คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 186/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 ได้ร่วมเจรจาและคัดเลือกสร้อยคอทองคำอยู่ด้วยกับจำเลยที่ 1ครั้นจำเลยที่ 1 ลักเอาสร้อยคอทองคำของกลางแล้วพากันออกจากร้านของผู้เสียหายไปพร้อมกัน เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจติดตามจับกุมจำเลยทั้งสองจำเลยที่ 2 ก็ให้การรับสารภาพต่อเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมในข้อหาลักทรัพย์และในชั้นสอบสวนจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพข้อหาลักทรัพย์และนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพโดยสมัครใจ คำให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 มีรายละเอียดสอดคล้องกันกับคำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 1 พยานโจทก์ย่อมมีน้ำหนักรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ลักสร้อยคอทองคำของผู้เสียหายไปจริง แม้โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานที่เห็นเหตุการณ์ขณะเกิดเหตุมาเบิกความก็ตาม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(7), 357

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่ระหว่างสืบพยานจำเลยจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในข้อหาลักทรัพย์

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335(7) วรรคสอง จำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือน ลดโทษให้สำหรับจำเลยที่ 1หนึ่งในสามแล้ว คงจำคุก 1 ปี สำหรับจำเลยที่ 2 หนึ่งในสี่แล้วคงจำคุก 1 ปี 1 เดือน15 วัน

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 และให้ยกฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุจำเลยที่ 1 กับบุตรชายอายุประมาณ 2 ถึง 3 ขวบ และจำเลยที่ 2 ได้นำสร้อยคอทองคำมาแลกกับสร้อยคอทองคำที่ร้านขายทองชื่อร้านห้างทองพัฒนาของผู้เสียหายที่ตลาดหนองไผ่ หลังจากจำเลยที่ 1 แลกสร้อยคอทองคำกับผู้เสียหายแล้ว ผู้เสียหายพบว่าสร้อยคอทองคำ 1 เส้น น้ำหนัก 4 บาท หายไป จึงแจ้งความต่อสิบตำรวจโทวิชัยเจ้าพนักงานตำรวจสายตรวจที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่บริเวณตลาดหนองไผ่ว่า สงสัยหญิง 2 คน ที่มากับเด็กชายคนหนึ่งซึ่งมาแลกทองที่ร้านของผู้เสียหายจะเป็นผู้ลักเอาสร้อยคอทองคำจำนวน 1 เส้น ของผู้เสียหายไป สิบตำรวจโทวิชัยกับพวกจึงออกติดตาม พบจำเลยทั้งสองกับเด็กชายอีก 1 คน นั่งอยู่บนรถยนต์โดยสารสองแถวที่ท่ารถสายบ่อไทย – หนองไผ่ จึงควบคุมตัวจำเลยทั้งสองไปที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอหนองไผ่ ค้นตัวจำเลยที่ 1 พบสร้อยคอทองคำ 1 เส้น ซึ่งเป็นเส้นที่แลกเปลี่ยนจากร้านทองของผู้เสียหายและยึดสร้อยคอทองคำอีก 1 เส้น น้ำหนัก 4 บาท จากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นของผู้เสียหายที่หายไปเป็นของกลาง ชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพฐานลักทรัพย์ และในชั้นพิจารณาจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพฐานลักทรัพย์ ส่วนจำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ

มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1ลักทรัพย์ของผู้เสียหายหรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายเป็นพยานเบิกความว่า หลังจากจำเลยทั้งสองออกจากร้านไปได้ประมาณ 10 นาที พยานสงสัยว่าทองรูปพรรณจะหายไป 1 เส้น จึงได้เปิดแถบบันทึกภาพ (วีดีโอ) ที่บันทึกภาพไว้ดู พบว่าเด็กที่มากับจำเลยทั้งสองถือสร้อยคอทองคำแล้วนำไปมอบให้แก่จำเลยที่ 2 พยานจึงไปแจ้งเหตุต่อเจ้าพนักงานตำรวจซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่บริเวณตลาดหนองไผ่โดยบอกรูปพรรณของจำเลยทั้งสองเพื่อให้จับกุม สิบตำรวจโทวิชัยพยานเบิกความว่าเมื่อได้รับแจ้งเหตุจากผู้เสียหาย พยานกับพวกจึงแยกย้ายกันค้นหา พบจำเลยทั้งสองกับเด็กนั่งอยู่ในรถสองแถวสายบ่อไทย – หนองไผ่ จึงขอให้จำเลยทั้งสองไปที่สถานีตำรวจ โดยให้จำเลยทั้งสองแยกนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของเจ้าพนักงานตำรวจไปคันละคน จำเลยที่ 2 อุ้มเด็กนั่งซ้อนท้ายไปด้วย ระหว่างทางพยานซึ่งขับรถจักรยานยนต์ตามหลังรถจักรยานยนต์คันที่จำเลยที่ 1 นั่งซ้อนท้ายเห็นจำเลยที่ 1 หยิบสร้อยคอทองคำจากกระเป๋าถือโยนทิ้งไปที่ข้างทาง ตรงบริเวณที่แม่ค้าขายหอม กระเทียม ตลาดสุขาภิบาลหนองไผ่ นั่งขายของ พยานจึงให้เจ้าพนักงานตำรวจที่ขับรถจักรยานยนต์คันที่จำเลยที่ 1 นั่ง จอดรถจักรยานยนต์ลงไปเก็บสร้อยคอทองคำดังกล่าวคืนให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อไปถึงสถานีตำรวจพยานแจ้งให้พนักงานสอบสวนทราบเรื่องและทำการค้นตัวจำเลยที่ 1 นอกจากจะพบสร้อยคอทองคำที่จำเลยที่ 1 แลกมาจากร้านของผู้เสียหายแล้ว ยังพบสร้อยคอทองคำอีก 1 เส้น ในกระเป๋าถือของจำเลยที่ 1 ต่อมาผู้เสียหายได้ชี้ตัวจำเลยทั้งสองและยืนยันว่า จำเลยทั้งสองเป็นผู้ไปแลกสร้อยคอทองคำ ส่วนสร้อยคอทองคำอีก 1 เส้น เป็นสร้อยคอทองคำที่หายไป พยานจึงแจ้งข้อหาจำเลยทั้งสองว่าร่วมกันลักทรัพย์ จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ ปรากฏตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.1 ร้อยตำรวจเอกทัศนัย พงษ์สิงห์ พนักงานสอบสวนเบิกความว่า พยานแจ้งข้อหาจำเลยทั้งสองว่าร่วมกันลักทรัพย์หรือรับของโจรจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพข้อหาลักทรัพย์ปรากฏตามบันทึกคำให้การชั้นพนักงานสอบสวน เอกสารหมาย จ.5 จ.6 และจำเลยทั้งสองยังนำพยานไปชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพและถ่ายภาพไว้ตามบันทึกการนำชี้ที่เกิดเหตุ ประกอบคำรับสารภาพ แผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุและภาพถ่ายหมาย จ.7 จ.8 และ จ.9 ส่วนจำเลยที่ 2 เบิกความว่า จำเลยที่ 1 นำสร้อยคอทองคำไปแลกสร้อยคอทองคำที่ร้านของผู้เสียหายโดยจำเลยที่ 2 ไม่ได้เข้าไปร่วมเลือกด้วยและไม่ทราบว่าสร้อยคอทองคำจะมาอยู่ในกระเป๋าของจำเลยที่ 1 อย่างไร ที่ให้การรับสารภาพต่อเจ้าพนักงานตำรวจเนื่องจากเจ้าพนักงานตำรวจอ้างว่าให้รับสารภาพเพราะจะไม่ต้องรับโทษหนัก จากพยานหลักฐานโจทก์และจำเลยที่ 2 ที่ได้ความมาเห็นว่า ผู้เสียหายนำสร้อยคอทองคำมาให้จำเลยทั้งสองเลือกหลายเส้น และได้มีการเจรจากับผู้เสียหายเพื่อแลกเปลี่ยนสร้อยคอทองคำกัน ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง และผู้เสียหายก็ยืนยันว่าขณะที่จำเลยที่ 1 เลือกสร้อยคอนั้น จำเลยที่ 2 ยืนช่วยเลือกอยู่ข้าง ๆ ขณะนั้นมีลูกค้าเข้าไปในร้านประมาณ 