แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ลูกจ้างฟ้องว่า นายจ้างสั่งพักงานลูกจ้างเป็นเวลา 5 วัน โดยลูกจ้างไม่ได้กระทำความผิด ขอให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างระหว่างพักงาน ในชั้นพิจารณาลูกจ้างรับข้อเท็จจริงว่าได้กระทำความผิดจริงตามคำให้การต่อสู้คดีของนายจ้าง ดังนี้ นายจ้างย่อมมีอำนาจลงโทษลูกจ้างด้วยการพักงานได้ เมื่อการพักงานตามฟ้องเป็นการพักงานเนื่องจากการลงโทษทางวินัยแก่ลูกจ้างเพราะลูกจ้างกระทำความผิด มิใช่กรณีที่นายจ้างสั่งพักงานระหว่างทำการสอบสวนลูกจ้างซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามมาตรา 116 และ 117 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541ศาลแรงงานจึงพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างระหว่างพักงานแก่ลูกจ้างตามบทกฎหมายข้างต้นไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยในตำแหน่งพนักงานจัดส่งน้ำมันได้รับค่าจ้างวันละ 177 บาท เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2542 จำเลยให้โจทก์พักงานเป็นเวลา 5 วัน ตั้งแต่วันที่ 8 ถึง 14 มิถุนายน 2542 โดยไม่ได้รับค่าจ้างและโดยที่โจทก์ไม่ได้กระทำความผิด คำสั่งของจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมายคุ้มครองแรงงาน จำเลยไม่มีอำนาจลงโทษโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างระหว่างพักงานเป็นเงิน 885 บาท
จำเลยให้การว่า ตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกำหนดว่าพนักงานทุกคนต้องไม่แสดงกิริยากระด้างกระเดื่องต่อผู้บังคับบัญชาหรือผู้สั่งงานในหน้าที่ที่มีอำนาจชอบด้วยกฎหมาย พนักงานทุกคนต้องไม่ละทิ้งหน้าที่ในขณะปฏิบัติงานหรือขาดงานเป็นเวลา 3 วัน ติดต่อกัน และห้ามพนักงานใช้วาจาหยาบคายก้าวร้าวหรือสบประมาทหรือก่อการทะเลาะวิวาท เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม2541 โจทก์ได้รับมอบหมายให้ทาสีถังน้ำมัน แต่ปรากฏว่าโจทก์ไม่ปฏิบัติตามทั้งยังแสดงกิริยากระด้างกระเดื่องต่อผู้บังคับบัญชา จำเลยทำการสอบสวนและเรียกโจทก์มาพบโจทก์ยอมรับว่ากระทำความผิดจริง จำเลยได้ออกหนังสือเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร ต่อมาเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2542 โจทก์ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้ไปตักปี๊บที่แผนกสโตร์มาบรรจุน้ำมันแต่โจทก์ไม่ปฏิบัติตามเมื่อผู้บังคับบัญชาสอบถามโจทก์แสดงความไม่พอใจกระด้างกระเดื่องต่อผู้บังคับบัญชาและใช้วาจาหยาบคายโดยกล่าวว่า “หัวหน้าหัวควย” และโจทก์ละทิ้งงานไปไม่ยอมทำงานในวันดังกล่าวอีก จำเลยสอบสวนแล้วปรากฏว่าโจทก์กระทำความผิดดังกล่าวจริง จำเลยถือว่าโจทก์กระทำความผิดซ้ำคำเตือน จึงพิจารณาลงโทษทางวินัยด้วยการพักงานโจทก์เป็นระยะเวลา 5 วัน คำสั่งของจำเลยเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายและไม่ใช่การพักงานเพื่อรอการสอบสวน จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าจ้าง ขอให้ยกฟ้อง
โจทก์จำเลยแถลงรับว่า โจทก์กระทำความผิดตามคำให้การจริง จำเลยพักงานโจทก์ 5 วัน โดยไม่ได้จ่ายค่าจ้าง ให้ศาลวินิจฉัยว่า ระหว่างพักงานดังกล่าวจำเลยต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์หรือไม่เพียงใด โจทก์จำเลยไม่ติดใจสืบพยาน
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 116 บัญญัติมีใจความว่า ในกรณีที่นายจ้างทำการสอบสวนลูกจ้างซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด ห้ามมิให้นายจ้างสั่งพักงานลูกจ้างในระหว่างการสอบสวนดังกล่าว เว้นแต่จะมีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างให้อำนาจนายจ้างสั่งพักงานลูกจ้างได้ ทั้งนี้นายจ้างจะต้องมีคำสั่งพักงานเป็นหนังสือระบุความผิดและกำหนดระยะเวลาพักงานได้ไม่เกินเจ็ดวัน โดยต้องแจ้งให้ลูกจ้างทราบก่อนการพักงาน และในวรรคสอง กำหนดว่า ในระหว่างการพักงานตามวรรคหนึ่ง ให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างตามอัตราที่กำหนดไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือตามที่นายจ้างและลูกจ้างได้ตกลงกันไว้ในข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ทั้งนี้อัตราดังกล่าวต้องไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบของค่าจ้างในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับก่อนถูกพักงาน ซึ่งตามบทบัญญัติดังกล่าวในระหว่างทำการสอบสวนกฎหมายห้ามพักงานจะพักงานได้เฉพาะมีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกำหนดไว้ และคำสั่งพักงานต้องทำเป็นหนังสือระบุความผิดและกำหนดระยะเวลาพักงาน ย่อมแสดงว่าบทบัญญัติดังกล่าวหมายถึงเมื่อทำการสอบสวนแล้วลูกจ้างกระทำความผิดจริงนายจ้างจึงมีคำสั่งพักงาน และในวรรคสองกำหนดว่า ให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างตามอัตราที่กำหนดไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือตามที่นายจ้างตกลงกันไว้ในข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ดังนั้นถึงแม้ว่าลูกจ้างจะกระทำความผิดและนายจ้างสั่งพักงาน นายจ้างก็ต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง หากลูกจ้างไม่มีความผิดนายจ้างก็ต้องจ่ายค่าจ้างให้เท่ากับค่าจ้างในวันทำงานตามมาตรา 117 ดังนั้น ในระหว่างที่จำเลยพักงานโจทก์จำเลยต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ เมื่อโจทก์จำเลยไม่มีข้อตกลงว่าจะจ่ายค่าจ้างกันอย่างไร จำเลยจึงต้องจ่ายไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบของค่าจ้างในวันที่โจทก์ได้รับก่อนถูกสั่งพักงาน พิพากษาให้จำเลยชำระเงินค่าจ้างระหว่างพักงานให้โจทก์จำนวน 442.50 บาท
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยไม่ได้สั่งพักงานโจทก์ในระหว่างรอการสอบสวน แต่เป็นการสั่งพักงานเมื่อมีการสอบสวนโจทก์เสร็จแล้ว และผลการสอบสวนเป็นความผิดของโจทก์ ทั้งโจทก์ยอมรับว่าได้กระทำผิดจริงเป็นการลงโทษทางวินัย หาใช่เป็นการสั่งพักงานโจทก์เพื่อการสอบสวนตามมาตรา 116 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541ไม่ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์นั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยสั่งพักงานโจทก์เป็นเวลา 5 วัน โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด คำสั่งของจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมายคุ้มครองแรงงาน จำเลยไม่มีอำนาจลงโทษโจทก์ ในชั้นพิจารณาโจทก์รับข้อเท็จจริงว่า โจทก์กระทำความผิดตามคำให้การจำเลยจริงเมื่อโจทก์ยอมรับว่าโจทก์กระทำความผิดจริง จำเลยก็มีอำนาจลงโทษโจทก์ด้วยการพักงานได้ ดังนั้น การพักงานตามฟ้องของโจทก์จึงเป็นการพักงานเนื่องจากการลงโทษทางวินัยแก่โจทก์เพราะโจทก์กระทำความผิดตามที่โจทก์แถลงรับ มิใช่กรณีที่นายจ้างสั่งพักงานระหว่างทำการสอบสวนลูกจ้างซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามมาตรา 116 และ 117 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ. 2541
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง