คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4455/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่กระทรวงการคลังมีคำสั่งให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลยและของกรรมการผู้จัดการของจำเลยไว้ทั้งหมด ตามมาตรา8วรรคแรกแห่งพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 นั้นจำเลยย่อมไม่สามารถประกอบกิจการต่อไปได้ ซึ่งมีผลต่อไปว่าจำเลยไม่มีงานให้โจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้างทำและจำเลยก็ไม่ได้จ่ายค่าจ้างให้โจทก์ที่ 2 นับแต่วันที่กระทรวงการคลังมีคำสั่งดังกล่าวถึงวันฟ้องเป็นเวลา 3 เดือนเศษจำเลยจึงอยู่ในฐานะที่ไม่มีความสามารถจะจ้างโจทก์ที่ 2 ไว้เป็นลูกจ้างของจำเลยต่อไปได้กรณีถือได้ว่าจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์ที่ 2 แล้ว จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ 2

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องมีใจความว่า โจทก์ทั้งสองเป็นลูกจ้างประจำของจำเลยต่อมาจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ทั้งสองไม่มีความผิด และไม่จ่ายค่าชดเชย และค้างจ่ายค่าจ้างอีกเป็นเงินคนละ 2,000 บาท ขอให้ศาลบังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างค้างจ่ายแก่โจทก์ทั้งสอง

จำเลยทั้งสองสำนวนให้การว่า จำเลยไม่เคยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองจำเลยเคยมีคำสั่งย้ายตำแหน่งหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 โดยได้รับเงินเดือนเท่าเดิม แต่โจทก์ที่ 1 ไม่เข้าทำงานตามคำสั่ง เป็นการสมัครใจที่จะไม่ทำงานต่อไปจนกระทั่งจำเลยถูกดำเนินคดีและกระทรวงการคลังมีคำสั่งให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินและถูกปิดที่ทำการ จึงไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าชดเชย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์ที่ 1 ส่วนโจทก์ที่ 2 ทำงานกับจำเลยจนกระทรวงการคลังมีคำสั่งยึกและอายัดทรัพย์สินนของจำเลยทั้งหมด จนไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ถือว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ที่ 2 และฟังว่าจำเลยค้างจ่ายค่าจ้างโจทก์ทั้งสองจริง พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย และค่าจ้างค้างจ่ายแก่โจทก์ทั้งสอง

จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า อุทธรณ์ของจำเลยที่โต้แย้งคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ที่ 1 หรือไม่นั้นเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงอันต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

จำเลยอุทธรณ์ประการต่อไปว่า กรณีที่จำเลยถูกทางราชการสั่งให้ปิดกิจการ อันจะถือว่าเป็นการเลิกจ้างลูกจ้างนั้น จะต้องเป็นการปิดกิจการเป็นถาวร แต่การปิดกิจการของจำเลยดังกล่าวเป็นกรณีชั่วคราว จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ที่ 2 พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่กระทรวงการคลังมีคำสั่งให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลย และของนายพรชัย สิงหเสมานนท์ กรรมการผู้จัดการของจำเลยไว้ทั้งหมด ตามมาตรา 8 วรรคแรก แห่งพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 นั้นจำเลยย่อมไม่สามารถประกอบกิจการต่อไปได้ ซึ่งมีผลต่อไปว่า จำเลยไม่มีงานให้โจทก์ที่ 2 ทำ และจำเลยก็ไม่ได้จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ที่ 2 นับแต่วันที่21 มกราคม 2530 ซึ่งเป็นวันที่กระทรวงการคลังมีคำสั่งดังกล่าวถึงวันฟ้องเป็นเวลา3 เดือนเศษ ดังนี้จำเลยจึงอยู่ในฐานะที่ไม่มีความสามารถจะจ้างโจทก์ที่ 2 ไว้เป็นลูกจ้างจำเลยต่อไปได้ กรณีจึงถือได้ว่าจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์ที่ 2 แล้ว

พิพากษายืน

Share