คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3099/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ร้องรับโอนสิทธิการเช่าที่ดินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์พร้อมอาคารมาจากจำเลยและภริยาจำเลย แต่ยังค้างชำระค่าโอนสิทธิการเช่าอยู่อีกจำนวนหนึ่ง หลังจากการโอนสิทธิการเช่าดังกล่าวแล้ว ศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยหย่ากับภริยา คดียังไม่ถึงที่สุด และภริยาจำเลยฟ้องผู้ร้องให้ชำระค่าโอนสิทธิการเช่าที่ยังคงค้างชำระอยู่นั้น ดังนั้น จำเลยจึงยังเป็นเจ้าของรวมในเงินค่าโอนสิทธิการเช่าที่ยังคงค้างชำระดังกล่าวอยู่ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยจึงมีสิทธิขอให้ศาลมีคำสั่งอายัดสิทธิเรียกร้องในค่าโอนสิทธิการเช่าของจำเลยที่มีต่อผู้ร้องดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 310(3) ประกอบด้วย มาตรา 311 แม้สิทธิเรียกร้องดังกล่าวจะยังพิพาทเป็นคดีกันอยู่ระหว่างผู้ร้องกับภริยาจำเลยก็ตาม.

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระเงินกู้และดอกเบี้ย ศาลชั้นต้นได้พิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยชำระเงินกู้พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ภายใน 5 วันนับแต่วันทำสัญญายอมความ ต่อมาจำเลยไม่ปฏิบัติตาม โจทก์จึงขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีอายัดเงินค่าโอนสิทธิการเช่าที่ดินและอาคาร จำนวน 400,000 บาทที่ผู้ร้องจะต้องชำระให้จำเลยโดยให้ผู้ร้องนำมาวางศาลตามจำนวนในคำพิพากษา
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งอายัดอ้างว่าค่าโอนสิทธิการเช่าที่ดินและอาคารตามหมายอายัดไม่ใช่ของจำเลย แต่เป็นของนางเกษร ภริยาจำเลยซึ่งมีเงื่อนไขข้อโต้แย้งอยู่กับผู้ร้องและคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี
โจทก์คัดค้าน
ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องแล้ว มีคำสั่งเพิกถอนหมายอายัดดังกล่าว
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้มีคำสั่งอายัดสิทธิเรียกร้องของจำเลยอันมีต่อผู้ร้อง โดยผู้ร้องจะต้องนำเงินมาวางศาลเมื่อมีหน้าที่จะต้องชำระหนี้ตามคำพิพากษา
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงได้ความตามที่โจทก์และผู้ร้องแถลงรับกันว่า จำเลยเคยจดทะเบียนสมรสกับนางเกษร ต่อมาวันที่4 มีนาคม 2523 จำเลยและนางเกษรร่วมกันทำหนังสือโอนสิทธิการเช่าที่ดินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งมีตึก 1 คูหา 3 ชั้นเลขที่ 59/28 ปลูกอยู่ให้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับโอนโดยผู้รับโอนโดยผู้รับโอนจะต้องจ่ายเงินให้จำเลยและนางเกษรเป็นเงิน 1,000,000 บาท โดยผ่อนจ่ายเป็นงวดๆ ต่อมาผู้ร้องก็ทำสัญญาเช่ากับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาให้นางเกษรจดทะเบียนหย่ากับจำเลยและแบ่งสิทธิการเช่าที่ดินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์พร้อมตึกแถวเลขที่ 59/29และสิทธิการเช่าบ้านเลขที่ 59 ให้จำเลยครึ่งหนึ่ง แต่คดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์ และนางเกษรได้เป็นโจทก์ฟ้องผู้ร้องฐานผิดสัญญารับโอนสิทธิการเช่า โดยขอให้บังคับผู้ร้องให้ชำระเงิน 413,750 บาท
ปัญหาว่าโจทก์มีสิทธิขอให้ออกหมายอายัดสิทธิเรียกร้องของจำเลยอันมีต่อผู้ร้องหรือไม่ เห็นว่าข้อเท็จจริงฟังได้จากฎีกาของผู้ร้องเองว่าผู้ร้องยังค้างชำระเงินค่าโอนสิทธิการเช่าที่ดินและอาคารให้จำเลยและนางเกษรภริยาจำเลยเป็นเงิน 400,000 บาท และข้อเท็จจริงรับกันฟังได้ด้วยว่าคดีฟ้องหย่าระหว่างจำเลยและภริยายังไม่ถึงที่สุด ดังนั้นจำเลยจึงยังเป็นเจ้าของร่วมในเงินจำนวนดังกล่าวอยู่ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยจึงมีสิทธิเข้าจัดการกับสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่มีต่อผู้ร้องดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 310 (3) ประกอบด้วยมาตรา 311โดยวิธีขอให้ศาลออกคำสั่งอายัดไว้ และตามมาตรา 311วรรคสองก็บัญญัติว่าคำสั่งอายัดนั้น อาจออกให้ได้ไม่ว่าหนี้ของบุคคลภายนอกนั้นจะมีข้อโต้แย้งหรือมีข้อจำกัดหรือเงื่อนไข หรือว่าได้กำหนดจำนวนไว้แน่นอนหรือไม่ ดังนั้น แม้สิทธิเรียกร้องดังกล่าวจะยังพิพาทกันเป็นคดีอยู่ ศาลก็มีอำนาจอายัดได้ที่ผู้ร้องฎีกาว่านางเกษรเจ้าของร่วมกับจำเลยได้ใช้สิทธิเรียกร้องเงินที่ค้างจากผู้ร้องโดยการฟ้องคดีแล้ว โจทก์หมดสิทธิจะอายัดจึงฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ผู้ร้องนำเงินมาวางศาลเมื่อมีหน้าที่จะต้องชำระหนี้ตามคำพิพากษานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาเพราะหนี้ของบุคคลภายนอกคือผู้ร้องได้กำหนดจำนวนไว้แน่นอนแล้ว คือจำนวน 400,000 บาท หมายอายัดของศาลชั้นต้นชอบแล้วไม่มีเหตุจะเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลง
พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกคำร้องของผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share