คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 792/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมือง ข้อ 1 ความว่า “ถ้าข้าพเจ้าถึงแก่ความตายไปแล้ว” บรรดาทรัพย์สินของข้าพเจ้าที่มีอยู่แล้ว ที่จะเกิดขึ้นในภายหน้า ข้าพเจ้ายอมยกให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่ผู้ได้ระบุชื่อไว้ในพินัยกรรมนี้ให้เป็นผู้รับทรัพย์สินตามจำนวนซึ่งได้กำหนดไว้ดังต่อไปนี้คือ” ต่อจากนั้นได้ระบุที่ดิน น.ส.3 เนื้อที่ 15 ไร่ 1 งาน 57 ตารางวา ข้อ 2 ความว่า ‘ข้าพเจ้าขอมอบพินัยกรรมฉบับนี้แก่คณะกรรมการอำเภอและขอตั้งให้ น. (โจทก์) เป็นผู้จัดการมรดกข้าพเจ้าตามพินัยกรรมนี้ และให้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายทุกประการ” ข้อ 3 ความว่า “ข้อความแห่งพินัยกรรมนี้ กรมการอำเภอได้อ่านให้ข้าพเจ้าฟังโดยตลอดแล้วเป็นการถูกต้องตรงตามความประสงค์ของข้าพเจ้าที่ได้แจ้งให้กรมการอำเภอจดลงไว้ และขณะทำพินัยกรรมนี้ข้าพเจ้ามีสติสมบูรณ์ จึงลงชื่อไว้ต่อหน้ากรมการอำเภอและพยานเป็นสำคัญถัดลงมาเป็นลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ทำพินัยกรรมและพยาน 2 คนกับบันทึกของกรมการอำเภอ ดังนี้ พินัยกรรมดังกล่าวเป็นพินัยกรรมตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดก เพราะไม่มีข้อความว่าผู้ทำพินัยกรรมยกที่พิพาทให้โจทก์ แม้ตามคำร้องของผู้ทำพินัยกรรมที่ยื่นต่อนายอำเภอจะมีข้อความว่า ผู้ร้อง (ผู้ทำพินัยกรรม) ประสงค์จะทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองยกทรัพย์ให้โจทก์ก็ตาม คำร้องฉบับนี้มิใช่พินัยกรรม จึงรับฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้ที่พิพาทมาโดยพินัยกรรม อย่างไรก็ดีเป็นที่เข้าใจว่า จ. ยกที่พิพาทให้โจทก์เมื่อตนถึงแก่กรรม จึงปรากฏว่าเมื่อจ.ตาย จำเลยก็เลิกทำนาพิพาท ฝ่ายโจทก์คงทำนาพิพาทต่อมาหนึ่งปีแล้วให้บุคคลอื่นเช่า โจทก์จึงเป็นฝ่ายครอบครองที่พิพาทนับตั้งแต่ จ.ตายตลอดมาโดยเจตนายึดถือเพื่อตน โจทก์ย่อมได้สิทธิครอบครอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของและมีสิทธิครอบครองที่ดิน 1 แปลง เนื้อที่9 ไร่ 2 งาน 59 ตารางวา อยู่หมู่ 3 ตำบลพนมทวน อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรีโดยนางจำปีมารดาทำพินัยกรรมยกให้ นางจำปีถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2520โจทก์จึงเข้าครอบครองทำประโยชน์ที่ดินดังกล่าวอย่างเป็นเจ้าของตั้งแต่นั้นตลอดมาจำเลยไม่เคยเกี่ยวข้อง ต่อมาโจทก์ยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินแปลงนี้ จำเลยคัดค้านอ้างว่าบิดายกให้และได้บุกเบิกทำกินบางส่วน เนื้อที่ประมาณ 4 ไร่ 1 งาน 75 ตารางวาทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้พิพากษาว่าที่พิพาท 5 ไร่ 1 งาน 75 ตารางวาเป็นของโจทก์ห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้อง ให้จำเลยถอนคำร้องคัดค้านการขอออกโฉนดของโจทก์หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา

จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่าที่ดินตามฟ้องทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินที่จำเลยกับภรรยาจับจองหักร้างถางพงและทำประโยชน์โดยการทำนา จำเลยได้ครอบครองและเสียภาษีบำรุงท้องที่ตลอดมา นางจำปีมารดาโจทก์จำเลยไม่เคยทำพินัยกรรมยกให้โจทก์ เมื่อนางจำปีตาย โจทก์เข้าครอบครองที่ดินอีกแปลงหนึ่งไม่ใช่ที่พิพาท ที่พิพาทจำเลยครอบครองทำนาตลอดมาทั้งมีบ้านอาศัยอยู่ในที่พิพาท 2 หลัง จำเลยครอบครองที่พิพาทโดยสงบเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของโจทก์ไม่คัดค้าน จำเลยย่อมได้สิทธิครอบครองคดีโจทก์ขาดอายุความ เมื่อโจทก์ไปขอออกโฉนดที่พิพาท จำเลยจึงไปคัดค้าน ขอให้ยกฟ้องโจทก์ และพิพากษาว่าที่พิพาทเป็นของจำเลย ห้ามโจทก์เกี่ยวข้อง ให้โจทก์ถอนคำขอออกโฉนดหากไม่ถอนให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยไม่เคยเข้าครอบครองทำประโยชน์ไม่ว่าก่อนหรือหลังนางจำปีถึงแก่กรรม การนำสำรวจเสียภาษีบำรุงท้องที่จำเลยกระทำในนามนางจำปี โจทก์ครอบครองทำประโยชน์อย่างเป็นเจ้าของตั้งแต่นางจำปีถึงแก่กรรม ฟ้องแย้งขาดอายุความขอให้ยกฟ้องแย้ง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วฟังว่า ที่พิพาทเป็นของจำเลย พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ฟังว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ พิพากษากลับเป็นว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ห้ามจำเลยเกี่ยวข้อง ให้จำเลยถอนคำคัดค้านการขอออกโฉนด

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกา ฟังข้อเท็จจริงว่าที่พิพาทเป็นของนางจำปีมาก่อน หาใช่จำเลยหักร้างถางพงยึดถือเอาเป็นส่วนตัวไม่ แล้ววินิจฉัยว่า คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่านางจำปีทำพินัยกรรมยกที่พิพาทให้โจทก์ พินัยกรรมดังกล่าวทำเป็นเอกสารฝ่ายเมืองข้อ 1 ความว่า “ถ้าข้าพเจ้าถึงแก่ความตายไปแล้ว บรรดาทรัพย์สินของข้าพเจ้าที่มีอยู่แล้ว ที่จะเกิดขึ้นในภายหน้าข้าพเจ้ายอมยกให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่ผู้ได้ระบุชื่อไว้ในพินัยกรรมนี้ ให้เป็นผู้รับทรัพย์สินตามจำนวนซึ่งได้กำหนดไว้ดังต่อไปนี้คือ”ต่อจากนั้นได้ระบุที่ดิน น.ส.3 เนื้อที่ 15 ไร่ 1 งาน 57 ตารางวา ข้อ 2 ความว่า”ข้าพเจ้าขอมอบพินัยกรรมฉบับนี้แก่คณะกรรมการอำเภอและขอตั้งให้นางหนูเล็กนวลฉวี เป็นผู้จัดการมรดกข้าพเจ้าตามพินัยกรรมนี้ และให้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายทุกประการ” ข้อ 3 ความว่า “ข้อความแห่งพินัยกรรมนี้กรมการอำเภอได้อ่านให้ข้าพเจ้าและพยานฟังโดยตลอดแล้ว เป็นการถูกต้องตรงความประสงค์ของข้าพเจ้าที่ได้แจ้งให้กรมการอำเภอจดลงไว้และขณะทำพินัยกรรมนี้ข้าพเจ้ามีสติสมบูรณ์จึงลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้ากรมการอำเภอและพยานเป็นสำคัญ”ถัดลงมาเป็นลายพิมพ์นิ้วมือของนางจำปีและพยาน 2 คน กับบันทึกของกรมการอำเภอ ศาลฎีกาเห็นว่า พินัยกรรมดังกล่าวเป็นพินัยกรรมตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกเพราะไม่มีข้อความว่านางจำปียกที่พิพาทให้โจทก์แม้ตามคำร้องของนางจำปีที่ยื่นต่อนายอำเภอจะมีข้อความว่าผู้ร้องประสงค์จะทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองยกทรัพย์สมบัติให้โจทก์ก็ตาม คำร้องฉบับนี้มิใช่พินัยกรรมจึงรับฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้ที่พิพาทมาโดยพินัยกรรม อย่างไรก็ดีเป็นที่เข้าใจว่านางจำปียกที่พิพาทให้โจทก์เมื่อตนถึงแก่กรรม จึงปรากฎว่าเมื่อนางจำปีตายจำเลยก็เลิกทำนาพิพาท ฝ่ายโจทก์คงทำนาพิพาทต่อมาหนึ่งปี แล้วให้บุคคลอื่นเช่าทำ โจทก์จึงเป็นฝ่ายครอบครองที่พิพาทนับตั้งแต่นางจำปีตายตลอดมาโดยเจตนายึดถือเพื่อตน โจทก์ย่อมได้สิทธิครอบครอง

พิพากษายืน

Share