10 กว่าราย ผู้เสียหายต้องดูแลลูกค้ารายอื่นไปพลางด้วย ย่อมไม่ได้สังเกตดูจำเลยทั้งสองตลอดเวลา โอกาสที่จะมีการหยิบฉวยสร้อยคอทองคำของผู้เสียหายย่อมเป็นไปโดยง่าย บุตรชายจำเลยที่ 1 ก็อยู่ด้วยในระหว่างคัดเลือกดูสร้อยคอทองคำ จนในที่สุดจำเลยที่ 1 ตกลงแลกสร้อยคอทองคำของตนกับสร้อยคอทองคำของผู้เสียหายแล้วออกจากร้านไป หลังจากนั้นผู้เสียหายสงสัยว่าสร้อยคอทองคำของผู้เสียหายจะหายไป จึงได้เปิดแถบบันทึกภาพ (วีดีโอ) ที่บันทึกภาพได้ดูพบว่าเด็กที่มากับจำเลยที่ 1 นำสร้อยคอทองคำอีกเส้นหนึ่งส่งให้จำเลยที่ 2 แม้ว่าโจทก์ไม่ได้ส่งแถบบันทึกภาพ (วีดีโอ) ดังกล่าว ต่อศาลประกอบการพิจารณาคงมีแต่คำเบิกความของผู้เสียหายในส่วนนี้ แต่ผู้เสียหายได้แจ้งต่อสิบตำรวจโทวิชัยให้ทราบเหตุทันทีที่ทราบว่าสร้อยคอหายไป สิบตำรวจโทวิชัยติดตามพบจำเลยทั้งสองกำลังนั่งอยู่บนรถยนต์โดยสารสองแถวเพื่อจะเดินทางกลับบ้าน สิบตำรวจโทวิชัยจึงให้จำเลยที่ 1 นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของเจ้าพนักงานตำรวจอีกนายหนึ่งและให้จำเลยที่ 2 นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของเจ้าพนักงานตำรวจอีกนายหนึ่งคนละคัน เพื่อเดินทางไปที่สถานีตำรวจ ระหว่างทางจำเลยที่ 1 ได้หยิบเอาสร้อยคอทองคำจากกระเป๋าโยนทิ้งข้างทาง สิบตำรวจโทวิชัย จึงให้เจ้าพนักงานตำรวจหยุดรถเพื่อเก็บสร้อยคอทองคำคืนแก่จำเลยที่ 1 สิบตำรวจโทวิชัยพยานโจทก์ไม่เคยรู้จักจำเลยทั้งสองมาก่อน จึงไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าจะเบิกความปรักปรำจำเลยทั้งสองข้อเท็จจริงที่สิบตำรวจโทวิชัยพยานโจทก์เบิกความมาในส่วนนี้จึงรับฟังได้ การที่จำเลยที่ 1 หยิบสร้อยคอทองคำโยนทิ้งระหว่างทางย่อมแสดงถึงเจตนาอันไม่สุจริตเพราะต้องการจะปกปิดซ่อนเร้นสร้อยคอทองคำเพื่อไม่ให้เจ้าพนักงานตำรวจยึดไว้เป็นหลักฐาน เมื่อพิจารณาคำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 1 และที่ 2ในชั้นพนักงานสอบสวนตามเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 ประกอบกับข้อเท็จจริงที่นำสืบในชั้นพิจารณารับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ได้ร่วมเจรจาและคัดเลือกสร้อยคอทองคำอยู่ด้วยกับจำเลยที่ 1 ครั้นจำเลยที่ 1 ลักเอาสร้อยคอทองคำของกลางแล้วพากันออกจากร้านของผู้เสียหายไปพร้อมกัน เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจติดตามจับกุมจำเลยทั้งสอง จำเลยที่ 2 ก็ให้การรับสารภาพต่อเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมในข้อหาลักทรัพย์ด้วยเช่นกัน และในชั้นสอบสวนจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพข้อหาลักทรัพย์และนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพโดยสมัครใจ คำให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 มีรายละเอียดสอดคล้องต้องกันกับคำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 1 ไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าเจ้าพนักงานตำรวจจะบังคับ ขู่เข็ญ แม้โจทก์จะไม่มีประจักษ์พยานที่เห็นเหตุการณ์ขณะเกิดเหตุการณ์ขณะเกิดเหตุมาเบิกความ แต่ตามพฤติการณ์ดังที่ได้วินิจฉัยมา พยานโจทก์จึงมีน้ำหนักรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ลักสร้อยคอทองคำของผู้เสียหายไปตามฟ้อง

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share