คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3558/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์สองคนฟ้องขอให้จำเลยใช้ค่าเสียหายรวมเป็นเงิน60,619 บาท โดยโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ครอบครองรถยนต์คันที่ถูกชนเรียกร้องค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ กับค่าที่รถยนต์เสื่อมราคารวมเป็นเงิน 27,500 บาทและโจทก์ที่ 2 ในฐานะผู้รับประกันภัยเรียกร้องเงินที่ได้ชดใช้ค่าเสียหายในการซ่อมรถยนต์และค่าลากจูงรถยนต์คันเกิดเหตุไปทำการซ่อมรวมเป็นเงิน 30,809 บาทดังนี้ไม่ใช่เป็นหนี้ร่วมที่ไม่อาจจะแบ่งแยกได้ โจทก์แต่ละคนฟ้องให้จำเลยรับผิดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวจึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ไม่เกินห้าหมื่นบาทและศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ย่อมต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248
จำเลยที่ 3 รับประกันภัยรถยนต์คันเกิดเหตุไว้จากจำเลยร่วมแม้จะปรากฏตามคำฟ้องของโจทก์แต่แรกว่า จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์และจำเลยที่ 3 ได้รับประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าวไว้จากจำเลยที่ 2 ก็ตามแต่ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีโดยอ้างว่าปรากฏข้อเท็จจริงใหม่ภายหลังว่า จำเลยร่วมเป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์คันนี้และเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 ซึ่งตามคำร้องแสดงให้เห็นว่าจำเลยร่วมเป็นผู้เอาประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าวไว้กับจำเลยที่ 3 ด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ฟังว่าจำเลยที่ 3 รับประกันภัยรถยนต์ไว้จากจำเลยร่วม จึงไม่เป็นการฟังข้อเท็จจริงนอกคำฟ้องและคำให้การ.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 80 – 1481 นครสวรรค์ โจทก์ที่ 2 รับประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าวจากโจทก์ที่ 1 จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 70 – 0088 เพชรบุรีจำเลยที่ 3 ได้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน70 – 0088 เพชรบุรี ไว้จากจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2523จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ได้ขับรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 70 – 0088 เพชรบุรี ไปตามถนนราชดำริมุ่งหน้าไปทางสี่แยกประตูน้ำตามคำสั่งหรือในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ด้วยความเร็วสูง เมื่อมาถึงบริเวณสี่แยกราชประสงค์ได้ขับรถล้ำเข้ามาในช่องทางวิ่งที่รถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 80 – 1481 นครสวรรค์ของโจทก์ที่ 1 จอดรอสัญญาณไฟแดงอยู่ เป็นเหตุให้รถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับพุ่งเข้าชนท้ายรถยนต์ของโจทก์ที่ 1 แล้วรถยนต์ของโจทก์ที่ 1พุ่งชนท้ายรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 02547 ขอนแก่นที่จอดรอสัญญาณไฟแดงอยู่ข้างหน้า ทำให้รถยนต์ของโจทก์ที่ 1ได้รับความเสียหาย โจทก์ที่ 1 ต้องขาดประโยชน์จากการใช้รถในการประกอบกิจการบรรทุกสินค้า วันละ 500 บาท เป็นเงิน17,500 บาท และต้องเสียหายที่รถเสื่อมราคาเป็นเงิน 10,000บาท รวมเป็นเงิน 27,500 บาท โจทก์ที่ 2 ในฐานผู้รับประกันภัยรถยนต์ต้องชดใช้ค่าเสียหายในการซ่อมรถเป็นเงิน 27,009 บาทและค่าลากจูงรถจากที่เกิดเหตุไปทำการซ่อมเป็นเงิน 3,800บาท รวมเป็นเงิน 30,809 บาทแทนโจทก์ที่ 1 คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันทำละเมิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 2,310 บาท รวมเป็นเงิน 33,119 บาทขอให้พิพากษาบังคับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายรวมเป็นเงิน 60,619 บาทแก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 58,309 บาทนับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นลูกจ้างขับรถในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 โจทก์ที่ 1 ไม่ได้เป็นเจ้าของรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 80 – 1481 นครสวรรค์ และมิได้เป็นผู้เอาประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าวกับโจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 2 ไม่ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นผู้เอาประกันภัยรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 70 – 0088 เพชรบุรีไว้กับจำเลยที่ 3 เหตุที่รถชนกันเกิดจากความประมาทของผู้ขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 80 – 1481 นครสวรรค์ ที่ขับด้วยความเร็วสูงและแซงรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 70 – 0088 เพชรบุรีในระยะกระชั้นชิด
ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องขอให้เรียกนายชูศักดิ์ แซ่ก๊วย เข้ามาเป็นจำเลยร่วมเพื่อให้รับผิดร่วมกับจำเลยอื่นโดยอ้างว่าปรากฏข้อเท็จจริงใหม่ภายหลังจากยื่นฟ้องคดีนี้ว่า นายชูศักดิ์เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 70 – 0088 เพชรบุรี และเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 ซึ่งกระทำละเมิดโดยขับรถยนต์คันดังกล่าวไปในทางการที่จ้างของนายชูศักดิ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
จำเลยร่วมให้การว่า จำเลยร่วมมิได้เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 70 – 0088 เพชรบุรี และจำเลยร่วมมิได้เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 เหตุที่รถชนกันเกิดจากความประมาทของผู้ขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 80 – 1481 นครสวรรค์ ที่ขับรถด้วยความเร็วสูงและขับแซงรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 70 – 0088เพชรบุรี ในระยะกระชั้นชิด
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 จำเลยร่วม และจำเลยที่ 3ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 13,750 บาทพร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันทำละเมิด (วันที่ 9 ธันวาคม 2523) จนกว่าจะชำระเสร็จและให้จำเลยที่ 1 จำเลยร่วม และจำเลยที่ 3 ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 30,809 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 2 ธันวาคม 2524)จนกว่าจะชำระเสร็จคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 3 และจำเลยร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 3 และจำเลยร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้คดีนี้โจทก์จะฟ้องขอให้จำเลยร่วมกันใช้ค่าเสียหายรวมเป็นเงิน 60,619 บาทแก่โจทก์ แต่จำนวนเงินค่าเสียหายที่โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 แต่ละคนมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยร่วมกันรับผิดชดใช้ให้นั้น สำหรับโจทก์ที่ 1 เป็นจำนวนเงิน 27,500 บาท และโจทก์ที่ 2 เป็นจำนวนเงิน 33,119 บาท ไม่ใช่เป็นหนี้ร่วมที่ไม่อาจจะแบ่งแยกได้ ที่โจทก์ทั้งสองแต่ละคนฟ้องให้จำเลยร่วมกันรับผิดใช้ค่าเสียหายนั้น เป็นคดีมีทุนทรัพย์ไม่เกินห้าหมื่นบาท และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248
ส่วนข้อที่จำเลยฎีกาว่า ที่ศาลอุทธรณ์ฟังว่าจำเลยที่ 3รับประกันภัยรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 70 – 0088 เพชรบุรี ไว้จากจำเลยร่วม เป็นการฟังข้อเท็จจริงนอกคำฟ้อง คำให้การ นั้นศาลฎีกาเห็นว่า แม้จะปรากฏตามคำฟ้องของโจทก์แต่แรกว่าจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน70 – 0088 เพชรบุรีจำเลยที่ 3 ได้รับประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าวไว้จากจำเลยที่ 2 ก็ตามแต่ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีโดยอ้างว่าปรากฏข้อเท็จจริงใหม่ภายหลังว่า จำเลยร่วมเป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์คันนี้ และเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 ซึ่งตามคำร้องดังกล่าวก็เป็นการแสดงให้เห็นแล้วว่าจำเลยร่วมเป็นผู้เอาประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าวไว้กับจำเลยที่ 3 ด้วยดังนั้นการที่ศาลอุทธรณ์ฟังว่าจำเลยที่ 3 รับประกันภัยรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 70 – 0088 เพชรบุรีไว้จากจำเลยร่วม จึงไม่ใช่เป็นการฟังข้อเท็จจริงนอกคำฟ้องและคำให้การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share