คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 279/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีมีข้อตกลงให้โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นได้ตามประเพณีการค้าของธนาคารพาณิชย์ ประเพณีการค้าขายที่คำนวณดอกเบี้ยทบต้นในบัญชีเดินสะพัดเช่นนี้ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 655 วรรคสอง และดอกเบี้ยที่ทบเข้ากับเงินต้นย่อมกลายเป็นต้นเงิน มิใช่ดอกเบี้ยค้างชำระ ทั้งนี้จนกว่าจะมีการบอกเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัด เมื่อบอกเลิกแล้วโจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้น คงเรียกได้แต่ดอกเบี้ยธรรมดาหากไม่ชำระก็เป็นดอกเบี้ยค้างชำระหรือค้างส่ง ตามคำฟ้องของโจทก์เรียกดอกเบี้ยค้างชำระนับถึงวันฟ้องยังไม่เกินห้าปีสิทธิเรียกร้องเอาดอกเบี้ยค้างส่งของโจทก์ยังไม่ขาดอายุความหรือขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 166 จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ซึ่งกู้เงินจากโจทก์ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีภายในวงเงิน 25,000 บาทรวมทั้งดอกเบี้ยตลอดจนค่าเสียหายและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ โดยยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ปรากฏว่าก่อนทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและสัญญาค้ำประกันในวันที่ 12 มกราคม 2513 จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์อยู่แล้ว 25,514.53 บาทต่อมาวันที่ 26 มิถุนายน 2513 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดชำระหนี้ตามสัญญา จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ 48,939.41 บาท เห็นได้ว่ามีทั้งหนี้เก่าและหนี้ใหม่ระคนปนกันอยู่ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ย่อมจำกัดเพียงจำนวนเงิน 25,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม 2513 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ การที่ ส. อดีตผู้จัดการสาขาของธนาคารโจทก์ซึ่งยอมรับผิดต่อโจทก์แทนลูกหนี้ของโจทก์รวมทั้งจำเลยทั้งสองได้ทำบันทึกขึ้นฝ่ายเดียวมีข้อความว่าโจทก์ลดหย่อนความรับผิดชอบในส่วนตัวของ ส. โดยให้ ส. ชำระเงินจำนวนหนึ่งและยอมปลดจำนองที่ดินให้ ไม่มีข้อความตอนใดแสดงว่าโจทก์ยอมปลดหนี้ให้จำเลยทั้งสอง แต่ปรากฏชัดแจ้งว่าเป็นการลดหย่อนความรับผิดชอบส่วนตัวของ ส. ซึ่งจะต้องรับผิดต่อโจทก์ในฐานะตัวแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 812 หาใช่ปลดหนี้ให้จำเลยทั้งสองไม่ จึงไม่มีทางที่จำเลยที่ 2จะอ้างว่าหนี้รายนี้ระงับไปแล้วโดยการประนอมหนี้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2513 จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ภายในวงเงิน 25,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ14 ต่อปี กำหนดส่งทุกวันสิ้นเดือน หากผิดนัดให้นำดอกเบี้ยชำระทบเข้ากับต้นเงินและให้ดอกเบี้ยนั้นกลายเป็นต้นเงินที่จะเสียดอกเบี้ยต่อไปตามประเพณีการค้าของธนาคารพาณิชย์ และสัญญาว่าจะชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 26 มิถุนายน 2513 โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันและยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยี่ 1 หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ก็ออกเช็คสั่งจ่ายเงินในบัญชีนำเงินฝากเข้าบัญชีเพื่อชำระหนี้หลายครั้ง ต่อมาขาดการติดต่อ โจทก์คิดดอกเบี้ยเป็นรายเดือนตามประเพณีการค้าของธนาคารพาณิชย์ตลอดมาจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2523 จำเลยที่ 1 คงเป็นหนี้โจทก์ 200,429.97 บาท โจทก์ทวงถามแล้วแต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉยรวมดอกเบี้ยถึงวันฟ้องแล้วเป็นเงิน 204,033.33 บาท ขอบังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยทั้งจะฟ้องเอาดอกเบี้ยค้างเกิน 5 ปีไม่ได้ จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีมาเกิน 10 ปีแล้ว คดีขาดอายุความ และหนี้รายนี้ระงับไปแล้วโดยการประนอมหนี้ตามบันทึกลงวันที่ 19 พฤษภาคม 2520 ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ 25,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 14 ต่อปี โดยคิดทบต้นตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม 2513 ถึงวันที่ 26 มิถุนายน 2513 ต่อจากนั้นคิดธรรมดาไม่ทบต้นจนถึงวันที่ 26 มิถุนายน 2518

