให้ยกฟ้อง โจทก์ชอบแล้ว

พิพากษายืน

Share