แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ถูกงดขั้นเงินเดือนติดต่อกัน 2 ปี เพราะลาป่วยเกินกว่า30 วันเนื่องจากป่วยเป็นโรคประสาทแต่ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับของจำเลย แม้จำเลยให้โจทก์ออกจากงานได้ตามคำสั่งและข้อบังคับของจำเลยก็ตาม ก็มิใช่กรณีที่โจทก์ได้กระทำความผิดอันต้องด้วยข้อยกเว้นที่จะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ ตามข้อ 47 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูก้างประจำ ต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิด และไม่จ่ายค่าชดเชย ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยได้มีคำสั่งให้โจทก์ออกจากงานเนื่องจากถูกงดขั้นเงินเดือนติดต่อกัน 2 ปี เพราะลาป่วยเกินกว่า 30 วัน ตามข้อบังคับของจำเลยอันเป็นการกระทำผิดระเบียบและข้อบังคับของจำเลย จำเลยให้โจทก์ออกจากงานจึงชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ถูกงดขั้นเงินเดือนประจำปี 2527และ 2528 ติดต่อกัน 2 ปี เพราะลาป่วยเกินกว่า 30 วัน เนื่องจากป่วยเป็นโรคประสาทจำเลยจึงให้โจทก์ออกจากงานโดยอาศัยคำสั่งของจำเลยที่ 447/2526 และข้อบังคับของจำเลยว่าด้วย การบรรจุแต่งตั้ง เลื่อนตำแหน่ง เลื่อนขั้นเงินเดือน ย้ายและถอดถอนพนักงาน พ.ศ. 2521 แล้ววินิจฉัยข้อกฎหมายว่า คำสั่งและข้อบังคับที่จำเลยอ้างเพื่อเป็นเหตุให้โจทก์ออกจากงานนั้นเป็นแต่เพียงให้อำนาจผู้อำนวยการของจำเลยที่จะพิจารณาให้พนักงานผู้ที่ถูกงดเลื่อนขั้นเงินเดือน 2 ปีติดต่อกันออกจากงานได้เท่านั้นแต่การที่โจทก์ลาหยุดงานเกินกว่า 30 วันเพราะเหตุเจ็บป่วยด้วยโรคประสาทโดยได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาโดยชอบแล้ว แม้จะเป็นเหตุให้โจทก์ถูกงดเลื่อนขั้นเงินเดือนติดต่อกัน 2 ปีก็ตาม ถือไม่ได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับของจำเลยแต่อย่างใด ฉะนั้นที่จำเลยให้โจทก์ออกจากงานเนื่องจากโจทก์ถูกงดเลื่อนขั้นเงินเดือนติดต่อกัน 2 ปีเพราะลาป่วยเกินกว่า 30 วัน จึงมิใช่กรณีที่โจทก์ได้กระทำความผิด อันต้องด้วยข้อยกเว้นที่จำเลยจะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ ตามข้อ 47 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันี่ 16 เมษายน 2515 ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ชอบแล้ว
พิพากษายืน