คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4109/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เครื่องววอเตอร์ซิลเลอร์ เป็นเครื่องปรับอากาศที่อาศัยน้ำเป็นตัวสื่อทำความเย็น ไม่ใช่เครื่องทำน้ำเย็น เมื่อโจทก์นำเข้ามาเพื่อใช้ในการอุตสาหกรรม โจทก์จึงมีสิทธิได้ลดอากรเหลืออัตราร้อยละ 30 ตามประกาศกระทรวงการคลังที่ศก.10/2525.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์นำเครื่องปรับอากาศระบบน้ำเย็นหมุนเวียนมีชื่อว่า วอเตอร์ ซิลเลอร์ จากต่างประเทศเข้ามาเพื่อใช้ในกิจการอุตสาหกรรมของโจทก์ 1 เครื่อง โจทก์ยื่นแบบรายการของนำเข้าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่กองพิกัดในพิกัดอัตราศุลกากรรวมร้อยละ 33 คิดเป็นเงินอากรขาเข้า 747,892.61 บาทแต่เจ้าหน้าที่เห็นว่าของที่นำเข้าเป็นเครื่องทำความเย็นครบชุดสมบูรณ์มิใช่เครื่องปรับอากาศที่ใช้ในอุตสาหกรรม ที่อยู่ในข่ายได้ลดอากรตามประกาศกระทรวงการคลังที่ ศก.10/2525 จึงประเมินเรียกเก็บอากรขาเข้าจากโจทก์ในอัตราปกติ รวมอัตราร้อยละ 66 คิดเป็นเงินอากร 1,495,785.23 บาท ซึ่งเป็นการไม่ถูกต้องโจทก์ชำระเงินไปและมีหนังสือโต้แย้งไว้แล้ว ขอให้บังคับจำเลยคืนเงิน 747,892.61 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า วอเตอร์ ซิลเลอร์ เป็นเครื่องทำความเย็น หรือเครื่องสำหรับทำน้ำให้เย็น มิใช่เป็นเครื่องปรับอากาศสำหรับใช้ในการอุตสาหกรรม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยตามฟ้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2503ได้กำหนดพิกัดอัตราอากรขาเข้า ประเภทที่ 84.12 ได้แก่เครื่องปรับอากาศที่มีเครื่องครบในตัว ประกอบด้วยพัดลมที่ใช้มอเตอร์และเครื่องเปลี่ยนอุณหภูมิและความชื้นของอากาศประเภทที่ 84.15 ได้แก่ ตู้เย็น เครื่องทำความเย็น ทั้งชนิดที่ใช้ไฟฟ้าและชนิดอื่น นอกจากพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากรดังกล่าวแล้ว ยังมีประกาศกรมศุลกากรเรื่อง แจ้งอัตราอากร ในกรณีมีปัญหาในการตีความพิกัดอัตราอากรขาเข้าเกี่ยวกับเครื่องปรับอากาศเครื่องทำความเย็น ตู้เย็น และส่วนประกอบของสิ่งดังกล่าวไว้ในประกาศได้กำหนดประเภทของเครื่องปรับอากาศไว้ 3 ชนิด คือ1.เครื่องปรับอากาศชนิดที่มีเครื่องครบในตัว(SELFCONTAINEDAIRCONDITIONINGMACHINE)2.เครื่องปรับอากาศชนิดแยกส่วน(SPLITTYPE) และ 3.เครื่องปรับอากาศชนิดIINDIRECTCOOL
สำหรับเครื่องทำความเย็นนั้นในประกาศกรมศุลกากรได้กำหนดไว้ว่า ‘เครื่องทำความเย็น โดยทั่ว ๆ ไป มีส่วนประกอบที่มีสาระสำคัญ 3 ส่วนคือ COMPRESSOR,CONDENSER และ EVAPORATOR ให้จัดเข้าพิกัด ฯ ประเภทที่ 84.15 ค. เช่น เครื่องทำน้ำเย็นเครื่องทำน้ำแข็ง เครื่องทำไอศกรีม ห้องเย็นสำเร็จรูปเครื่องทำความเย็นสำหรับห้องเย็น ซึ่งประกอบด้วย CONDENSINGUNITและ EVAPORATOR ที่แยกอยู่ต่างหากจากกัน แต่มีท่อต่อถึงกันเป็นต้น’ จะเห็นได้ว่า ตามพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากรและประกาศกรมศุลกากรดังกล่าวมาแล้วนั้น เครื่องปรับอากาศ และเครื่องทำความเย็นแตกต่างกัน เช่น เครื่องทำน้ำเย็น(เครื่องทำน้ำให้เย็นเพื่อใช้ดื่มหรือเพื่อความประสงค์อื่น)เป็นเครื่องทำความเย็น มิใช่เครื่องปรับอากาศ
