คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2127/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่โจทก์แอบไปพักผ่อนหลับนอนในเวลาปฏิบัติงานตามหน้าที่เพียงสองชั่วโมงเศษ อันเป็นการกระทำผิดต่อสภาพการจ้าง แต่จำเลยไม่มีระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกำหนดไว้ว่าเป็นความผิดที่ร้ายแรงหรือไม่ หรือมีโทษสถานใด จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์กระทำการฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีที่ร้ายแรง การกระทำของโจทก์ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ หรือเป็นการจงใจทำให้จำเลยต้องได้รับความเสียหาย การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์.(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้าง ต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิดและไม่จ่ายค่าชดเชย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า เหตุที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจาก โจทก์กับพวกได้จงใจละทิ้งงานหลบไปพักผ่อนหลับนอนในเวลาปฏิบัติหน้าที่เอาเปรียบลูกจ้างอื่นและเอาเปรียบจำเลย เป็นการกระทำที่มีเจตนารับค่าจ้างโดยไม่ปฏิบัติงานอันเป็นการทุจริต ทำให้งานของจำเลยล่าช้า และอาจถูกผู้ว่าจ้างปรับตามสัญญษทำให้จำเลยต้องเสียหายอย่างมาก และเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเป็นกรณีร้ายแรง จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์
ศาลแรงงานกลางสอบผู้รับมอบอำนาจจำเลยแล้วเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้จึงงดสืบพยานทั้งสองฝ่ายและพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “…การที่โจทก์แอบไปพักผ่อนหลับนอนในเวลาปฏิบัติงาน อันเป็นการกระทำผิดต่อสภาพการจ้างแต่จำเลยไม่มีระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกำหนดไว้ว่าเป็นความผิดที่ร้ายแรงหรือไม่ หรือมีโทษสถานใด จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์กระทำการฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีที่ร้ายแรง ซึ่งจำเลยจะได้รับยกเว้นไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(3) และการที่โจทก์แอบไปพักผ่อนหลับนอนในเวลาปฏิบัติงานตามหน้าที่ เพียงสองชั่วโมงเศษเป็นเรื่องที่โจทก์หลีกเลี่ยงการทำงานไปบ้าง แม้จะเป็นผลให้จำเลยต้องจ่ายค่าจ้างโดยไม่ได้รับประโยชน์จากการทำงานเป็นการตอบแทน ก้ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์กระทำการทุจริตต่อหน้าที่ หรือเป็นการจงใจทำให้จำเลยต้องได้รับความเสียหาย ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46(1)(2) จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ ที่ศาลแรงงานกลางให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share