คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 754/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เมื่อสินค้าใดถูกระบุว่าจะต้องเสียภาษีตามพิกัดอัตราภาษีศุลกากรหมวดใดก็จะต้องเสียภาษีไปตามที่ถูกระบุไว้ในอัตรานั้นตามพระราชกฤษฎีกาพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง มิใช่พิจารณาจากวัตถุประสงค์ของผู้นำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรแล้วนำสินค้าที่นำเข้าไปไว้กับกิจการใดเป็นหลักสำคัญในการสำแดงรายการสินค้าประเภทพิกัดและอัตราศุลกากร
สินค้าพิพาทเป็นอุปกรณ์ส่วนหนึ่งของเครื่องกำเนิดไฟฟ้ากระแสสลับซึ่งมีชื่อสินค้าตรงกับรายการสินค้าตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภท 85.01 ประเภทย่อย 8501.620 เครื่องกำเนิดไฟฟ้ากระแสสลับ (อัลเทอร์เนเตอร์) (ACGENRATOR) ตอนที่ 85 เครื่องจักรไฟฟ้า เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้า และส่วนประกอบของเครื่องดังกล่าว สินค้าพิพาทจึงจัดอยู่ในประเภทพิกัดย่อย 8501.620 และเมื่อสินค้าพิพาทจัดอยู่ในตอนที่ 85 จึงเป็นส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบตามหมายเหตุข้อ 2 ของหมวด 17 ที่ระบุไม่ให้ใช้กับเครื่องจักรไฟฟ้าหรือเครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้า (ตอนที่ 85) สินค้าพิพาทจึงไม่อยู่ในหมวด 17 ประเภทพิกัดย่อย 8607.990 ซึ่งเป็นรายการส่วนประกอบของรถหัวจักรของรถไฟหรือรถรางหรือรถที่เดินบนราง
สินค้าพิพาทเป็นเครื่องกลับกระแสไฟฟ้า ซึ่งมีชื่อตรงกับรายการสินค้าตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภท 85.04 จึงต้องจัดอยู่ในประเภทพิกัด 85.04ประเภทพิกัดย่อย 8504.400 ส่วนรายการสินค้าตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทย่อย 86.07 เป็นสินค้าที่เกี่ยวกับส่วนประกอบของรถหัวจักรของรถไฟหรือรถรางหรือรถที่ดินบนราง ซึ่งหมายเหตุข้อ 2(ฉ) ของหมวด 17 คำว่า “ส่วนประกอบ”และ “ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบ” มิให้ใช้กับเครื่องจักรไฟฟ้าหรืออุปกรณ์ไฟฟ้า (ตอนที่ 85) ดังนั้น สินค้าพิพาทจึงไม่อาจอยู่ในหมวดที่ 17 ประเภทพิกัดย่อย 8607.190
ประเภทพิกัด 90.32 ระบุรายการสินค้าตามพิกัดอัตราศุลกากรที่ได้แก่อุปกรณ์และเครื่องอุปกรณ์สำหรับบังคับหรือควบคุมโดยอัตโนมัติ (AUTOMATICREGULATINGORCONTROLLINGINSTRUMENTANDAPPARATUS) อันได้แก่ เครื่องปรับแรงเคลื่อนไฟฟ้าโดยอัตโนมัติสำหรับใช้กับความดันไฟฟ้าตั้งแต่ 11,000 โวลต์ขึ้นไปและส่วนประกอบของเครื่องดังกล่าว ดังนั้น เมื่อสินค้าพิพาทเป็นตัวบังคับและตัวควบคุมทางไฟฟ้ารวมทั้งอุปกรณ์สำหรับควบคุมไฟฟ้า สินค้าพิพาทจึงจัดอยู่ในประเภทพิกัด 90.32 ประเภทย่อยที่ 9032.890
สินค้าพิพาทเป็นมอเตอร์ที่ใช้แรงดันของน้ำมันไฮดรอลิก (OILMOTOR) มีชื่อระบุไว้ชัดเจนในประเภทพิกัดย่อย 8412.290 แล้ว ประเภทพิกัดย่อย 8607.190ซึ่งอยู่ในหมวด 17 ตอนที่ 86 ระบุรายการสินค้าคือส่วนประกอบของหัวรถจักรของรถไฟหรือรถรางหรือรถที่เดินบนรางซึ่งเป็นคนละประเภทกับสินค้าพิพาทที่เป็นมอเตอร์ที่ใช้แรงดันของน้ำมันไฮดรอลิกประกอบกับหมายเหตุข้อ2(จ) ของหมวด 17 ระบุคำว่า “ส่วนประกอบ” และ “ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบ” ไม่ให้ใช้กับเครื่องจักรและอุปกรณ์ตามประเภทที่ 84.01 ถึง 84.79 และส่วนประกอบของเครื่องดังกล่าวของตามประเภทที่ 84.81 หรือ 84.82 หรือ 84.83 เฉพาะที่เป็นส่วนประกอบของเครื่องยนต์หรือมอเตอร์สินค้าพิพาทจึงจัดอยู่ในประเภทพิกัดย่อย8412.290

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและเป็นหุ้นส่วนซึ่งไม่จำกัดความรับผิด จำเลยสั่งซื้อสินค้าเครื่องจักรเครื่องกำเนิดไฟฟ้า และอุปกรณ์ที่ใช้กับรถไฟจากประเทศญี่ปุ่นนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยทางเรือรวม 6 เที่ยว เมื่อสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรแล้ว จำเลยที่ 1 ยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่มโดยสำแดงรายละเอียดของสินค้าพิกัดอัตราศุลกากรร้อยละ 5 ราคาสินค้าและภาษีอากร พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 หลงเชื่อว่าสินค้าที่จำเลยนำเข้าตรงตามสำแดงและเป็นสินค้าที่จัดอยู่ในประเภทพิกัดและอัตราอากรตามที่จำเลยสำแดง จึงให้จำเลยชำระค่าภาษีอากรตามที่จำเลยสำแดง และตรวจปล่อยสินค้าให้จำเลยรับไปจากอารักขาของโจทก์ที่ 1 โดยจำเลยทั้งสองอ้างว่าได้นำเข้าส่วนประกอบเครื่องจ่ายตามพิกัด 8607.990 กับส่วนประกอบของเบรกตามพิกัด 8607.190 ต่อมาพนักงานเจ้าหน้าที่กองศุลกากรของโจทก์ที่ 1 ตรวจสอบหลักฐานการนำเข้าทั้ง 6 เที่ยวดังกล่าวพบว่า จำเลยสำแดงสินค้าประเภทพิกัดและอัตราศุลกากรไม่ถูกต้องเป็นผลให้การสำแดงชำระอากรขาเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มของจำเลยที่ 1 ขาดไปจำนวน 4,006,826 บาท พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 แจ้งการประเมินให้จำเลยชำระภาษีอากรพร้อมด้วยเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม จำเลยที่ 1 ได้รับทราบการประเมินดังกล่าวแล้วแต่เพิกเฉย จำเลยจึงต้องรับผิดชำระเงินภาษีอากรและเงินเพิ่มจำนวนทั้งสิ้น 4,268,954 บาท จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดในหนี้ภาษีอากรค้างชำระของจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองเรียกร้องทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระเงินภาษีอากรแล้ว แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน จำนวน 4,268,954 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง

จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 มิเคยสำแดงสินค้าผิดประเภทจนเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองสามารถจะเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมได้อีก จำเลยที่ 1 ได้ชำระภาษีศุลกากร และภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่โจทก์ถูกต้องครบถ้วนแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่มีหนี้เกี่ยวกับภาษีศุลกากรและภาษีมูลค่าเพิ่มค้างชำระแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีหน้าที่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสอง คดีของโจทก์ทั้งสองขาดอายุความ จำเลยทั้งสองมิเคยได้รับหนังสือแจ้งจากโจทก์ทั้งสองให้ชำระภาษีเพิ่มเติมตามที่ได้ฟ้องเรียกร้องมาแต่อย่างใด ขอให้ยกฟ้อง

ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าภาษีอากรจำนวน 4,268,954 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งว่า เมื่อระหว่างวันที่ 19 เมษายน ถึงวันที่ 22 สิงหาคม 2535 จำเลยยื่นใบขนสินค้าขาเข้าพร้อมแบบแสดงรายการภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 6 ฉบับ ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 สำแดงชนิดของเป็นอุปกรณ์ส่วนหนึ่งของเครื่องกำเนิดไฟฟ้ากระแสสลับ (AC GENERATOR) ตัวเครื่องกลับกระแสไฟหรือเครื่องแปลงกระแสไฟ (RECTIFIER) ตัวบังคับและควบคุมทางไฟฟ้า (REGULATOR, VOLTAGE REGULATOR) เครื่องอุปกรณ์สำหรับควบคุมทางไฟฟ้า (MASTER CONTROLLER X ASS’Y) มอเตอร์ที่ใช้แรงดันของน้ำมันไฮดรอลิก (OIL MOTOR) และส่วนประกอบของเบรก (OIL PUMP) ตามเอกสารหมาย จ.2 แผ่นที่ 1, 23, 28, 41, 53 และ 66 โดยจำเลยที่ 1 ชำระอากรขาเข้ารวมทั้งสิ้น 644,705 บาท ภาษีมูลค่าเพิ่มรวมทั้งสิ้น 947,720 บาท ต่อมาพนักงานของกองศุลกากรธิการของโจทก์ที่ 1 เห็นว่าจำเลยที่ 1 สำแดงประเภทพิกัดและอัตราศุลกากร รวมทั้งจำนวนภาษีอากรไม่ถูกต้องเป็นผลให้จำเลยต้องชำระอากรขาเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 4,006,826 บาท จำเลยมิได้อุทธรณ์การประเมินของเจ้าพนักงานการประเมินต่อโจทก์ที่ 1 และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์รวมทั้งยังมิได้ชำระค่าภาษีอากรจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งสอง

คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยที่ 1สำแดงรายการสินค้าประเภทพิกัดและอัตราศุลกากรถูกต้องหรือไม่ และจำเลยทั้งสองต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2496 มาตรา 10 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “บรรดาค่าภาษีนั้นให้เก็บตามบทบัญญัตินี้และตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร” และตามพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ของที่นำเข้าหรือพาเข้ามาในหรือส่งหรือพาออกไปนอกราชอาณาจักรนั้น ให้เรียกเก็บและเสียอากรตามที่กำหนดไว้ในพิกัดอัตราอากรท้ายพระราชกำหนดนี้” ดังนั้น เมื่อสินค้าพิพาทถูกระบุว่าจะต้องเสียภาษีตามพิกัดอัตราภาษีศุลกากรหมวดใด ก็จะต้องเสียภาษีไปตามที่ถูกระบุไว้ในอัตรานั้นมิใช่พิจารณาจากวัตถุประสงค์ของผู้นำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรแล้วนำสินค้าที่นำเข้าไปไว้กับกิจการใดเป็นหลักสำคัญในการสำแดงรายการสินค้าประเภทพิกัดและอัตราศุลกากร สำหรับอุปกรณ์ส่วนหนึ่งของเครื่องกำเนิดไฟฟ้ากระแสสลับ (AC GENERATOR) นั้น นอกจากจำเลยทั้งสองจะไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบให้ปรากฏว่าสิ่งของดังกล่าวเป็นส่วนประกอบของรถไฟหรือใช้เกี่ยวกับกิจการรถไฟและพิกัดอัตราขาเข้าหมวด 17 ได้ระบุถึงยานบก อากาศยาน ยานน้ำ และเครื่องอุปกรณ์การขนส่งที่เกี่ยวข้องโดยหมายเหตุของหมวด 17 ข้อ 2 คำว่า “ส่วนประกอบ” และ “ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบ” ไม่ให้ใช้กับของดังต่อไปนี้ ไม่ว่าจะเป็นของที่บ่งชี้ได้ว่าใช้กับของหมวดนี้หรือไม่ก็ตาม ซึ่งในข้อ ฉ. กล่าวถึงเครื่องจักรไฟฟ้าหรือเครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้า (ตอนที่ 85) เมื่อสินค้าพิพาทเป็นอุปกรณ์ส่วนหนึ่งของเครื่องกำเนิดไฟฟ้ากระแสสลับ ซึ่งมีชื่อสินค้าตรงกับรายการสินค้าตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภท 85.01ประเภทย่อย 8501.620 เครื่องกำเนิดไฟฟ้ากระแสสลับ (อัลเทอร์เนเตอร์) (AC GENERATOR) ตอนที่ 85 เครื่องจักรไฟฟ้า เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าและส่วนประกอบของเครื่องดังกล่าวตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 15 สินค้าพิพาทจึงจัดอยู่ในประเภทพิกัดย่อย 8501.620 และเมื่อสินค้าพิพาทจัดอยู่ในตอนที่ 85 จึงเป็นส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบตามหมายเหตุข้อ 2 ของหมวด 17 ที่ระบุไม่ให้ใช้กับเครื่องจักรไฟฟ้าหรือเครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้า (ตอนที่ 85) สินค้าพิพาทจึงไม่อยู่ในหมวด 17 ประเภทพิกัดย่อย 8607.990 ซึ่งเป็นรายการส่วนประกอบของรถหัวจักรของรถไฟหรือรถรางหรือรถที่เดินบนราง ส่วนเครื่องกลับกระแสไฟฟ้าหรือเครื่องแปลงกระแสไฟฟ้า (RECTIFIER) เห็นว่า รายการสินค้าตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทพิกัด 85.04 มีหม้อแปลงไฟฟ้า เครื่องเปลี่ยนไฟฟ้าชนิดอยู่คงที่ เช่น เครื่องกลับกระแสไฟฟ้า เมื่อสินค้าพิพาทถูกระบุไว้ชัดเจนเช่นนี้ สินค้าพิพาทจึงต้องจัดอยู่ในประเภทพิกัด 85.04 ประเภทพิกัดย่อย 8504.400 นอกจากนี้รายการสินค้าตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทย่อย 86.07 เป็นสินค้าที่เกี่ยวกับส่วนประกอบของรถหัวจักรของรถไฟหรือรถรางหรือรถที่เดินบนราง ซึ่งหมายเหตุข้อ 2 (ฉ) ของหมวด 17 คำว่า “ส่วนประกอบ” และ “ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบ” มิให้ใช้กับเครื่องจักรไฟฟ้าหรืออุปกรณ์ไฟฟ้า (ตอนที่ 85) ดังนั้น สินค้าจึงไม่อาจอยู่ในหมวดที่ 17 ประเภทพิกัดย่อย 8607.190 ตามที่จำเลยยกขึ้นต่อสู้ได้ สำหรับตัวบังคับและควบคุมทางไฟฟ้า (REGULATOR AND VOLTAGE REGULATOR) และอุปกรณ์สำหรับควบคุมทางไฟฟ้า (MASTER CONTROLLER X ASS,Y)นั้น เห็นว่า ประเภทพิกัด 90.32 ระบุรายการสินค้าตามพิกัดอัตราศุลกากรที่ได้แก่ อุปกรณ์และเครื่องอุปกรณ์สำหรับบังคับหรือควบคุมโดยอัตโนมัติ (AUTOMATIC REGULATING OR CONTROLLING AND APPARATUS) อันได้แก่ เครื่องปรับแรงเคลื่อนไฟฟ้าโดยอัตโนมัติสำหรับใช้กับความดันไฟฟ้าตั้งแต่ 11,000 โวลต์ขึ้นไป และส่วนประกอบของเครื่องดังกล่าว ดังนั้น เมื่อสินค้าพิพาทเป็นตัวบังคับและตัวควบคุมทางไฟฟ้ารวมทั้งอุปกรณ์สำหรับควบคุมทางไฟฟ้า สินค้าพิพาทจึงจัดอยู่ในประเภทพิกัด 90.32 ประเภทย่อยที่ 9032.890 และสำหรับมอเตอร์ที่ใช้แรงดันของน้ำมันไฮดรอลิก (OIL MOTOR) นั้น เห็นว่า สินค้าดังกล่าวนอกจากจะมีชื่อระบุไว้ชัดเจนในประเภทพิกัดย่อย 8412.290 แล้ว ประเภทพิกัดย่อย 8607.190 ซึ่งอยู่ในหมวด 17 ตอนที่ 86 ระบุรายการสินค้าคือส่วนประกอบของหัวรถจักรของรถไฟหรือรถรางหรือรถที่เดินบนรางซึ่งเป็นคนละประเภทกับสินค้าพิพาทที่เป็นมอเตอร์ที่ใช้แรงดันของน้ำมันไฮดรอลิกประกอบกับหมายเหตุ ข้อ 2 (จ) ของหมวด 17 ระบุคำว่า “ส่วนประกอบ” และ “ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบ” ไม่ให้ใช้กับเครื่องจักรและอุปกรณ์ตามประเภทที่ 84.01 ถึง 84.79 และส่วนประกอบของเครื่องดังกล่าว ของตามประเภทที่ 84.81 หรือ 84.82 หรือ 84.83 เฉพาะที่เป็นส่วนประกอบของเครื่องยนต์หรือมอเตอร์ สินค้าพิพาทจึงจัดอยู่ในประเภทพิกัดย่อย 8607.190 ตามที่จำเลยอ้างมิได้ ซึ่งสอดคล้องกับหมายเหตุข้อ 1 (ต) ในหมวดที่ 16 ที่ระบุว่า หมวด 16 ไม่คลุมถึงของในหมวด 17 สินค้าพิพาทจึงต้องอยู่ในประเภทพิกัดย่อย 8412.290 ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้น ชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share