สำหรับเครื่องวอเตอร์ ซิลเลอร์ ที่โจทก์นำเข้านั้นในฎีกาของจำเลยที่อ้างว่า เป็นเครื่องทำน้ำเย็นหรือทำความเย็นครบชุดสมบูรณ์ชนิดที่เรียกว่าอินไดเร็คคูล (INDIRECTCOOL) นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าเป็นข้ออ้างที่สับสนและไม่ถูกต้องเพราะเครื่องทำน้ำเย็นนั้น ตามประกาศกรมศุลกากร กำหนดให้ถือว่าเป็นเครื่องทำความเย็น ซึ่งมิใช่เครื่องปรับอากาศ ยิ่งกว่านั้น เครื่องชนิดที่เรียกว่าINDIRECTCOOL นั้น ตามประกาศกรมศุลกากรดังกล่าวถือว่าเป็นเครื่องปรับอากาศชนิดหนึ่งดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น และจะเห็นได้จากคำเบิกความของดร.ศิริลักษณ์ พยานโจทก์ตอบคำถามค้านทนายจำเลยว่า ‘เครื่อง วอเตอร์ ซิลเลอร์นี้ใช้ระบบน้ำเย็นหมุนเวียน เป็นสื่อทำความเย็น ไม่ใช่เครื่องที่จะทำให้น้ำเย็นเครื่องวอเตอร์ ซิลเลอร์ นี้ไม่มีใครนำเอามาทำน้ำเย็นเพื่อการอุตสาหกรรม’
ที่จำเลยฎีกายกคำเบิกความของนายสมชายมาอ้างว่าเครื่องวอเตอร์ ซิลเลอร์ ที่โจทก์นำเข้าเป็นเครื่องทำน้ำเย็นจึงจัดเป็นเครื่องทำความเย็น เป็นส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศมิใช่เป็นเครื่องปรับอากาศถ้าจะใช้เป็นเครื่องปรับอากาศจะต้องมีท่อนำน้ำเย็นจากเครื่องวอเตอร์ ซิลเลอร์ไปยังห้องแอร์ชามเบอร์ แล้วใช้พัดลมเป่าความเย็นไปใช้ปรับอากาศนั้นเห็นว่าคำเบิกความของนายสมชายพยานจำเลยดังกล่าวแสดงว่าจำเลยยอมรับว่าเมื่อนำเครื่องวอเตอร์ ซิลเลอร์ มาใช้รวมกับท่อน้ำ ห้องแอร์ชามเบอร์ และพัดลมแล้วถือว่าเป็นเครื่องปรับอากาศ ดังนั้นปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปจึงมีว่าเครื่องวอเตอร์ ซิลเลอร์ เป็นส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศคือ ท่อน้ำ ห้องแอร์ชามเบอร์และพัดลม หรือท่อน้ำ ห้องแอร์ชามเบอร์และพัดลมเป็นส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศคือเครื่องวอเตอร์ ซิลเลอร์ ซึ่งทั้งสองฝ่ายนำสืบโต้เถียงกันศาลฎีกาได้พิเคราะห์ข้อโต้เถียงทั้งสองฝ่ายและพิจารณาเปรียบเทียบเครื่องวอเตอร์ ซิลเลอร์ กับท่อน้ำ ห้องแอร์ชามเบอร์และพัดลมแล้วเห็นว่าเครื่องวอเตอร์ ซิลเลอร์ คือตัวเครื่องปรับอากาศโดยตรง เป็นเครื่องปรับอากาศที่อาศัยน้ำเป็นตัวสื่อทำความเย็น ไม่ใช่เครื่องทำน้ำเย็น มิใช่ส่วนประกอบของท่อน้ำห้องแอร์ชามเบอร์ และพัดลม เมื่อโจทก์นำเข้ามาเพื่อใช้ในการอุตสาหกรรมผลิตเส้นด้ายไนลอน เส้นใยไนลอน และเส้นใยเทียมโจทก์จึงมีสิทธิที่จะได้ลดอากรเหลืออัตราร้อยละ 30 ตามประกาศกระทรวงการคลังที่ ศก.10/2525 ข้อ 2 ประเภทที่ 84.15 ของบัญชีท้ายประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องยกเลิกการลดและลดอัตราอากรศุลกากร และกำหนดให้ของไม่ต้องเสียอากรศุลกากรลงวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2525
พิพากษายืน.

Share