แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำว่า ‘จัดหางาน’ ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2511 หมายความว่า ‘การประกอบธุรกิจหางานให้แก่คนหางานหรือหาลูกจ้างให้แก่นายจ้าง’เมื่อปรากฏว่ากฎกระทรวงฉบับที่ 1(พ.ศ.2511)ออกตามความในพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2511ข้อ 3 กำหนดเงื่อนไขให้ผู้รับอนุญาตจัดหางานติดต่อรับสมัครคนหางานและจัดส่งคนหางานให้แก่นายจ้างได้ภายในเขตท้องที่จังหวัดที่สำนักงานจัดหางานนั้นตั้งอยู่เท่านั้นก็ตามแต่ก็มีข้อยกเว้นว่า การจัดส่งคนหางานให้แก่นายจ้างในต่างประเทศต้องได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานกลางอีกชั้นหนึ่งแสดงให้เห็นว่าพระราชบัญญัติดังกล่าวมีขอบข่ายบังคับรวมทั้งการจัดหางานในประเทศและต่างประเทศดังนั้นการที่จำเลยตั้ง ถ. เป็นตัวแทนจัดหางานในต่างประเทศจึงถือได้ว่าเป็นการมอบอำนาจให้ตัวแทนทำหน้าที่เกี่ยวกับการจัดหางานของตนเมื่อจำเลยมิได้จดทะเบียนตัวแทน ย่อมเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2511 มาตรา 13
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตจัดหางานจากนายทะเบียนจัดหางานจังหวัดสุโขทัย โดยมีสำนักจัดหางานอยู่ในจังหวัดสุโขทัย ได้ร่วมกันกระทำผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกันคือ จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันมอบอำนาจให้ ถ. เป็นตัวแทนจัดหางานโดยจำเลยทั้งสองไม่ได้จดทะเบียนตัวแทนจำเลยทั้งสองร่วมกับ ถ. ใช้อาคารซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานครเป็นสำนักงานจัดหางานตามใบมอบอำนาจของจำเลยทั้งสองจัดหางานให้คนหางานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานกลาง และจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันปฏิบัติฝ่าฝืนเงื่อนไขการขุดใบอนุญาตจัดหางานซึ่งอนุญาตให้จัดหางานได้เฉพาะในเขตจังหวัดสุโขทัย โดยจำเลยทั้งสองร่วมกับพวกที่หลบหนีรับสมัครคนงานและจัดส่งคนหางานให้แก่นายจ้างในต่างประเทศโดยใช้อาคารที่กรุงเทพมหานครดังกล่าวเป็นสำนักงานโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2511 มาตรา 4, 7, 9, 13, 18,27, 28, 29
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากาายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2511 มาตรา 13, 28
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้มีปัญหามาสู่ศาลฎีกาเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางานพ.ศ. 2511 มาตรา 13, 28 หรือไม่ ซึ่งศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน โดยศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1เป็นผู้รับอนุญาตจัดหางานจากนายทะเบียนสำนักงานทะเบียนจัดหางานจังหวัดสุโขทัยโดยมีสำนักงานตั้งอยู่ที่จังหวัดสุโขทัย จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้มอบอำนาจให้ ถ.เป็นตัวแทนผู้มีอำนาจลงนามในสัญญารับจ้างเกี่ยวกับการจัดหางานในต่างประเทศโดยเฉพาะของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 มิได้จดทะเบียนตัวแทนโดยใช้อาคารที่กรุงเทพมหานครดำเนินการรับสมัครคนหางานไปทำงานในต่างประเทศเมื่อฟังข้อเท็จจริงดังนี้แล้วศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คำว่า “จัดหางาน” ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัตินี้บัญญัติความหมายไว้ว่า “การประกอบธุรกิจหางานให้แก่คนหางานหรือหาลูกจ้างให้แก่นายจ้าง” ซึ่งหมายความรวมถึงการประกอบธุรกิจหางานทั้งในประเทศและต่างประเทศให้แก่คนหางาน เพราะกฎกระทรวงฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2511)ออกตามความในพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2511 ข้อ 3กำหนดเงื่อนไขให้ผู้รับอนุญาตจัดหางานติดต่อรับสมัครคนหางาน และจัดส่งคนหางานให้แก่นายจ้างภายในเขตท้องที่จังหวัดที่สำนักงานจัดหางานตั้งอยู่เท่านั้นแต่มีข้อยกเว้นว่า การจัดส่งคนหางานให้แก่นายจ้างในต่างประเทศต้องได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานกลางอีกชั้นหนึ่ง แสดงให้เห็นว่าพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2511 มีขอบข่ายบังคับรวมทั้งการจัดหางานในประเทศและต่างประเทศจึงถือได้ว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 13แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว