คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 618/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่จะเรียกอากรขาเข้าเพิ่มอีกร้อยละยี่สิบตามพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 มาตรา 112 ตรี นั้น มีได้เฉพาะสองกรณีคือ กรณีมิได้ชำระเงินอากรครบถ้วนตามมาตรา 112 ทวิ ซึ่งสืบเนื่องจากการวางประกันค่าอากรตาม มาตรา 112ประการหนึ่ง กับกรณีมิได้ปฏิบัติตามระเบียบหรือเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดตามมาตรา 40หรือ 45 อีกประการหนึ่ง ซึ่งข้อความในตอนแรกของมาตรา 112 ตรี มีลักษณะเชื่อมโยงกับมาตรา 112 ทวิ และมาตรา 112 จึงเห็นได้ชัดเจนว่ามาตรา 112 ตรี ตอนแรกใช้บังคับเฉพาะกรณีตามมาตรา 112 ทวิเท่านั้น ไม่อาจนำไปใช้ในกรณีทั่ว ๆ ไป หรือในกรณีของมาตรา 19 ตรี ซึ่งเป็นเรื่องการค้ำประกันการนำของเข้าที่เกี่ยวเนื่องกับมาตรา 19 ทวิ ที่ว่าด้วยสิทธิในการจะขอคืนอากรขาเข้า ส่วนความในตอนหลังของมาตรา 112 ตรี ที่เกี่ยวกับมาตรา 40 และมาตรา 45 นั้น มาตรา 45 เป็นเรื่องกำหนดเงื่อนไขในการที่ผู้นำของเข้าจะนำของออกไปจากอารักขาของศุลกากรว่าจะต้องยื่นใบขนสินค้าโดยถูกต้องและเสียภาษีอากรจนครบถ้วนหรือวางเงินไว้เป็นประกัน การขอวางเงินประกันให้เป็นไปตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด แต่ตามฟ้องโจทก์ทั้งสองไม่ปรากฏข้ออ้างว่าจำเลยฝ่าฝืนมาตรา 40 หรือมิได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดตามมาตรา 40 แต่อย่างใด คงกล่าวอ้างแต่เพียงว่าจำเลยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขตามความในมาตรา 19 ทวิ กรณีของจำเลยจึงไม่อยู่ในข่ายที่โจทก์ทั้งสองจะเรียกเงินเพิ่มอากรขาเข้าตามมาตรา 112 ตรีได้

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าภาษีอากร909,768.87 บาท และชำระเงินอากรขาเข้าในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินค่าอากรขาเข้าที่ต้องชำระ ตามใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้า เลขที่ 012-31925 จำนวน 14,456.70 บาท และเลขที่ 032-32015 จำนวน 384,224.19 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง

จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 769,970.95 บาทกับเงินเพิ่มอากรขาเข้าอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนจากต้นเงินอากรขาเข้า ตามใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการค้า เลขที่ 012-31925 จำนวน 10,907.70บาท นับแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง และเลขที่032-32015 จำนวน 306,965.14 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นที่ยุติว่า จำเลยนำสินค้าประเภทสิ่งทอและอุปกรณ์สำหรับทอเข้ามาในราชอาณาจักร โดยเข้ามาทางด่านท่าเรือกรุงเทพ 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2531 นำสินค้าเข้ามารวม 7 รายการ ตามใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้า เลขที่ 012-31925เอกสารหมาย จ.3 แผ่นที่ 1 ถึง 3 และยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าดังกล่าวในวันที่ 12 มกราคม 2532 สำแดงราคาสินค้าเป็นราคา ซี.ไอ.เอฟ.