แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
คำโต้แย้งของโจทก์ที่กล่าวอ้างว่า คำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา นั้น เป็นคำสั่งที่ล่วงละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพในการดำเนินคดีของโจทก์ เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 26,27,28,233 และ 249 นั้น มิใช่เป็นคำโต้แย้งว่า ตัวบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดที่ศาลยุติธรรมจะใช้บังคับแก่คดีขัดต่อรัฐธรรมนูญตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯ มาตรา 6 บัญญัติไว้คำร้องของโจทก์จึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯมาตรา 264 วรรคหนึ่ง แม้อำนาจในการสั่งรับหรือไม่รับคำโต้แย้งของคู่ความตามมาตรา 264 วรรคหนึ่ง ไว้พิจารณา จะเป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 264 วรรคสอง แต่อำนาจในการวินิจฉัยว่า คำโต้แย้งของคู่ความเข้าหลักเกณฑ์ที่จะต้องส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยหรือไม่นั้นเป็นอำนาจของศาลยุติธรรมที่จะพิจารณาวินิจฉัยตามมาตรา 264 วรรคหนึ่ง มิใช่ว่าโจทก์มีคำโต้แย้งอย่างไรแล้ว ศาลยุติธรรมจะต้องส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยเสมอไป
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 285 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2515 ข้อ 5 ถึงข้อ 14 และข้อ 30พระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัดบริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ. 2499 มาตรา 40, 42 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 264, 265, 267, 268, 269, 59, 83, 86, 90 และ 91 ริบและทำลายตราประทับและงบดุลประจำปี 2533 ของบริษัทจำเลยที่ 2 ริบและทำลายเอกสารในครอบครองของเจ้าพนักงานกรมทะเบียนการค้าที่เกิดจากการใช้ตราประทับดังกล่าวอันเป็นเอกสารเท็จและเอกสารปลอม
ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้วมีคำสั่งให้นัดไต่สวนมูลฟ้อง ให้โจทก์นำส่งหมายนัดและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยทั้งห้าทราบภายใน 7 วัน ถ้าไม่มีผู้รับและไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งห้ามีภูมิลำเนาแห่งอื่น ให้ปิดหมาย และหากส่งไม่ได้ ให้โจทก์แถลงภายใน 7 วันมิฉะนั้นให้ถือว่าทิ้งฟ้อง
ก่อนวันนัดไต่สวนมูลฟ้อง ศาลชั้นต้นได้ออกหมายเรียกตามคำร้องของโจทก์ถึงบริษัทอโศก พร็อบเพอร์ตี้ จำกัด ให้ส่งเอกสารตามบัญชีพยานโจทก์ ฉบับลงวันที่ 27 ตุลาคม 2541 อันดับที่ 13, 17 และ 20 บริษัทดังกล่าวมีหนังสือแจ้งศาลชั้นต้นว่าไม่สามารถส่งเอกสารตามหมายเรียกบางฉบับได้ เนื่องจากไม่สามารถค้นหาเอกสารดังกล่าวให้ได้ โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายเรียกกรรมการผู้จัดการบริษัทดังกล่าวมาไต่สวน
ต่อมาวันที่ 8 ธันวาคม 2541 ซึ่งเป็นวันนัดไต่สวนมูลฟ้องศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า การส่งหมายนัดไต่สวนมูลฟ้องให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ไม่ชอบ เนื่องจากตามรายงานการส่งหมายให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ปรากฏว่าบ้านที่ไปส่งนั้นปิดประตู และไม่ได้ความว่าจำเลยดังกล่าวอาศัยอยู่บ้านดังกล่าว ส่วนจำเลยที่ 2 นั้นปรากฏว่า ผู้ที่อยู่ตามภูมิลำเนาตามฟ้องแจ้งว่าไม่รู้จักจำเลยที่ 2 และไม่ทราบว่าอยู่ที่ใด จึงให้เลื่อนไปนัดไต่สวนมูลฟ้องใหม่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2542 เวลา 13.30 นาฬิกา โดยให้โจทก์จัดทำสำเนาคำฟ้องพร้อมหลักฐานยืนยันภูมิลำเนาและนำส่งภายใน 15 วัน ส่วนที่โจทก์ขอให้หมายเรียกกรรมการผู้จัดการบริษัทอโศก พร็อบเพอร์ตี้ จำกัด มาไต่สวนนั้น เห็นว่ายังไม่มีเหตุที่จะอนุญาต เว้นแต่โจทก์จะได้แสดงพยานหลักฐานที่ยืนยันในเบื้องต้นว่าเอกสารดังกล่าวยังคงอยู่ที่บริษัทดังกล่าว ให้ยกคำร้อง
โจทก์ยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 14 ธันวาคม 2541 คัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นลงวันที่ 8 ธันวาคม 2541 ดังกล่าว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งลงวันที่ 14 ธันวาคม 2541ให้รับรวมสำนวนไว้และมีคำสั่งต่อไปอีกว่า ปรากฏว่าท้ายคำร้องของโจทก์ดังกล่าวได้แนบสำเนาทะเบียนบ้านและหนังสือรับรองของนายทะเบียนแสดงภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ถูกต้องตามภูมิลำเนาขณะยื่นฟ้อง จึงให้โจทก์งดส่งหลักฐานยืนยันภูมิลำเนาและสำเนาคำฟ้อง คงให้โจทก์นำส่งหมายนัดไต่สวนมูลฟ้องให้เฉพาะจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เนื่องจากผู้รับมอบฉันทะทนายจำเลยที่ 1 ทราบวันนัดแล้วการส่งไม่มีผู้รับโดยชอบให้ปิด
โจทก์อุทธรณ์คัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นลงวันที่ 8 ธันวาคม 2541 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งลงวันที่ 17 ธันวาคม 2541 ว่า อุทธรณ์ของโจทก์เป็นอุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณา ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 196 ไม่รับอุทธรณ์
