คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3976/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การฝากส่งสินค้าของโจทก์เป็นลักษณะไปรษณียภัณฑ์ลงทะเบียนไม่มีการประกันแต่อย่างใด เมื่อไปรษณียภัณฑ์สูญหายจำเลยที่ 1 ต้องรับผิด ตามพระราชบัญญัติไปรษณีย์ พุทธศักราช 2477 มาตรา 29 คือตามข้อบังคับ ที่ใช้อยู่เวลานั้นหาใช่ต้องรับผิดตามมาตรา 30 ไม่ เพราะตาม มาตราดังกล่าวต้องเป็นไปรษณียภัณฑ์ ที่ผู้ฝากได้ระบุแจ้งราคาไว้แล้วเท่านั้น การที่พนักงานของจำเลยที่ 1 ลงชื่อและประทับตราลงใน ใบขนสินค้าขาออกซึ่งแจ้งราคาสินค้าไว้ด้วย โดยผ่านพิธีการศุลกากร มาแล้วและมิต้องเปิดตรวจสอบให้ตรงกันก่อนเป็นเพียงแสดงว่า ไปรษณียภัณฑ์นั้นผ่านเข้าไปรษณีย์แล้วเท่านั้นและโจทก์มิได้ส่ง เอกสารใบขนสินค้าไว้แก่จำเลยที่ 1 ให้เป็นกิจจะลักษณะจึงถือว่า เป็นการแจ้งราคาไว้แก่จำเลยที่1 แล้วหาได้ไม่ จำเลยที่ 1 เป็นผู้รับขนพิเศษที่จะต้องแยกไปปฏิบัติและบังคับ ตามกฎหมายและกฎข้อบังคับสำหรับการไปรษณีย์โดยเฉพาะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 609 จึงนำบทบัญญัติ เรื่องการรับขนของในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะ 8 หมวด 1 มาใช้บังคับแก่จำเลยที่ 1 ไม่ได้และจะถือว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งมีนิติสัมพันธ์ กับจำเลยที่1 เท่านั้นเป็นผู้ขนส่งหลายคนหลายทอดตามมาตรา 618 ไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ส่งทับทิมและไพลินเจียระไนไปให้ลูกค้าที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์โดยทางไปรษณีย์ของจำเลยที่ 1 จำนวน 2 ครั้ง เสียค่าธรรมเนียมส่งไปรษณียภัณฑ์ต่างประเทศลงทะเบียนรับประกัน จำเลยที่ 1 ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ให้ขนส่งไปรษณียภัณฑ์ดังกล่าวไปอีกทอดหนึ่ง ต่อมาปรากฏว่าสินค้าที่ส่งไปนั้นสูญหายจึงขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชดใช้ราคาสินค้าดังกล่าวแก่โจทก์เป็นเงิน463,433.50 บาท
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ฝากส่งไปรษณียภัณฑ์แก่จำเลยที่ 1 ในประเภทไปรษณียภัณฑ์ลงทะเบียนโดยมิได้ขอประกันไปรษณียภัณฑ์ดังกล่าว และโจทก์เสียเฉพาะค่าธรรมเนียมฝากส่งลงทะเบียนเท่านั้น สินค้าที่โจทก์อ้างจะมีจริงหรือไม่จำเลยไม่ทราบ จำเลยได้ส่งไปรษณียภัณฑ์ดังกล่าวพร้อมด้วยเอกสารกำกับตามพิธีการโดยถูกต้องและส่งมอบให้แก่ที่ทำการไปรษณีย์ปลายทางเรียบร้อยแล้วตามสภาพเดิมไม่ชำรุดเสียหายจึงไม่ต้องรับผิด จำเลยที่ 2 ไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์ 632 บาท ส่วนจำเลยที่ 2ให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า โจทก์ฝากส่งสินค้าโดยไปรษณียภัณฑ์ลงทะเบียนไม่ได้ประกันสินค้าดังกล่าว แล้ววินิจฉัยข้อกฎหมายว่าการฝากส่งสินค้าของโจทก์ทั้งสองครั้งเป็นลักษณะไปรษณียภัณฑ์ลงทะเบียนเท่านั้น ไม่มีการประกันแต่อย่างใดเมื่อไปรษณียภัณฑ์สูญหาย จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดตามพระราชบัญญัติไปรษณีย์พุทธศักราช 2477 มาตรา 29 คือตามข้อบังคับที่ใช้อยู่เวลานั้น ข้อบังคับดังกล่าวก็คือไปรษณียนิเทศ พุทธศักราช 2520 ซึ่งพระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทยพ.ศ. 2519 มาตรา 4 ให้คงใช้บังคับต่อไปได้ ข้อบังคับตามไปรษณียนิเทศ พุทธศักราช 2520 ข้อ 539 ระบุว่า “ประเทศที่ร่วมอยู่ในสหภาพสากลไปรษณีย์จะรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ไปรษณียภัณฑ์ลงทะเบียนที่สูญหายไปทั้งฉบับหรือห่อในราคาฉบับหรือห่อละไม่เกิน 40 แฟรงก์ทอง ฯลฯ” และตามข้อ 324ระบุให้อัตรา 1 แฟรงก์ทองเท่ากับ 7.90 บาท ฉะนั้นจำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ห่อละ 316 บาท หาใช่ต้องรับผิดตามพระราชบัญญัติไปรษณีย์พุทธศักราช 2477 มาตรา 30 ดังโจทก์ฎีกาไม่ เพราะตามมาตราดังกล่าวต้องเป็นไปรษณียภัณฑ์ที่ผู้ฝากได้ระบุแจ้งราคาไว้แล้วเท่านั้น การที่พนักงานของจำเลยที่ 1ลงชื่อและประทับตราลงในใบขนสินค้าขาออกตามเอกสารหมาย จ.6 และ จ.10ซึ่งแจ้งราคาสินค้าไว้ด้วย โดยผ่านพิธีการศุลกากรมาแล้วและมิต้องปิดตรวจสอบให้ตรงกันก่อน ก็เป็นเพียงแสดงว่าไปรษณียภัณฑ์นั้น ๆ ผ่านเข้าไปรษณีย์แล้วเท่านั้นประกอบกับโจทก์ไม่ได้ส่งเอกสารใบขนสินค้านั้นไว้แก่จำเลยที่ 1 ให้เป็นกิจจะลักษณะจึงถือว่าเป็นการแจ้งราคาไว้แก่จำเลยที่ 1 แล้วหาได้ไม่
ส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 นั้น เห็นว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับขนพิเศษที่จะต้องแยกไปปฏิบัติและบังคับตามกฎหมายและกฎข้อบังคับสำหรับการไปรษณีย์โดยเฉพาะตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 609 บัญญัติไว้ จึงนำบทบัญญัติเรื่องรับขนของในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะ 8 หมวด 1 มาใช้บังคับแก่จำเลยที่ 1 ไม่ได้ และจะถือว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งมีนิติสัมพันธ์กับจำเลยที่ 1เท่านั้นเป็นผู้ขนส่งหลายคนหลายทอดตามมาตรา 618 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่ได้เช่นกัน โจทก์ซึ่งไม่มีนิติสัมพันธ์กับจำเลยที่ 2 มาก่อนเลยจึงหามีสิทธิจะเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดอย่างใดไม่
พิพากษายืน

Share