ตามราคาสินค้าที่ปรากฏในใบกำกับสินค้า และรับสินค้าไปเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2532 ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2532 นำสินค้าเข้ามารวม 9 รายการ ตามใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าดังกล่าวในวันที่ 13 มีนาคม 2532 สำแดงราคาสินค้าเป็นราคา ซี.ไอ.เอฟ. และรับสินค้าไปเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2532 การนำเข้าสินค้าทั้ง 2 ครั้ง ดังกล่าวจำเลยไม่ได้ชำระค่าภาษีอากรแต่ได้วางหนังสือค้ำประกันของธนาคารไว้ต่อโจทก์ที่ 1 ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 19 ตรี เนื่องจากเป็นการนำเข้าเพื่อการผลิตและส่งออกภายใน 1 ปี ตามมาตรา 19 ทวิ ครบกำหนด 1 ปีแล้วจำเลยนำสินค้าที่นำเข้าดังกล่าวไปผลิตและส่งออกไม่หมดสิ้นยังคงเหลือสินค้าตามใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการค้าเลขที่ 012-31925 คือ รายการที่ 6 กระดุมพลาสติกหุ้มด้วยโลหะจำนวน 140 กุรุส และรายการที่ 7 ป้ายเครื่องหมายกระดาษพิมพ์แล้วจำนวน 1,066.99 โหล ตามเอกสารหมาย จ.2 แผ่นที่ 13 และ 20 เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ที่ 1 ประเมินราคาสินค้าคงเหลือทั้ง 2 รายการ ดังกล่าวและประเมินอากรขาเข้า 17,745 บาท ภาษีการค้า 2,078 บาท และภาษีบำรุงท้องถิ่น207 บาท ตามเอกสารหมาย จ.3 แผ่นที่ 1 และ 2 และเลขที่ 032-32015 คือรายการที่ 1 ผ้าทอทำด้วยป่านลินินผสมฝ้ายชนิดย้อมสีหนัก จำนวน 11,735.85 หลา รายการที่ 2 ผ้าทอโพลีเอสเตอร์ใยสั้นผสมใยสั้นวิสครอสเรยองชนิดยังไม่ได้ฟอกจำนวน 1,800 หลา รายการที่ 3 ป้ายเครื่องหมายการค้าทำด้วยกระดาษพิมพ์แล้ว จำนวน 1,932 โหล รายการที่ 4 หัวเข็มขัดใช้กับเสื้อผ้า จำนวน 10 โหล รายการที่ 5 ป้ายเครื่องหมายการค้าทำด้วยวัตถุทอใช้ประกอบสินค้าที่มีเครื่องหมายนั้น จำนวน 685 โหล รายการที่ 6 ป้ายไม่มีเครื่องหมายการค้าทำด้วยวัตถุทอ จำนวน 1,380 โหล รายการที่ 7 กระดุมกดทำด้วยทองเหลือง จำนวน 11.63 กุรุส เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ที่ 1 ประเมินราคาสินค้าคงเหลือทั้ง 7 รายการ ดังกล่าวและประเมินอากรขาเข้า 386,295.24 บาท ภาษีการค้า 100,308.84 บาท และภาษีบำรุงท้องถิ่น 10,030.88 บาท ตามเอกสารหมาย จ.4 แผ่นที่ 1 ได้แจ้งการประเมินดังกล่าวให้จำเลยทราบตามเอกสารหมาย จ.3 แผ่นที่ 13 และ จ.4 แผ่นที่ 12 แล้วแจ้งให้ธนาคารผู้ออกหนังสือค้ำประกันทราบ ในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2535 ธนาคารผู้ค้ำประกันนำเงินมาชำระค่าภาษีอากรสำหรับใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้า เลขที่ 012-31925 คือ ค่าอากรขาเข้า 15,000 บาท ภาษีการค้า 3,000 บาท ภาษีบำรุงท้องถิ่น 300 บาท พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 นำเงินดังกล่าวจัดสรรชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้าตามมาตรา 112 ตรี อัตราร้อยละ 20 เป็นเงิน 3,549 บาท เงินเพิ่มอากรขาเข้าตามมาตรา 112 จัตวา อัตราร้อยละ 1 คำนวณถึงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2535 เป็นเงิน 8,162.70 บาท เงินเพิ่มภาษีการค้าตามมาตรา 89 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร คำนวณถึงวันดังกล่าวเป็นเงิน 1,433.82 บาท และเงินเพิ่มภาษีบำรุงท้องถิ่น 142.23 บาท คงเหลือเงินประกันอากรขาเข้า 3,288.30 บาท ภาษีการค้า 1,566.18 บาท ภาษีบำรุงท้องถิ่น 157.17 บาท นำเงินประกันคงเหลือดังกล่าวชำระค่าอากรขาเข้า ภาษีการค้า ภาษีบำรุงท้องถิ่น คงเหลือค่าอากรขาเข้าค้างชำระ 14,456.70 บาท ภาษีการค้า 511.82 บาท ภาษีบำรุงท้องถิ่น 49.83 บาท และเลขที่ 032-32015 คือค่าอากรขาเข้า 249,300 บาท ภาษีการค้า 67,000 บาท ภาษีบำรุงท้องถิ่น 6,700 บาท พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 นำเงินดังกล่าวจัดสรรชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้าตามมาตรา 112 ตรี อัตราร้อยละ 20 และเงินเพิ่มอากรขาเข้าตามมาตรา 112 จัตวา อัตราร้อยละ 1 คำนวณถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2535 รวมเป็นเงิน 247,228.95 บาท เงินเพิ่มภาษีการค้าคำนวณถึงวันดังกล่าวเป็นเงิน 66,203.72 บาท เงินเพิ่มภาษีบำรุงท้องถิ่น 6,620.38 บาท คงเหลือเงินประกันอากรขาเข้า 2,071.05 บาท ภาษีการค้า 7,962.28 บาท ภาษีบำรุงท้องถิ่น 79.62 บาท นำเงินประกันคงเหลือดังกล่าวชำระค่าอากรขาเข้า ภาษีการค้า ภาษีบำรุงท้องถิ่น คงเหลือค่าอากรขาเข้าค้างชำระ 384,224.19 บาท ภาษีการค้า 99,512.58 บาท ภาษีบำรุงท้องถิ่น 9,951.26 บาท ตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 13 และ 12 ตามลำดับ หลังจากธนาคารผู้ค้ำประกันนำเงินค่าภาษีอากรมาชำระแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยชำระค่าภาษีอากรที่ค้างชำระโดยปิดหนังสือแจ้ง ณ ภูมิลำเนาตามหนังสือรับรองนิติบุคคล ตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 1, 4, 5 และ 8 ถึง 10 จำเลยไม่นำเงินมาชำระ

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองว่า จำเลยต้องชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้าตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 112 ตรี อีกร้อยละ 20ของจำนวนค่าอากรที่ต้องเสียตามใบขนสินค้าเลขที่ 012-31925 จำนวน 3,549 บาทและตามใบขนสินค้าเลขที่ 032-32015 จำนวน 77,259.05 บาท ตามการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 หรือไม่ โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ว่ากรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 เรียกให้จำเลยนำหนังสือค้ำประกันของธนาคารมาวางเป็นประกันต่อโจทก์ที่ 1 แทนการชำระอากร เป็นการค้ำประกันกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 เห็นว่าสินค้าที่จำเลยนำเข้ายังมีปัญหาเกี่ยวกับจำนวนค่าอากรตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 112 และเป็นการค้ำประกันแทนการชำระอากรขาเข้าที่ต้องเสียสำหรับสินค้านำเข้าซึ่งผู้นำของเข้าแสดงความจำนงว่าของที่นำเข้าจะใช้ในการผลิตเพื่อส่งออกภายใน 1 ปี ตามมาตรา 19 ทวิ และ 19 ตรีด้วย ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏว่าสินค้ารายการต่าง ๆ ตามใบขนสินค้าขาเข้าทั้ง 2 ฉบับ นั้น หลายรายการยังมีปัญหาเรื่องราคาอยู่ จึงต้องถือว่าเป็นกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่ามีปัญหาเกี่ยวกับจำนวนค่าอากรสำหรับของที่กำลังผ่านศุลกากรด้วยนั้นเห็นว่า มาตรา 112 บัญญัติว่า “ในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่ามีปัญหาเกี่ยวกับจำนวนค่าอากรสำหรับของที่กำลังผ่านศุลกากร ให้นำของนั้นไปยังศุลกสถานหรือนำไปเก็บไว้ในที่มั่นคงแห่งใดแห่งหนึ่ง เว้นแต่พนักงานเจ้าหน้าที่และเจ้าของหรือตัวแทนจะตกลงกันยอมให้เอาแต่ตัวอย่างของไว้วินิจฉัยปัญหาและเพื่อรักษาประโยชน์รายได้ของแผ่นดิน ให้ชำระอากรตามจำนวนที่ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกแล้วแต่กรณีสำแดงไว้ในใบขนสินค้าและให้วางเงินเพิ่มเติมเป็นประกันจนครบจำนวนเงินอากรสูงสุดที่อาจจะพึงต้องเสียสำหรับของนั้น แต่อธิบดีจะประกาศกำหนดให้รับการค้ำประกันของกระทรวงการคลังหรือธนาคารแทนการวางเงินเพิ่มเติมเป็นประกันดังกล่าว โดยอาจกำหนดให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่เห็นสมควรก็ได้”มาตรา 112 ทวิ บัญญัติว่า “ในกรณีที่มีการวางประกันค่าอากรตามมาตรา 112 เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ประเมินเงินอากรอันพึงต้องเสียและแจ้งให้ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกแล้วแต่กรณีทราบแล้ว ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกต้องชำระเงินอากรตามจำนวนที่ได้รับแจ้งให้ครบถ้วนภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง” มาตรา 112 ตรี บัญญัติว่า “ในกรณีที่ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกมิได้ชำระเงินอากรให้ครบถ้วนภายในเวลาที่กำหนดในวรรคหนึ่งแห่งมาตรา 112 ทวิ หรือมิได้ปฏิบัติตามระเบียบหรือเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดตามมาตรา 40 หรือมาตรา 45 อธิบดีหรือผู้ที่อธิบดีมอบหมายจะเรียกเงินเพิ่มอีกไม่เกินร้อยละยี่สิบของจำนวนค่าอากรที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่มก็ได้ เงินเพิ่มนี้ให้ถือเป็นเงินอากร” เมื่อพิจารณาทั้งสามมาตราดังกล่าวประกอบกันแล้วเห็นได้ว่าที่เกี่ยวกับอากรขาเข้านั้น การที่จะเรียกอากรขาเข้าเพิ่มอีกร้อยละยี่สิบตามมาตรา 112 ตรี นั้น มีได้เฉพาะสองกรณีคือ กรณีมิได้ชำระเงินอากรครบถ้วนตามมาตรา 112 ทวิ ซึ่งสืบเนื่องจากการวางประกันค่าอากรตามมาตรา 112 ประการหนึ่ง กับกรณีมิได้ปฏิบัติตามระเบียบหรือเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดตามมาตรา 40 หรือ 45 อีกประการหนึ่ง ข้อความในตอนแรกของมาตรา 112 ตรี นี้มีลักษณะเชื่อมโยงกับมาตรา 112 ทวิ และมาตรา 112 จึงเห็นได้ชัดเจนว่ามาตรา 112 ตรี ตอนแรกนี้ใช้บังคับเฉพาะกรณีตามมาตรา 112 ทวิ เท่านั้นไม่อาจนำไปใช้ในกรณีทั่ว ๆ ไป หรือในกรณีของมาตรา 19 ตรี ซึ่งเป็นเรื่องการค้ำประกันการนำของเข้าที่เกี่ยวเนื่องกับมาตรา 19 ทวิ ที่ว่าด้วยสิทธิในการจะขอคืนอากรขาเข้า ส่วนความในตอนหลังของมาตรา 112 ตรี ที่เกี่ยวกับมาตรา 40 และมาตรา 45 นั้น มาตรา 45 เป็นเรื่องกำหนดเงื่อนไขในการที่ผู้นำของเข้าจะนำของออกไปจากอารักขาของศุลกากรว่าจะต้องยื่นใบขนสินค้าโดยถูกต้องและเสียภาษีอากรจนครบถ้วนหรือวางเงินไว้เป็นประกัน การขอวางเงินประกันให้เป็นไปตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด แต่ตามฟ้องโจทก์ทั้งสองไม่ปรากฏข้ออ้างว่าจำเลยฝ่าฝืนมาตรา 40 หรือมิได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดตามมาตรา 40 แต่อย่างใดคงกล่าวอ้างแต่เพียงว่าจำเลยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขตามความในมาตรา 19 ทวิ กรณีของจำเลยจึงไม่อยู่ในข่ายที่โจทก์ทั้งสองจะเรียกเงินเพิ่มอากรขาเข้าตามมาตรา 112 ตรี ได้ คำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share