โจทก์และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน200,429.97 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปีนับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม2523 ไปจนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์เรียกดอกเบี้ยค้างชำระเกินกว่าห้าปี ขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 166 และโจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นตั้งแต่เริ่มทำสัญญา ขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 655 ตกเป็นโมฆะ ใช้บังคับไม่ได้นั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับธนาคารโจทก์อันมีลักษณะเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดโดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีที่ทำไว้มีข้อตกลงให้โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นได้ตามประเพณีการค้าของธนาคารพาณิชย์ประเพณีการค้าขายที่คำนวณดอกเบี้ยทบต้นในบัญชีเดินสะพัดเช่นที่ว่านี้ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 655 วรรคสองเมื่อโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้น ดอกเบี้ยที่ทบเข้ากับเงินต้นย่อมกลายเป็นต้นเงินมิใช่ดอกเบี้ยค้างชำระ ทั้งนี้จนกว่าจะมีการบอกเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัด คดีนี้โจทก์เพิ่งมีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2523โดยกำหนดเวลาให้ชำระหนี้ภายใน 7 วันนับแต่วันได้รับหนังสืออันถือได้ว่าเป็นการบอกเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดแล้ว ต่อแต่นั้นไปโจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นคงเรียกได้แต่ดอกเบี้ยธรรมดา หากไม่ชำระก็เป็นดอกเบี้ยค้างชำระหรือค้างส่ง ตามคำฟ้องของโจทก์เรียกดอกเบี้ยค้างชำระตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม2523 นับถึงวันฟ้องยังไม่เกินห้าปี สิทธิเรียกร้องเอาดอกเบี้ยค้างส่งของโจทก์ยังไม่ขาดอายุความหรือขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 166

ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 เฉพาะการกู้เบิกเงินเกินบัญชีภายในวงเงิน 25,000 บาท ถึงแม้จะมีดอกเบี้ย ค่าเสียหายและค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ก็หมายถึงเฉพาะจากวงเงินค้ำประกันนั้น เห็นว่า สัญญาค้ำประกันมีข้อความว่า จำเลยที่ 2 ตกลงรับเป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1ซึ่งกู้เงินจากโจทก์ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเป็นจำนวนเงิน 25,000 บาทโดยยอมรับผิดชอบชำระหนี้ดังกล่าวรวมทั้งดอกเบี้ยตลอดจนค่าเสียหายและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ทั้งหมดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 จนกว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้โดยสิ้นเชิง ปรากฏตามบัญชีเงินฝากกระแสรายวันว่า เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2512 ก่อนทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี จำเลยที่ 1เป็นหนี้โจทก์อยู่ 25,514.53 บาท เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2513 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดชำระหนี้ตามสัญญา ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์48,939.41 บาท เห็นได้ว่าหนี้ของจำเลยที่ 1 มีทั้งหนี้เก่าและหนี้ใหม่ระคนปนกันอยู่ เพราะลำพังแต่การเบิกเงินเกินบัญชี 25,000 บาทนั้บตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม 2513 ถึงวันที่ 26 มิถุนายน 2513 พร้อมด้วยดอกเบี้ยทบต้นชั่วระยะเวลา 5 เดือนเศษ แม้จะไม่มีการนำเงินฝากเข้าบัญชีเพื่อหักทอนบัญชีกันเลยคำนวณอย่างไรยอดหนี้ก็ไม่มีทางที่จะเพิ่มเป็นเงิน 48,939.41 บาท เมื่อจำเลยที่ 2เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 เฉพาะการกู้เบิกเงินเกินบัญชีภายในวงเงิน 25,000 บาทความรับผิดของจำเลยที่ 2 ย่อมจำกัดเพียงจำนวนเงินดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม 2513 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า หนี้รายนี้ระงับไปแล้วโดยนายสุดใจ อดีตผู้จัดการธนาคารโจทก์ สาขายานนาวา ได้ตกลงชำระหนี้แทนลูกหนี้ต่าง ๆ รวมทั้งจำเลยทั้งสองด้วยเป็นการประนอมหนี้เสร็จสิ้นกันไปแล้ว โจทก์จะมาฟ้องเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้อีกไม่ได้นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เอกสารหมาย ล.19 เป็นบันทึกที่นายสุดใจทำขึ้นฝ่ายเดียวมีข้อความว่า ธนาคารโจทก์ลดหย่อนความรับผิดชอบในส่วนตัวของนายสุดใจ โดยให้นายสุดใจชำระเงินจำนวนหนึ่งและยอมปลดจำนองที่ดินให้ ฯลฯเอกสารดังกล่าวไม่มีข้อความตอนใดที่แสดงว่าโจทก์ยอมปลดหนี้ให้จำเลยทั้งสองถึงหากโจทก์จะลดหย่อนความรับผิดชอบให้นายสุดใจ ข้อความในเอกสารก็ปรากฏชัดแจ้งว่าเป็นการลดหย่อนความรับผิดชอบส่วนตัวของนายสุดใจซึ่งจะต้องรับผิดต่อโจทก์ในฐานะตัวแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 812 หาใช่ปลดหนี้ให้จำเลยทั้งสองไม่ จึงไม่มีทางที่จำเลยที่ 2 จะอ้างว่าหนี้รายนี้ระงับไปแล้วโดยการประนอมหนี้

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้25,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยทบต้นในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีตั้งแต่วันที่ 12มกราคม 2513 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2523 และดอกเบี้ยธรรมดาไม่ทบต้นในอัตราเดียวกันนับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2523 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์

Share