คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14755/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

สิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามสัญญาขายลดตั๋วเงินไม่ใช่เป็นสัญญาซื้อขายตาม ป.พ.พ.บรรพ 3 ลักษณะ 1 ซึ่งมีอายุความ 2 ปี แต่เป็นสัญญาที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 คือมีอายุความ 10 ปี ฟ้องโจทก์ในส่วนนี้จึงไม่ขาดอายุความ
จำเลยที่ 1 ตกลงให้ดอกเบี้ยแก่ธนาคาร ศ. ในอัตราเอ็มโออาร์ บวกร้อยละ 2 ต่อปี และถ้าต่อไปธนาคารกำหนดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้นไปอีกหรืออัตราต่ำลง จำเลยที่ 1 ยอมรับที่จะปรับอัตราดอกเบี้ยให้เป็นไปตามที่ธนาคารจะได้กำหนดขึ้นใหม่โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราตามที่กำหนดในสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีดังกล่าว ดังนั้น เมื่อสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เลิกกัน โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ในอัตราดังกล่าวได้แบบไม่ทบต้นจนกว่าจะได้รับชำระหนี้เสร็จสิ้น อันเป็นสิทธิตามสัญญาที่ถือได้โดยชอบมาแต่เดิม เมื่อข้อสัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงกันให้คิดดอกเบี้ยอัตราเอ็มโออาร์บวกร้อยละ 2 ต่อปีตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยที่อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บดอกเบี้ยได้ตามอัตราที่จะประกาศกำหนด ฉะนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดดอกเบี้ยสำหรับหนี้เบิกเงินเกินบัญชีอัตราร้อยละ 13 ต่อปี คงที่ตลอดไปนั้นจึงไม่ถูกต้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 50,880,512.43 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 20.75 ต่อปี ของต้นเงิน 32,055,826 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 2007 และ 9641 ตำบลท่าเสา อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร ออกขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 3 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น บริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 7 ศาลชั้นต้นอุนญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้เบิกเงินเกินบัญชี 5,430,173.76 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 18 เมษายน 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้ร่วมกันชำระหนี้เงินกู้ 20,200,931.61 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13 ต่อปี ของต้นเงิน 16,229,222.89 บาท นับแต่วันที่ 1 เมษายน 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 2007 และ 9641 ตำบลท่าเสา อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ออกขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์ หากขายได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์จนครบถ้วน กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยที่ 3 อุทธรณ์โดยจำเลยที่ 3 ได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 10,396,429.35 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงินตามเช็คแต่ละฉบับนับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คแต่ละฉบับเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 3 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “…ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า การขายลดตั๋วเงินเป็นการซื้อขายตั๋วเงิน เพราะจำเลยที่ 1 ได้ส่งมอบตั๋วเงินให้แก่โจทก์ถือว่าการซื้อขายเสร็จสมบูรณ์เมื่อโจทก์ฟ้องเกินกำหนด 2 ปี จึงขาดอายุความนั้น เห็นว่า สิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามสัญญาขายลดตั๋วเงินไม่ใช่เป็นสัญญาซื้อขายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 1 ซึ่งมีอายุความ 2 ปี แต่เป็นสัญญาที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 คือมีอายุความ 10 ปี ฟ้องโจทก์ในส่วนนี้จึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
จำเลยที่ 3 ฎีกาประการสุดท้ายว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในหนี้เบิกเงินเกินบัญชีนับแต่วันที่ 17 เมษายน 2540 (ที่ถูก วันที่ 18 เมษายน 2540) ในอัตราเพียงใด โดยจำเลยที่ 3 ฎีกาว่า ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี แผ่นที่ 2 มิได้ระบุอัตราดอกเบี้ยภายหลังเลิกสัญญาไว้ เมื่อสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเลิกกัน โจทก์จึงมีสิทธิได้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนั้น เห็นว่า ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีระบุว่าจำเลยที่ 1 ตกลงให้ดอกเบี้ยแก่ธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน) ในอัตราเอ็มโออาร์บวกร้อยละ 2 ต่อปี และถ้าต่อไปธนาคารกำหนดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้นไปอีกหรืออัตราต่ำลง จำเลยที่ 1 ยอมรับที่จะปรับอัตราดอกเบี้ยให้เป็นไปตามที่ธนาคารจะได้กำหนดขึ้นใหม่ พยานหลักฐานโจทก์รับฟังได้ว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราตามที่กำหนดในสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีดังกล่าว ดังนั้น เมื่อสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เลิกกัน โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ในอัตราดังกล่าวได้แบบไม่ทบต้นจนกว่าจะได้รับชำระหนี้เสร็จสิ้น อันเป็นสิทธิตามสัญญาที่ถือได้โดยชอบมาแต่เดิม ฎีกาของจำเลยที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน แต่ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 13 ต่อปี นับแต่วันที่ 18 เมษายน 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จนั้น เห็นว่า ข้อสัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงกันให้คิดดอกเบี้ยอัตราเอ็มโออาร์บวกร้อยละ 2 ต่อปี ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ที่อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บดอกเบี้ยได้ตามอัตราที่จะประกาศกำหนด ฉะนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดดอกเบี้ยสำหรับหนี้เบิกเงินเกินบัญชีอัตราร้อยละ 13 ต่อปี คงที่ตลอดไปนั้นจึงไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข ส่วนฎีกาข้ออื่นของจำเลยที่ 3 ไม่เป็นสาระแก่คดี ไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสามในหนี้เบิกเงินเกินบัญชีนับแต่วันที่ 18 เมษายน 2540 ในอัตราเอ็มโออาร์บวกร้อยละ 2 ต่อปี ตามประกาศธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน) ที่ออกตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน) ควบรวมกิจการกับธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ให้ใช้ประกาศของธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ที่ออกตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยแทน จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์แต่ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยต้องไม่เกินร้อยละ 13 ต่อปี ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7

Share