แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 2 ได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นกล่าวหาศาลด้วยข้อความที่ไม่เป็นจริงว่าศาลสั่งยกฟ้องทุกข้อหาจึงสั่งขังจำเลยทั้งสองไม่ได้ โจทก์จำเลยทั้งสองไม่ได้ลงลายมือชื่อในรายงานกระบวนพิจารณาฉบับแรกที่ศาลทำลายไปและว่าหากให้พิจารณาคดีต่อไปเกรงจะทำลายเอกสารที่มีความสำคัญ ถือได้ว่าเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ศาลมีอำนาจลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาลแก่บุคคลที่กระทำกระละเมิดอำนาจศาลได้โดยไม่ต้องฟ้องจึงไม่มีกรณีที่จะเป็นฟ้องเคลือบคลุม หรือต้องเปิดโอกาสให้บุคคลนั้นแก้ข้อกล่าวหาหรือให้โอกาสตั้งทนายถามค้านและคำสั่งของศาลไม่อยู่ในบังคับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 186
ย่อยาว
กรณีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 137, 341, 352, 353,354, 83, 84, 86 และ 91 ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่า คดีมีมูลเฉพาะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 137, 341, 352, 353, 354, 83, 84, 86 และ 91 ส่วนข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341ไม่มีมูลให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นได้อ่านคำสั่งดังกล่าวให้โจทก์และจำเลยทั้งสองฟังในวันที่ 22 ธันวาคม 2536 กับสั่งให้หมายขังจำเลยทั้งสองไว้ เว้นแต่จะมีประกัน กับให้นัดสอบคำให้การและสืบพยานโจทก์ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2537เวลา 9 นาฬิกา ต่อมาระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ในฐานะทนายความของจำเลยที่ 1เป็นผู้ลงชื่อในคำร้อง ยื่นคำร้องวันที่ 10 มกราคม 2537 ว่าในวันที่ 22 ธันวาคม 2536 ศาลชั้นต้นจดรายงานกระบวนพิจารณา2 ฉบับ ฉบับแรกเป็นรายงานกระบวนพิจารณาที่ศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งให้ออกหมายขังจำเลยทั้งสอง หลังจากจำเลยทั้งสองลงลายมือชื่อในรายงานกระบวนพิจารณานั้นแล้วได้ออกจากห้องพิจารณาไปประมาณ 20 นาที ขณะที่จำเลยทั้งสองนั่งอยู่บริเวณที่ทำงานประชาสัมพันธ์ของศาล เสมียนหน้าบัลลังก์มาตามให้จำเลยทั้งสองกลับเข้าไปในห้องพิจารณาอีกครั้งหนึ่งแล้วผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนได้อ่านรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 22 ธันวาคม 2536 เวลา 9.25 นาฬิกาซึ่งเป็นฉบับที่สองให้จำเลยทั้งสองฟังและให้จำเลยทั้งสองลงลายมือชื่อไว้ จำเลยที่ 1 ขอคัดรายงานกระบวนพิจารณาทั้งสองฉบับดังกล่าว แต่ได้รับสำเนาเพียงฉบับที่สองฉบับเดียวจึงขอให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลชั้นต้นตรวจสอบว่ารายงานกระบวนพิจารณาฉบับแรกหายไปได้อย่างไร ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนสั่งว่า “รายงานกระบวนพิจารณาฉบับแรกมิได้กำหนดวันนัดสอบคำให้การและนัดสืบพยานศาลได้แจ้งให้คู่ความทราบแล้ว และทำรายงานกระบวนพิจารณาฉบับใหม่ขึ้น เมื่อคู่ความลงชื่อทราบแล้วจึงทำลายรายงานกระบวนพิจารณาฉบับแรก”
ต่อมาวันที่ 26 มกราคม 2537 จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่ง โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงชื่อในอุทธรณ์ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา ให้ยกคำร้องครั้นวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2537 จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า รอสอบข้อเท็จจริงวันนัดและในวันเดียวกันนั้นจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลชั้นต้นสั่งให้งดกระบวนพิจารณาไว้ก่อนจนกว่าศาลอุทธรณ์จะมีคำสั่ง ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้อง ถึงวันนัด ศาลชั้นต้นสอบข้อเท็จจริงแล้วมีคำสั่งว่า คำร้องอุทธรณ์คำสั่งและคำร้องของจำเลยที่ 1ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2537 ทั้งสองฉบับ ซึ่งจำเลยที่ 2 ในฐานะทนายของจำเลยที่ 1 เป็นผู้เรียงพิมพ์และจำเลยที่ 1เป็นผู้ลงชื่อในคำร้อง มีข้อความดูหมิ่น ให้ร้ายและเสียดสีศาลการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31(1), 33ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 4 เดือน
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาล
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับจำเลยที่ 1 ให้ปรับ 500 บาท ไม่ชำระค่าปรับ ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ส่วนจำเลยที่ 2 ให้จำคุก 1 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดบานละเมิดอำนาจศาลหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้เรียงและพิมพ์คำร้องสามฉบับแล้วนำมายื่นต่อศาลชั้นต้น โดยคำร้องฉบับแรกลงวันที่26 มกราคม 2537 เป็นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งว่าการทำลายรายงานกระบวนพิจารณาชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ซึ่งมีข้อความว่า “หากให้ท่านธนิต รัตนผล(ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน) ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปจำเลยที่ 1 เกรงว่าจะมีการทำลายเอกสารที่จำเลยคิดว่ามีความสำคัญ เพราะรายงานกระบวนพิจารณาที่จำเลยทั้งสองลงลายมือชื่อแล้ว ศาลยังทำลายได้” ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้อง คำร้องฉบับที่สองลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2537 เป็นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งที่ยกคำร้องและของกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นซึ่งมีข้อความว่า “หากคดีนี้ศาลมีคำสั่งรับประทับฟ้อง คงไม่มีรายงานกระบวนพิจารณาฉบับแรก ที่มิได้กำหนดวันนัดสอบคำให้การและนัดสืบพยานโจทก์เพราะศาลโดยท่านธนิต รัตนะผลมิได้ทำรายงานกระบวนพิจารณาคดีอาญาคดีนี้เป็นคดีแรกจึงได้ทำรายงานกระบวนพิจารณาผิดพลาด โดยไม่ขังจำเลยกระบวนการพิจารณาฉบับแรกที่ไม่ได้กำหนดนัดสอบคำให้การและนัดวันสืบพยานโจทก์ ย่อมแสดงว่า ศาลได้อ่านคำสั่งว่าคดีนี้ยกฟ้องแน่นอน เมื่อคดีนี้ยกฟ้องการที่ศาลมีคำสั่งขังจำเลยทั้งสอง จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการหน่วงเหนี่ยวกักขัง ทำให้จำเลยทั้งสองปราศจากเสรีภาพ” ศาลชั้นต้นสั่งรอสอบข้อเท็จจริงในวันนัด และคำร้องฉบับที่สามลงวันที่เดียวกันคือวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2537 เป็นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลสั่งงดกระบวนพิจารณาจนกว่าศาลอุทธรณ์จะสั่งเป็นอย่างอื่นซึ่งมีข้อความว่า “ในวันนั้น ปรากฏว่าศาลได้อ่านคำสั่งว่าคดีนี้ยกฟ้อง จึงได้ทำรายงานกระบวนพิจารณาโดยมิได้กำหนดนัดสอบคำให้การและนัดสืบพยาน ถ้าในวันนั้นจำเลยทั้งสองได้ลงลายมือชื่อในคำสั่งรับประทับฟ้องรายงานกระบวนพิจารณาฉบับแรกก็คงไม่ถูกทำลาย แต่เพราะคำสั่งศาลที่ประทับรับคำฟ้องหรือศาลยกฟ้อง หาได้ให้คู่ความลงลายมือชื่อในคำสั่ง จึงต้องมีการทำลายรายงานกระบวนพิจารณาฉบับแรก เพราะคำสั่งฉบับแรกมีเพียงหน้าเดียว แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ได้ให้ทนายความดูปรากฏว่ามีสองหน้า และข้อความก็ไม่เหมือนกัน” พิเคราะห์แล้วเห็นว่ากรณีสืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2537 จำเลยที่ 1โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้เรียงและพิมพ์ได้ยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลตรวจสอบว่ารายงานกระบวนพิจารณาฉบับแรกหายไปไหน ศาลชั้นต้นสั่งคำร้องว่ารายงานกระบวนพิจารณาฉบับแรกมิได้กำหนดวันนัดสอบคำให้การและนัดสืบพยาน ศาลได้แจ้งให้คู่ความทราบแล้ว และทำรายงานกระบวนพิจารณาฉบับใหม่ขึ้น เมื่อคู่ความลงชื่อทราบแล้วจึงได้ทำลายรายงานกระบวนพิจารณาฉบับแรก ต่อมาได้มีการยื่นคำร้องทั้งสามฉบับดังกล่าวเมื่อพิจารณาข้อความในคำร้องทั้งสามฉบับเข้าด้วยกันประกอบกับทางไต่สวนของศาลชั้นต้นเมื่อวันที่30 มีนาคม 2537 ที่ได้ความว่า ศาลชั้นต้นอ่านคำสั่งชั้นไต่สวนมูลฟ้องให้มีมูลบางข้อหายกฟ้องบางข้อหา โจทก์และจำเลยทั้งสองลงลายมือชื่อในรายงานกระบวนพิจารณาฉบับแรกแล้วจำเลยที่ 2 ออกไปยื่นหลักทรัพย์ประกันตัวต่อเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ ศาลชั้นต้นตรวจพบว่ารายงานกระบวนพิจารณาฉบับแรกมิได้กำหนดวันนัดสอบคำให้การและนัดสืบพยานโจทก์จึงให้เจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์ตามโจทก์และจำเลยทั้งสองกลับเข้าห้องพิจารณาแล้วแจ้งเหตุดังกล่าวให้ทราบและทำรายงานกระบวนพิจารณาฉบับใหม่ขึ้นพร้อมทั้งแจ้งขอทำลายรายงานกระบวนพิจารณาฉบับแรกด้วย โจทก์และจำเลยทั้งสองไม่คัดค้าน ดังนั้นย่อมเห็นได้ชัดว่า จำเลยที่ 2 ได้กล่าวหาศาลด้วยข้อความที่ไม่เป็นจริงว่าศาลสั่งยกฟ้องทุกข้อหาสั่งขังจำเลยทั้งสองไม่ได้ และโจทก์จำเลยทั้งสองไม่ได้ลงลายมือชื่อในรายงานกระบวนพิจารณาฉบับแรกอันเป็นการดูหมิ่นศาล และกล่าวเสียดสีศาลว่าหากให้พิจารณาคดีต่อไปเกรงจะทำลายเอกสารที่มีความสำคัญ ถือได้ว่าเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล จำเลยที่ 2จึงมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล และศาลมีอำนาจลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาลโดยไม่ต้องฟ้อง จึงไม่มีกรณีที่จะเป็นฟ้องเคลือบคลุม หรือต้องเปิดโอกาสให้จำเลยที่ 2แก้ข้อกล่าวหาหรือให้โอกาสตั้งทนายถามค้านดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกาและที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า คำสั่งศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยที่ 2ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 186(1)เพราะไม่มีชื่อศาลและวันเดือนปีที่มีคำสั่งนั้น เห็นว่าคำสั่งศาลเรื่องละเมิดอำนาจศาล กฎหมายมิได้กำหนดรูปแบบของคำสั่งไว้ แต่อย่างไรก็ดี คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวต่อเนื่องกับการไต่สวนตามรายงานกระบวนพิจารณา ซึ่งมีชื่อศาลลงวันที่ 30 มีนาคม 2537 จึงเป็นคำสั่งที่มีชื่อศาลและวันเดือนปีด้วยแล้ว ส่วนฎีกาข้ออื่น ๆ เช่น ศาลเรียกคู่ความเข้าห้องพิจารณาด้วยวาจา ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 52 หรือไม่หรือคู่ความยินยอมให้ทำลายรายงานกระบวนพิจารณาโดยไม่มีความผิดหรือไม่ เป็นต้น ข้อฎีกาเหล่านั้นแม้วินิจฉัยไปก็ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงการกระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลของจำเลยที่ 2 เป็นข้อฎีกาที่ไม่เป็นสาระควรแก่การวินิจฉัยจึงไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2ไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 วรรคแรกนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3