คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4885/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในส่วนที่ไม่ต้องห้ามฎีกาว่าจำเลยกระทำความผิดฐานเป็นธุระจัดหาหญิงและเด็กหญิงเพื่อการอนาจารเพื่อให้สำเร็จความใคร่ของผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 282 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดหรือไม่ ส่วนข้อหาฐานเป็นเจ้าของสถานการค้าประเวณีซึ่งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย มีกำหนด 8 เดือน และคดีต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงก็ตาม แต่เมื่อปรากฏตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ที่ฟังว่าการค้าประเวณีไม่ได้กระทำในบ้านที่จำเลยเป็นเจ้าของดูแล บ้านดังกล่าวเป็นเพียงสถานที่ติดต่อ แล้วนัดไปร่วมประเวณีกันที่อื่น ซึ่งศาลฎีกาก็ฟังข้อเท็จจริงได้เป็นอย่างเดียวกัน และพระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2503 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะกระทำความผิด บัญญัติไว้ในมาตรา 4 ว่า “สถานการค้าประเวณี” หมายความว่า สถานที่ใด ๆ ที่จัดไว้เพื่อให้บุคคลอื่นทำการค้าประเวณี โดยจัดให้มีผู้ทำการค้าประเวณีไว้เพื่อการนั้นด้วยดังนี้ สถานที่เกิดเหตุจึงมิใช่สถานการค้าประเวณีตามกฎหมายดังกล่าว และจะฟังว่าจำเลยเป็นเจ้าของสถานการค้าประเวณีตามคำฟ้องยังไม่ได้ แม้จำเลยไม่ได้ฎีกาโต้แย้งในปัญหานี้โดยตรง ศาลฎีกาก็มีอำนาจนำขึ้นมาเป็นเหตุยกฟ้องโจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยมาตรา 215 และมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 90,91, 282, 286, 317, 319 พระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2503 มาตรา 8, 9 และริบของกลาง กับนับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 8541/2536 ของศาลชั้นต้น

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

จำเลยที่ 1 หลบหนี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 ชั่วคราว

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 282 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม พระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณีพ.ศ. 2503 มาตรา 8 ซึ่งเป็นการกระทำกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 282 วรรคสาม ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 14 ปี กระทงหนึ่ง และมีความผิดตามพระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2503 มาตรา 9 จำคุก 8 เดือน อีกกระทงหนึ่ง รวมจำคุกจำเลยที่ 2 กำหนด 14 ปี 8 เดือน ริบของกลาง คำขออื่นให้ยก

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ในส่วนที่ศาลชั้นต้นรับเป็นฎีกาว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานเป็นธุระจัดหาหญิงและเด็กหญิง เพื่อการอนาจาร เพื่อให้สำเร็จความใคร่ของผู้อื่นหรือไม่ ในปัญหาข้อนี้ เห็นว่า พยานโจทก์มีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดในฐานนี้จริง พยานจำเลยที่ 2 ไม่อาจหักล้างพยานโจทก์ได้ และโทษที่ศาลล่างทั้งสองลงแก่จำเลยที่ 2 นั้น เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข

อย่างไรก็ดี สำหรับข้อหาฐานเป็นเจ้าของสถานการค้าประเวณีซึ่งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 8 เดือน และคดีต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง นั้น ปรากฏตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ฟังว่าการค้าประเวณีไม่ได้กระทำในบ้านที่จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของดูแลบ้านดังกล่าวเป็นเพียงสถานที่ติดต่อ แล้วนัดไปร่วมประเวณีกันที่อื่น ซึ่งศาลฎีกาก็ฟังข้อเท็จจริงได้เป็นอย่างเดียวกัน ดังนี้เห็นว่า พระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2503ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะกระทำความผิด บัญญัติไว้ในมาตรา 4 ว่า “สถานการค้าประเวณี” หมายความว่า สถานที่ใด ๆ ที่จัดไว้เพื่อให้บุคคลอื่นทำการค้าประเวณี โดยจัดให้มีผู้กระทำการค้าประเวณีไว้เพื่อการนั้นด้วย สถานที่เกิดเหตุจึงหาใช่สถานการค้าประเวณี ตามกฎหมายดังกล่าวไม่ จะฟังว่าจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของสถานการค้าประเวณีตามคำฟ้องยังไม่ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 ในข้อหาฐานนี้ ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา แม้จำเลยที่ 2 ไม่ได้ฎีกาโต้แย้งในปัญหานี้โดยตรง ศาลฎีกาก็มีอำนาจนำขึ้นมาเป็นเหตุยกฟ้องโจทก์ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยมาตรา 215 และมาตรา 225

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องในข้อหาตามพระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2503 มาตรา 9 เสียด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share