คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2739/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่ ป. เป็นเพียงพนักงานชั้นผู้น้อยทำหน้าที่รับส่งหนังสือของโจทก์ รับซอง หนังสือและคำสั่งของอธิบดีกรมแรงงานที่สั่งให้โจทก์จ่ายเงินทดแทนแก่ ค. ไว้ไม่ว่า ป. จะได้เปิดซอง ทราบเนื้อความในหนังสือนำส่งและคำสั่งแล้วหรือไม่ก็ตาม ก็ไม่อาจถือได้ว่าโจทก์โดย ป. ทราบคำสั่งนั้นแล้ว เพราะ ป. มิใช่ผู้แทนของโจทก์ผู้สามารถจะแสดงความประสงค์ประการใดแทนโจทก์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 75 ฉะนั้นเมื่อคำสั่งดังกล่าวถูกนำเสนอขึ้นไปตามลำดับชั้น จนวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2530รองผู้ว่าการผู้ทำการแทนผู้ว่าการของโจทก์จึงทราบคำสั่ง เช่นนี้ต้องถือว่าโจทก์โดยรองผู้ว่าการได้ทราบคำสั่งเมื่อวันที่ 10กุมภาพันธ์ 2530 และครบกำหนดสามสิบวันนับแต่วันโจทก์ทราบคำสั่งอันจะทำให้คำสั่งดังกล่าวเป็นที่สุดตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 60 ที่แก้ไขใหม่ในวันที่ 12 มีนาคม 2530โจทก์นำคดีมาสู่ศาลวันที่ 9 มีนาคม 2530 จึงหาพ้นกำหนดตามประกาศกระทรวงมหาดไทยฯ ข้อ 60 ไม่.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นายอนุชา ยศหนัก เป็นลูกจ้างของโจทก์ ดำรงตำแหน่งนายไปรษณีย์โทรเลข เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2529 เวลาประมาณ21 นาฬิกา นายอนุชาถูกรถยนต์ชนในขณะขับขี่รถจักรยานยนต์กลับจากที่ทำการไปรษณีย์อนุญาตเอกชน ตำบลวังม้า อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ และถึงแก่ความตายในวันรุ่งขึ้น นายคำรณ ยศหนัก บิดาของนายอนุชา ได้ยื่นคำร้องเรียกเงินทดแทนจากโจทก์ต่อพนักงานเงินทดแทนกรมแรงงาน โดยอ้างว่านายอนุชาประสบอันตรายถึงแก่ความตายเนื่องจากทำงานให้แก่โจทก์ พนักงานเงินทดแทนวินิจฉัยว่านายอนุชามิได้ประสบอันตรายถึงแก่ความตายเนื่องจากทำงานให้แก่โจทก์ นายคำรณจึงอุทธรณ์คำสั่งของพนักงานเงินทดแทนต่อจำเลยที่ 2 ในฐานะอธิบดีกรมแรงงาน จำเลยที่ 2 พิจารณาแล้วและมีคำสั่งว่า นายอนุชาประสบอันตรายถึงแก่ความตายเนื่องจากทำงานให้แก่โจทก์ ให้โจทก์จ่ายเงินทดแทนแก่นายคำรณ ดังปรากฏตามคำสั่งอธิบดีกรมแรงงานที่4/2530 เรื่อง อุทธรณ์คำสั่งพนักงานเงินทดแทน เอกสารหมายเลข 1ท้ายคำฟ้องคำสั่งดังกล่าวของจำเลยที่ 2 ไม่ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย นายอนุชา หาได้ประสบอันตรายถึงแก่ความตายเนื่องจากทำงานให้แก่โจทก์ไม่ โจทก์ไม่ได้สั่งให้นายอนุชาไปตรวจสอบสถานที่ที่จะเปิดทำการไปรษณีย์อนุญาตตามที่กล่าวข้างต้น โจทก์ทราบคำสั่งของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ตามเอกสารหมายเลข 1 ท้ายคำฟ้องเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2530 จึงขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งเอกสารหมาย 1 ท้ายคำฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การว่า เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2529หัวหน้าที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขลาดยาว ผู้บังคับบัญชาของนายอนุชาได้สั่งให้นายอนุชาไปตรวจสอบสถานที่ที่จะเปิดที่ทำการไปรษณีย์อนุญาตเอกชน นายอนุชาปฏิบัติงานเสร็จเมื่อเวลาประมาณ 17 นาฬิกา แต่ฝนตกหนักเดินทางกลับไม่ได้ เดินทางกลับต่อเมื่อเวลาประมาณ 21 นาฬิกาเมื่อฝนหยุดแล้ว ระหว่างทางที่ขับขี่รถจักรยานยนต์กลับถูกรถยนต์ชนได้รับอันตรายและถึงแก่ความตาย จึงเป็นการประสบอันตรายถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง แต่พนักงานเงินทดแทนมีคำสั่งว่ามิใช่ประสบอันตรายถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง ยกคำร้องเรียกเงินทดแทนของนายคำรณเสีย นายคำรณอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่า เป็นกรณีที่ประสบอันตรายถึงแก่ความตายเนื่องจากทำงานให้แก่นายจ้าง จึงมีคำสั่งกลับคำสั่งดังกล่าว ให้โจทก์จ่ายเงินทดแทนแก่นายคำรณ ดังคำสั่งเอกสารหมายเลข 1 ท้ายคำฟ้อง อันเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยข้อเท็จจริงและของกฎหมายแล้ว อนึ่ง จำเลยทั้งสองยังตัดฟ้องอีกว่า จำเลยได้แจ้งคำสั่งเอกสารหมายเลข 1 ท้ายคำฟ้องให้โจทก์ทราบแล้ว ตามหนังสือนำส่งและใบตอบรับเอกสารหมายเลข 1ท้ายคำให้การ โจทก์ทราบคำสั่งแล้วแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2530แต่โจทก์นำคดีมาสู่ศาลเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2530 ซึ่งพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง คำสั่งเอกสารหมายเลข 1 ท้ายคำฟ้องจึงเป็นที่สุดตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 60 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาว่า ตามข้อบังคับฯ เอกสารหมาย จ.4กองอำนวยการเป็นหน่วยงานส่วนกลาง สังกัดผู้ว่าการ (ของโจทก์)โดยตรง นางประนอม มัสกุรงค์ เป็นพนักงานที่มีหน้าที่รับส่งหนังสือของกองอำนวยการ สำนักผู้ว่าการ การที่นางประนอม มัสกุรงค์ลงลายมือชื่อรับหนังสือนำส่งตามเอกสารหมายเลข 1 ท้ายคำให้การและคำสั่งเอกสารหมายเลข 1 ท้ายคำฟ้อง ถือได้ว่านางประนอม มัสกุรงค์ได้ลงลายมือชื่อรับเอกสารดังกล่าวแทนผู้ว่าการของโจทก์แล้ว การที่พนักงานของโจทก์เสนอเรื่องให้ผู้ว่าการพิจารณาเมื่อวันที่ 10กุมภาพันธ์ 2530 ตามบันทึกข้อความเอกสารหมาย จ.2 เป็นการปฏิบัติภายในของโจทก์ ถือได้ว่าโจทก์ทราบคำสั่งตามเอกสารหมายเลจ 1ท้ายคำฟ้องเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2530 วันที่ 6 มีนาคม 2530เป็นวันครบกำหนดสามสิบวันที่โจทก์จะต้องนำคดีมาสู่ศาล เมื่อโจทก์นำคดีมาสู่ศาลวันที่ 9 มีนาคม 2530 คำสั่งเอกสารหมายเลข 1ท้ายคำฟ้องจึงเป็นที่สุดตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 60 ที่ได้แก้ไขเพิ่มเติม พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “นางประนอม มัสกุรงค์เป็นเพียงพนักงานรับส่งหนังสือของโจทก์ เป็นพนักงานชั้นผู้น้อยการที่นางประนอม มัสกุรงค์ รับซองหนังสือนำส่งและคำสั่งตามเอกสารหมายเลข 1 ท้ายคำฟ้อง ไม่ว่านางประนอม มัสกุรงค์ ได้เปิดซองทราบเนื้อความในหนังสือนำส่งและคำสั่งแล้วหรือไม่ก็ตาม ก็ไม่อาจถือได้ว่าโจทก์โดยนางประนอม มัสกุรงค์ ทราบคำสั่งแล้ว นางประนอมมัสกุรงค์ มิใช่ผู้แทนของโจทก์ผู้สามารถจะแสดงความประสงค์ประการใดแทนโจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 75 คำสั่งเอกสารหมายเลข 1 ท้ายคำฟ้องได้ถูกนำเสนอขึ้นไปโดยลำดับชั้นตามบันทึกข้อความเอกสารหมาย จ.2 ต่อมาเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2530รองผู้ว่าการของโจทก์ผู้มีหน้าที่ทำการแทนผู้ว่าการของโจทก์จึงได้ทราบคำสั่งเอกสารหมายเลข 1 ท้ายคำฟ้อง กรณีเช่นว่านี้ ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์โดยรองผู้ว่าการได้ทราบคำสั่งเอกสารหมายเลข 1ท้ายคำฟ้อง ณ วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2530 มิใช่ทราบโดยนางประนอมมัสกุรงค์ ณ วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2530 ตามที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยครบกำหนดสามสิบวันนับแต่วันโจทก์ทราบคำสั่งอันจะทำให้คำสั่งเอกสารหมายเลข 1 ท้ายคำฟ้องเป็นที่สุด ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 60 ที่ได้แก้ไขใหม่ จึงตกเป็นวันที่ 12มีนาคม 2530 โจทก์นำคดีมาสู่ศาลวันที่ 9 มีนาคม 2530 หาพ้นกำหนดตามประกาศกระทรวงมหาดไทยฯ ข้อ 60 ไม่ คำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาอุทธรณ์โจทก์ข้อ 3.2 ฟังขึ้น คดีจึงจำเป็นต้องพิจารณาประเด็นข้อ 2 ต่อไป”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาประเด็นข้อ 2 แล้วมีคำพิพากษาหรือคำวินิจฉัยชี้ขาดคดีไปตามรูปความ.

Share