โจทก์อุทธรณ์ (เพิ่มเติม) คัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นลงวันที่ 14 ธันวาคม 2541อ้างว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าวในวันที่ 15 ธันวาคม 2541 แต่ลงวันที่ย้อนหลังเป็นวันที่ 14 ธันวาคม 2541 เป็นการไม่ชอบ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งลงวันที่ 17 ธันวาคม 2541ว่า อุทธรณ์ของโจทก์เป็นอุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณา ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 196 ไม่รับอุทธรณ์
โจทก์อุทธรณ์คัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นลงวันที่ 17 ธันวาคม 2541 ที่ไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ (ที่ถูกต้องทำเป็นคำร้องอุทธรณ์คำสั่ง) และยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 5 มกราคม 2542 ขอใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540มาตรา 264 วรรคหนึ่ง ขอให้ศาลอุทธรณ์ส่งเรื่องที่เป็นปัญหาไปให้ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยว่าคำสั่งศาลชั้นต้นลงวันที่ 8 ธันวาคม 2541 ลงวันที่ 14 ธันวาคม2541 และลงวันที่ 17 ธันวาคม 2541 ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540 หรือไม่
ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งที่ 177/2542 วินิจฉัยว่า ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 264 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 6จะต้องเป็นเรื่องที่โจทก์อ้างว่า บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎหรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ แต่ตามคำร้องเป็นเรื่องที่โจทก์อ้างว่าไม่เห็นด้วยกับดุลพินิจในการทำคำสั่งของศาลชั้นต้นในรายละเอียดเกี่ยวกับการดำเนินกระบวนพิจารณาเท่านั้น จึงไม่ใช่กรณีที่ศาลจะต้องส่งความเห็นเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามมาตราที่โจทก์ยื่นคำร้องมา ให้ยกคำร้อง และมีคำสั่งที่ 178/2542 วินิจฉัยว่าคำสั่งศาลชั้นต้นเป็นดุลพินิจเกี่ยวกับการดำเนินการส่งหมายนัดไต่สวนมูลฟ้องและเกี่ยวกับการที่เรียกกรรมการผู้จัดการบริษัทอโศก พร็อบเพอร์ตี้ จำกัด มาไต่สวนหรือไม่เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาที่ไม่ทำให้คดีเสร็จสำนวนต้องห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งนั้น จนกว่าจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งในประเด็นสำคัญตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 196 ส่วนที่ศาลชั้นต้นลงวันที่ในคำสั่งคำร้องคัดค้านของโจทก์ (ฉบับลงวันที่ 14 ธันวาคม 2541) ไม่ว่าจะลงเป็นวันที่ 14 หรือวันที่ 15 ธันวาคม 2541 ก็ไม่ทำให้ผลของคำสั่งเปลี่ยนแปลงไปคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง
โจทก์ฎีกาคัดค้านคำสั่งศาลอุทธรณ์ที่ 177/2542 และที่ 178/2542 ดังกล่าวศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์เฉพาะข้อที่คัดค้านคำสั่งศาลอุทธรณ์ที่ 177/2542ส่วนฎีกาของโจทก์ข้อที่คัดค้านคำสั่งศาลอุทธรณ์ที่ 178/2542 ศาลชั้นต้นเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวถึงที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 198 ทวิจึงไม่รับฎีกาข้อนี้ โจทก์มิได้ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกาข้อดังกล่าว
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ในชั้นนี้คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เพียงข้อเดียวว่า การที่ศาลอุทธรณ์ไม่ส่งคำโต้แย้งของโจทก์ตามคำร้อง ฉบับลงวันที่ 5 มกราคม 2542 ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยนั้น เป็นการไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 264 วรรคหนึ่ง หรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เนื้อหาตามคำร้องของโจทก์ ฉบับลงวันที่ 5 มกราคม 2542 เป็นเรื่องที่โจทก์กล่าวอ้างว่า คำสั่งศาลชั้นต้นลงวันที่ 8 ธันวาคม 2541 ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2541 และลงวันที่ 17 ธันวาคม 2541 ดังกล่าวแล้วข้างต้นซึ่งศาลชั้นต้นอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา สั่งนั้น เป็นคำสั่งที่ล่วงละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพในการดำเนินคดีของโจทก์จึงเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 26, 27, 28, 233 และ 249 คำโต้แย้งของโจทก์ดังกล่าวมิใช่เป็นคำโต้แย้งว่า ตัวบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดที่ศาลยุติธรรมจะใช้บังคับแก่คดีนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 6 บัญญัติไว้กรณีตามคำร้องของโจทก์จึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 264 วรรคหนึ่ง แม้อำนาจในการสั่งรับหรือไม่รับคำโต้แย้งของคู่ความตามมาตรา 264 วรรคหนึ่ง ไว้พิจารณา จะเป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 264 วรรคสอง ดังที่โจทก์อ้างมาในฎีกา แต่อำนาจในการวินิจฉัยว่า คำโต้แย้งของคู่ความเข้าหลักเกณฑ์ที่จะต้องส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยหรือไม่ก็เป็นอำนาจของศาลยุติธรรมที่พิจารณาคดีนี้จะวินิจฉัยได้ตามมาตรา 264 วรรคหนึ่ง มิใช่ว่าโจทก์มีคำโต้แย้งอย่างไรแล้ว ศาลยุติธรรมจะต้องส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยเสมอไป ที่ศาลอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยไม่ส่งคำโต้แย้งตามคำร้องของโจทก์ ฉบับลงวันที่ 5 มกราคม 2542ไปให้ที่ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยและยกคำร้องของโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน