คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4129/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับเหมาทำการก่อสร้างทางใช้ถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร ปิดกั้นขวางถนนที่กำลังก่อสร้าง โดยไม่ติดตั้งอุปกรณ์ส่องสว่างเพื่อให้ผู้ที่ขับขี่ยานพาหนะในเวลากลางคืนมีโอกาสเห็นได้ในระยะอันสมควร เป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถจะหยุดรถได้ทัน ทำให้ต้องหักรถหลบพุ่งขึ้นไปบนเกาะกลางถนน ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ประมาทเลินเล่อทำให้ทรัพย์สินของบุคคลอื่นเสียหายส่วนกรมทางหลวงจำเลยที่ 1 มีหน้าที่รับผิดชอบในการซ่อมแซม ก่อสร้างบำรุงรักษาถนนที่เกิดเหตุย่อมมีหน้าที่ควบคุมและจัดให้มีเครื่องหมายหรือป้าย และสัญญาณจราจรในบริเวณก่อสร้าง และปรับปรุงถนนที่เกิดเหตุแม้จะได้กำหนดให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง ดำเนินการก่อสร้างปรับปรุงถนนให้ทำและปิดป้ายจราจร เครื่องหมายกั้น เพื่อความปลอดภัยแก่การจราจรแล้วก็ตาม จำเลยที่ 1 ก็ต้องคอยควบคุมดูแลให้เป็นไปโดยถูกต้อง เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 2 มิได้ติดตั้งให้ถูกต้อง เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายจำเลยที่ 1 ย่อมต้องรับผิดต่อโจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 2 ด้วย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ขับรถด้วยความเร็วมิได้ใช้ความระมัดระวัง โจทก์จึงได้ชื่อ ว่ามีส่วนในความประมาทที่ก่อให้เกิดความเสียหายด้วย.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นกรมในสังกัดกระทรวงมหาดไทยมีหน้าที่ในการก่อสร้างทางหลวง ว่าจ้างและควบคุมผู้รับจ้างในการบำรุงปรับปรุงและก่อสร้างทางหลวงทั่วราชอาณาจักร จำเลยที่ 2เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีวัตถุประสงค์ในการรับเหมาก่อสร้าง ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 รับจ้างจำเลยที่ 1 ปรับปรุงก่อสร้างทางหลวง ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 27 ถึงที่ 29 จำเลยได้ปิดกั้นช่องทางจราจรบนทางหลวงดังกล่าวในช่องทางเดินรถซ้ายมือโดยจำเลยที่ 2 ใช้ถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร จำนวน 3 ถังปิดกั้นเต็มช่องทางเดินรถเพื่อไม่ให้รถผ่าน ตรงจุดที่จำเลยปิดกั้นนี้จำเลยทั้งสองไม่ได้ทำสัญญาณหรือคำเตือนให้ผู้ขับขี่ยวดยานทราบถึงการติดตั้งถังน้ำมันดังกล่าว และไม่ได้ติดสัญญาณไฟตรงจุดที่ปิดกั้นซึ่งตามสัญญาข้อ 10 จะต้องมีป้ายเตือนเริ่มเขตงานก่อสร้างทุกช่วง500 เมตรจะต้องมีแผงกั้น 6 แผงวางเรียงตามแนวถนนเยื้องมาถึงกึ่งกลางช่องทางเดินรถก่อนถึงจุดปิดกั้น 100 เมตร และจะต้องวางถังกลม 5 ถังตามแนวแกนเป็นระยะเท่ากันในช่วง 100 เมตร ตรงจุดปิดกั้น แต่จำเลยทั้งสองมิได้จัดให้มีเครื่องหมายเหล่านี้ จึงเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย คือ จำเลยที่ 1 จงใจหรือประมาทเลินเล่อไม่ควบคุม ตรวจสอบ ให้จำเลยที่ 2 จัดให้มีสัญญาณดังกล่าวและจำเลยที่ 2 ทำผิดกฎหมายโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ไม่จัดให้มีเครื่องหมายสัญญาณดังกล่าว เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2524 เวลาประมาณ 00.30 น. โจทก์ขับรถยนต์เพื่อมุ่งหน้าไปทางถนนวิภาวดีรังสิตเพื่อเข้ากรุงเทพมหานครด้วยความเร็ว 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โจทก์เห็นถังน้ำมัน 3 ถังที่จำเลยทั้งสองนำมาวางตรงจุดปิดกั้นในระยะกระชั้นชิด ไม่สามารถหยุดได้ทันท่วงที จึงพยายามหยุดพร้อมทั้งหักไปทางขวามือเท่าที่สามารถทำได้ โดยโจทก์ไม่สามารถจะมองเห็นเกาะกลางถนน เพราะจำเลยไม่ได้ทำสัญญาณไว้เป็นเหตุให้รถโจทก์พุ่งไปชนเกาะกลางถนนแล้วเลยไปชนเสาปูนซิเมนต์ขนาดใหญ่สูงประมาณ1 ศอก ที่จำเลยที่ 2 ปักไว้บนเกาะกลางถนน เป็นเหตุให้รถยนต์ของโจทก์เสียหายใช้การไม่ได้ คิดเป็นค่าเสียหายรวมทั้งสิ้น 87,575 บาทและระหว่างการซ่อมแซม 4 เดือน โจทก์ต้องเสียค่าเช่ารถคิดเฉลี่ยประมาณวันละ 200 บาท คิดเป็นเงิน 24,000 บาท หลังอุบัติเหตุแล้วรถของโจทก์ต้องเสื่อมราคาไม่น้อยกว่า 40,000 บาท ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินจำนวน 156,757 บาท 25 สตางค์ พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การทำนองเดียวกันว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะโจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์คนหมายเลขทะเบียนกรุงเทพมหานคร 7 ค-0880 จำเลยที่ 1 ที่ 2 มิได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อ โจทก์โทรศัพท์ไปเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยที่ 2 โดยที่จำเลยที่ 2 ก็ไม่ทราบว่าเหตุเกิดจริงหรือไม่ อย่างไรก็ดีแม้จะฟังว่าเหตุได้เกิดขึ้น ก็เป็นเพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์เองราคารถยนต์ใหม่ไม่เกิน 250,000 บาท ขณะเกิดเหตุมีราคาประมาณ 80,000 บาท คำฟ้องเรื่องค่าเสียหายของโจทก์เคลือบคลุมและค่าเสียหายอย่างสูงไม่เกิน 5,000 บาท และไม่ต้องเสียเวลาซ่อมถึง 4 เดือน ใช้เวลาซ่อมเพียง 2 สัปดาห์ก็แล้วเสร็จ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฏีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 2 มิได้ติดตั้งอุปกรณ์การส่องสว่างในเวลากลางคืน การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับเหมาทำการก่อสร้างทางได้ใช้ถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร ปิดกั้นขวางถนนที่กำลังก่อสร้าง โดยไม่ติดตั้งอุปกรณ์ส่องสว่างเพื่อให้ผู้ที่ขับขี่ยานพาหนะในเวลากลางคืนมีโอกาสเห็นได้ในระยะอันสมควรเป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถจะหยุดรถได้ทัน ทำให้ต้องหักรถหลบเป็นเหตุให้รถพุ่งขึ้นไปบนเกาะกลางถนนเช่นนี้ ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ประมาทเลินเล่อทำให้ทรัพย์สินของบุคคลอื่นเสียหาย จำเลยที่ 2จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ฐานละเมิด ส่วนจำเลยที่ 1ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในการซ่อมแซม ก่อสร้างบำรุงรักษาถนนที่เกิดเหตุ ย่อมมีหน้าที่ควบคุมและจัดให้มีเครื่องหมายหรือป้ายและสัญญาณจราจรในบริเวณก่อสร้างปรับปรุงถนนที่เกิดเหตุแม้จะได้กำหนดให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างดำเนินการก่อสร้างปรับปรุงถนนให้ทำและปิดป้ายจราจร เครื่องหมายไม้กั้นเพื่อความปลอดภัยแก่การจราจร จำเลยที่ 1 ก็ต้องคอยควบคุมดูแลให้ผู้รับเหมาก่อสร้างติดตั้งเครื่องหมายและสัญญาณจราจรขึ้นให้ถูกต้อง เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 2 มิได้ติดตั้งให้ถูกต้องแล้วและเป็นเหตุให้เกิดความเสียหาย จำเลยที่ 1 ก็ย่อมจะต้องรับผิดต่อโจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 2 ด้วย อย่างไรก็ตาม…ฟังได้ว่าโจทก์ขับรถด้วยความเร็วโดยมิได้ใช้ความระมัดระวังประกอบกับเมื่อตอนขามาโจทก์ก็ได้ขับรถผ่านถนนช่วงที่เกิดเหตุนี้มาแล้วครั้งหนึ่งในตอนขากลับโจทก์น่าที่จะรู้อยู่ก่อนแล้วว่ามีทางที่กำลังก่อสร้างอยู่ข้างหน้า แต่โจทก์ก็มิได้ใช้ความระมัดระวัง คงขับรถด้วยความเร็วจึงได้เกิดเหตุขึ้น โจทก์จึงได้ชื่อว่ามีส่วนในความประมาทที่ก่อให้เกิดความเสียหายด้วย และหากจะพิเคราะห์ความประมาทระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสองแล้ว เห็นว่าจำเลยทั้งสองมีส่วนในความประมาทมากกว่าเพราะการที่จำเลยทั้งสองใช้ถังปิดกั้นขวางถนนไว้ในเวลากลางคืนโดยไม่มีอุปกรณ์การส่องสว่างเช่นนั้น อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ที่ใช้ยวดยานในเวลากลางคืนได้ง่าย…จำเลยทั้งสองมีส่วนประมาทในการที่ก่อให้เกิดความเสียหายมากกว่า จึงให้จำเลยทั้งสองรับผิดชดใช้ค่าเสียหายสองในสามส่วนของค่าเสียหายทั้งหมด
พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ เป็นเงิน 36,333 บาท 33 สตางค์ พร้อมดอกเบี้ย.

Share