คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5799/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลได้มีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแล้วต่อมาผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านว่าผู้ร้องมิใช่บุตรของผู้ตายและมิได้เป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกขอให้มีคำสั่งถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายและตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกแทนศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ถอนผู้ร้องออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายและมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกแทนศาลอุทธรณ์พิพากษายืนผู้ร้องฎีการะหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาผู้คัดค้านถึงแก่กรรมผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้จำหน่ายคดีศาลฎีกาอนุญาตให้จำหน่ายคดีในส่วนของผู้คัดค้านเสียจากสารบบความแต่ยังคงวินิจฉัยประเด็นที่ว่าผู้ร้องเป็นบุตรของผู้ตายหรือไม่ต่อไป คดีที่ไม่มีการชี้สองสถานผู้คัดค้านยื่นบัญชีระบุพยานครั้งแรกเมื่อวันที่7ตุลาคม2535เป็นระยะเวลาก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวันโดยศาลชั้นต้นไต่สวนไว้วันที่12พฤศจิกายน2535และเลื่อนไปนัดไต่สวนวันที่17ธันวาคม2535แล้วเลื่อนไปนัดไต่สวนวันที่18มกราคม2536ผู้คัดค้านยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมครั้งที่1เมื่อวันที่18ธันวาคม2535ซึ่งเป็นระยะเวลาก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวันอันเป็นการชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา88วรรคสองและวรรคสามต่อมาศาลชั้นต้นนัดและไต่สวนพยานผู้คัดค้านในวันที่24กุมภาพันธ์2536ในวันเดียวกันนี้แต่ก่อนไต่สวนผู้คัดค้านยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมครั้งที่2หนึ่งอันดับคือทะเบียนบ้านซึ่งแสดงว่าผู้คัดค้านเป็นบุตรของผู้ตายผู้ร้องมิได้แถลงคัดค้านแต่กลับยอมรับด้วยว่าผู้คัดค้านเป็นบุตรของผู้ตายจึงไม่เป็นการเอารัดเอาเปรียบหรือทำให้ผู้ร้องเสียเปรียบประกอบกับคดีมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่าผู้คัดค้านเป็นบุตรของผู้ตายหรือไม่ด้วยมิใช่มีแต่เพียงประเด็นที่ว่าผู้ร้องเป็นบุตรของผู้ตายหรือไม่และมีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกหรือไม่จึงถือได้ว่าเป็นกรณีจำเป็นจะต้องสืบพยานหลักฐานที่ขออนุญาตระบุเพิ่มเติมนี้เพื่อให้การวินิจฉัยชี้ขาดข้อสำคัญแห่งประเด็นเป็นไปโดยเที่ยงธรรมศาลชั้นต้นใช้คำสั่งอนุญาตให้ผู้คัดค้านระบุพยานเพิ่มเติมครั้งที่2ชอบด้วยกฎหมายแล้ว

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลได้มีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนางเข็ม ชาญสมร ผู้ตาย
ผู้คัดค้านซึ่งเป็นบุตรของผู้ตายยื่นคำร้องคัดค้านว่า ผู้ร้องมิใช่บุตรของผู้ตายและมิได้เป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดก ขอให้มีคำสั่งถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายและตั้งผู้คัดค้านซึ่งเป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติไม่ต้องห้ามตามกฎหมายให้เป็นผู้จัดการมรดกแทน
ผู้ร้องแถลงคัดค้านว่า ผู้ร้องเป็นบุตรของนายโชติ ชาญสมรกับผู้ตายและผู้ร้องมีคุณสมบัติครบถ้วนกับเหมาะสมเป็นผู้จัดการมรดกไม่มีความจำเป็นต้องให้ผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดก
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งให้ถอนผู้ร้องออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย และมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกแทน
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา นางสาวชลอ ชาญสมรผู้คัดค้านถึงแก่กรรม ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้จำหน่ายคดี ศาลฎีกาอนุญาตให้จำหน่ายคดีในส่วนของผู้คัดค้านเสียจากสารบบความและวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องในประเด็นแรกว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้คัดค้านยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมฉบับลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2536 หนึ่งอันดับ คือทะเบียนบ้านซึ่งแสดงว่าผู้คัดค้านเป็นบุตรของผู้ตายนั้นเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ปรากฏว่าคดีนี้ไม่มีการชี้สองสถานผู้คัดค้านยื่นบัญชีระบุพยานครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2535เป็นระยะเวลาก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน โดยศาลชั้นต้นนัดไต่สวนไว้วันที่ 12 พฤศจิกายน 2535 และเลื่อนไปนัดไต่สวนวันที่17 ธันวาคม 2535 แล้วเลื่อนไปตัดไต่สวนวันที่ 18 มกราคม 2536ผู้คัดค้านยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมครั้งที่ 1 เมื่อวันที่18 ธันวาคม 2535 ซึ่งเป็นระยะเวลาก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวันอันเป็นการชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 88 วรรคสองและวรรคสาม ต่อมาศาลชั้นต้นนัดและไต่สวนพยานผู้คัดค้านในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2536 ในวันเดียวกันนี้แต่ก่อนไต่สวน ผู้คัดค้านยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมครั้งที่ 2หนึ่งอันดับ คือทะเบียนบ้านซึ่งแสดงว่าผู้คัดค้านเป็นบุตรของผู้ตายโดยอ้างเหตุผลในคำร้องว่าเป็นพยานสำคัญยิ่งในการวินิจฉัยประเด็นแห่งคดี พิเคราะห์แล้ว เห็นว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 บัญญัติไว้เพื่อมิให้มีการจู่โจมกันทางพยานหรือเอารัดเอาเปรียบกันในการสืบพยานซึ่งกรณีคดีนี้ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขออนุญาตระบุพยานเพิ่มเติมคือทะเบียนบ้าน ซึ่งเป็นพยานหลักฐานแสดงว่า ผู้คัดค้านเป็นบุตรของผู้ตายและก็ปรากฏว่าผู้ร้องมิได้แถลงคัดค้านแต่กลับยอมรับด้วยว่าผู้คัดค้านเป็นบุตรของผู้ตาย จึงไม่เป็นการเอารัดเอาเปรียบหรือทำให้ผู้ร้องเสียเปรียบแต่อย่างใด ประกอบกับคดีนี้ก็มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่าผู้คัดค้านเป็นบุตรของผู้ตายหรือไม่ด้วย มิใช่มีแต่เพียงประเด็นที่ว่าผู้ร้องเป็นบุตรของผู้ตายหรือไม่และมีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกหรือไม่ดังที่ผู้ร้องฎีกา จึงถือได้ว่าเป็นกรณีจำเป็นจะต้องสืบพยานหลักฐานที่ขออนุญาตระบุเพิ่มเติมนี้เพื่อให้การวินิจฉัยชี้ขาดข้อสำคัญแห่งประเด็นเป็นไปโดยเที่ยงธรรม ที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้คัดค้านระบุพยานเพิ่มเติมครั้งที่ 2 ดังกล่าวและศาลอุทธรณ์ภาค 2 เห็นชอบด้วยนั้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องในประเด็นที่สองต่อไปว่าผู้ร้องเป็นบุตรของผู้ตายหรือไม่ พยานหลักฐานของผู้คัดค้านมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของผู้ร้อง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้ร้องไม่ได้เป็นบุตรของผู้ตายและไม่มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตายกรณีจึงมีเหตุสมควรถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1727 วรรคหนึ่ง
พิพากษายืน

Share