แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ทำงานกับจำเลยเป็นคนงานเหมาประจำได้ค่าจ้างเป็นรายเทการทำงานต้องเซ็นชื่อไปและกลับแม้ไม่มีงานให้ทำการ ลางานต้องยื่นใบลาการบังคับบัญชาขึ้นต่อหมวดพัสดุมี สิทธิได้รับค่าครองชีพ เบิกค่ารักษาพยาบาลและค่าเล่าเรียนบุตร ได้ มีสิทธิทำงานไปจนเกษียณอายุคนงานประเภท เหมาชั่วคราวของจำเลยไม่มีสิทธิต่างๆดังกล่าว การจ่ายค่าแรงของคนงานเหมาประจำหากได้ค่าแรงน้อยกว่าเดือนละ530บาทก็จะได้รับ 530 บาทแสดงว่าจำเลยมิได้คำนึงถึงผลสำเร็จ แห่งงานที่โจทก์ทำให้จำเลยแม้การจ่ายค่าแรงจำเลยจะคิด ให้แก่ผู้ทำหน้าที่บรรจุสุราจากจำนวนเทของสุราที่บรรจุขวดและผู้ทำหน้าที่ล้างขวดสุราจำเลยจ่ายค่าแรงให้เท่ากับ ผู้ทำหน้าที่บรรจุสุรา การคิดค่าแรงตามจำนวนเทจึงเป็นเพียงวิธีการคำนวณค่าจ้างเท่านั้นไม่ใช่การคิดค่าแรงงานตาม ผลงานที่คนงานประจำทำได้ในแต่ละวันความสัมพันธ์ระหว่าง โจทก์กับจำเลยจึงเป็นการจ้างแรงงาน เมื่อโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลย ปัญหาว่าการที่โจทก์จะ มีสิทธิรับบำเหน็จหรือไม่จ่ายเงินเข้าสมทบกองทุนบำเหน็จหรือไม่ ก็ไม่ทำให้สภาพการเป็นลูกจ้างของโจทก์เปลี่ยน ไปเป็นไม่ใช่ลูกจ้างปัญหาที่จำเลยอุทธรณ์ดังกล่าวจึงมิได้คัดค้านคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง จึงไม่เป็นสาระแก่การ วินิจฉัย ข้อที่จำเลยอุทธรณ์ว่าการพ้นจากตำแหน่งเพราะเกษียณอายุไม่ใช่การเลิกจ้างนั้นเป็นข้อที่จำเลยมิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การทั้งมิใช่ข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย โจทก์เป็นลูกจ้างประจำที่ได้รับค่าจ้างตามผลงาน การคำนวณค่าชดเชยของโจทก์จึงต้องคิดจากค่าจ้างของการทำงานที่ โจทก์ได้รับจริงในหนึ่งร้อยแปดสิบวันสุดท้าย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำรับค่าจ้างตามผลงาน จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเกษียณอายุโดยไม่จ่ายค่าชดเชย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่าจำเลยจ้างโจทก์เป็นคนงานเหมารายเท ไม่ได้จ้างโจทก์ไว้ปฏิบัติงานในลักษณะประจำ จำเลยให้ค่าตอบแทนโจทก์เป็นค่าแรงตามผลงานแต่ละวันไม่แน่นอนโดยถือเอาผลสุดท้ายแห่งงานเป็นประการสำคัญ สัญญาจ้างระหว่างโจทก์จำเลยเป็นสัญญาจ้างทำของ ทั้งโจทก์ไม่ใช่ลูกจ้างชั่วคราว จึงไม่อาจเรียกค่าชดเชยจากจำเลย
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยให้โจทก์ตามฟ้อง
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นคนงานของจำเลยประเภทคนงานเหมาประจำได้ค่าจ้างเป็นรายเท งานที่ทำมีให้ทำทุกวัน ลักษณะการทำงานต้องเซ็นชื่อมาทำงานและกลับ การลาต้องยื่นใบลา มีสายบังคับบัญชาโดยขึ้นต่อหมวดพัสดุมีสิทธิได้รับค่าครองชีพ เบิกค่ารักษาพยาบาลและค่าเล่าเรียนบุตรได้ซึ่งต่างกับคนงานประเภทคนงานเหมาชั่วคราวไม่มีสิทธิต่าง ๆ ดังกล่าว คนงานเหมาประจำถ้ามาทำงานมีสิทธิทำงานไปจนเกษียณอายุ การจ่ายค่าแรงจำเลยจ่ายให้เป็นการประจำ ถ้าจำเลยไม่มีงานให้ทำคนงานเหมาประจำก็ต้องมาเซ็นชื่อทำงานและกลับและถ้าได้ค่าแรงน้อยกว่า 530 บาท จำเลยก็จ่ายให้ 530 บาท เห็นได้ว่าที่จำเลยจ้างโจทก์ให้ทำงานนั้นจำเลยมิได้คำนึงถึงผลสำเร็จแห่งงานที่โจทก์ทำให้จำเลย แม้การจ่ายค่าแรงจำเลยจะคิดให้แก่ผู้ทำหน้าที่บรรจุสุราจากจำนวนเทของสุราที่บรรจุขวด แต่ผู้ทำหน้าที่ล้างขวดสุราจำเลยก็จ่ายค่าแรงให้เท่ากับผู้ที่ทำหน้าที่บรรจุสุรา การคิดค่าแรงตามจำนวนเทสุราที่บรรจุจึงเป็นเพียงวิธีการคิดคำนวณค่าจ้างประการหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่การคิดค่าแรงตามผลงานที่คนงานประจำทำได้ในแต่ละวัน จึงเห็นได้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นการจ้างแรงงาน
ปัญหาว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จตามข้อบังคับองค์การสุรา กรมสรรพสามิตและไม่ได้จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนบำเหน็จ โจทก์จึงไม่ใช่ลูกจ้างประจำของจำเลยนั้นเมื่อได้วินิจฉัยไว้แล้วว่าสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาจ้างแรงงานการที่โจทก์จะมีสิทธิได้รับบำเหน็จหรือไม่ จ่ายเงินเข้าสมทบกองทุนบำเหน็จหรือไม่ไม่ทำให้สภาพการเป็นลูกจ้างของโจทก์เปลี่ยนเป็นไม่ใช่ลูกจ้าง ปัญหาที่จำเลยอุทธรณ์ดังกล่าวจึงมิได้คัดค้านคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ไม่เป็นสาระแก่การวินิจฉัยและข้อที่จำเลยอุทธรณ์ว่าการพ้นตำแหน่งเพราะเหตุเกษียณอายุไม่ใช่การเลิกจ้างนั้นเป็นข้อที่จำเลยมิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ ทั้งมิใช่ข้อที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ข้อที่จำเลยอุทธรณ์ว่าค่าชดเชยของจำเลยต้องเฉลี่ยจากรายได้ 12 เดือนสุดท้ายนั้นเมื่อปรากฏว่าศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยไว้แล้วว่าโจทก์เป็นลูกจ้างประจำที่ได้รับค่าจ้างตามผลงาน การคำนวณค่าชดเชยของโจทก์จึงต้องคิดจากค่าจ้างของการทำงานหนึ่งร้อยแปดสิบวันสุดท้ายตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน(ฉบับที่ 6) ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2521 ข้อ 46(3)
พิพากษายืน