แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ย่อยาว
โจทย์ฟ้องว่าเมื่อ ๔๐ ปีมาแล้ว นายชมนางหุ่นตายายได้ยกที่ดินให้โจทย์แลนายอ่วมบิดาจำเลย เมื่อ ๑๘-๑๙ ปีมานี้ โจทย์ได้ให้นายอ่วมบิดาจำเลยนำเจ้าพนักงานรังวัดแทน ครั้นถึงวันรับโฉนดนายอ่วมลงชื่อของตนเองในโฉนด แล้วกลับมาบอกโจทย์ว่าได้ไล่ชื่อโจทย์ลงไปแต่โจทย์คงปกครองที่นั้นตลอดมา ต่อมาเมื่อ ๕-๖ ปีนี้นายอ่วมตาย จำเลยซึ่งเปนบุตร์นายอ่วมไปขอรับมฤดกเสียคนเดียวแลจะขายที่ดินแปลงนี้ให้คนอื่น จึงขอให้จำเลยแบ่งที่ดินรายนี้ให้เปนสิทธิ์แก่โจทย์เท่าที่โจทย์ปกครองอยู่ในเวลานี้
จำเลยให้การต่อสู้ว่า ที่รายพิภาษนี้จำเลยได้รับมฤดกจากบิดามารดา แลโจทย์อยู่ในที่นี้ในฐานอาศรัย
ศาลเดิมตัดสินว่า การที่จำเลยได้รับโฉนดมาเปนเวลานานแลโจทย์ก็ไม่คัดค้านกรรมสิทธิของจำเลยเสียแต่แรก แลตั้งแต่จำเลยเปนเจ้าของที่ดินรายนี้โจทย์ก็ได้ปกครองยังไม่ถึง ๑๐ ปี จึงตัดสินได้ยกฟ้องโจทย์
โจทย์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ตัดสินฟังข้อเท็จจริงว่า โจทย์จำเลยเปนญาติต่าง ๆ กันแลปลูกเรือนรวมอยู่ในหมู่เดียวกัน ที่พิภาษมีโฉนดแผนที่แล้ว โฉนดออกเมื่อศก ๑๓๐ มีชื่อบิดามารดาจำเลย ต่อมาจำเลยรับโอนโฉนดนี้ในฐานเปนผู้รับมฤดก ตามฟ้องของโจทย์ว่าตายายได้ยกที่รายนี้ให้โจทย์ก็ดีฤาโจทย์ได้ตกลงอย่างไรกับนายอ่วมก็ดี ข้อนี้โจทย์ไม่มีพยานหลักฐานมาสืบให้สม หลักฐานของโจทย์คงมีแต่ว่าได้อยู่ในที่รายนี้มาเท่านั้น หาพอจะลบล้างกรรมสิทธิ์ของจำเลยไม่ แลจำเลยพึ่งได้ไปรับโฉนดมาจากเจ้าพนักงานเมื่อ ๕ ปีมานี้เอง จึงตัดสินยืนตามศาลเดิม
โจทย์ฎีกาว่า (ก) การที่จำเลยขอรับมฤดกของนายอ่วมนั้นประกาศโฆษณาไม่ได้ปิดไว้ในที่เปิดเผยแลชาวบ้านใกล้เคียงก็ไม่ได้รู้เห็น คงเห็นแต่นายคล้อยพยานจำเลยคนเดียวเท่านั้น (แต่ข้อนี้ไม่ได้เถียงกันมาในชั้นศาลล่าง)
(ข) การที่ศาลล่างนับเวลาปกครองว่า จำเลยปกครองยังไม่ถึง ๑๐ ปีนั้นไม่จริง ความจริงจำเลยปกครองมา ๔๐ ปีเศษแล้วก่อนออกโฉนดที่ดินรายนี้ โจทย์ควรได้กรรมสิทธิ์ตามกฎหมายเบ็ดเสร็จบทที่ ๔๒
ฎีกาตัดสินว่า คดีมีประเด็นข้อกฎหมายอยู่ข้อเดียวแต่เรื่องปกครอง คือโจทย์ได้อยู่ในที่นี้มาช้านานกว่า ๑๐ ปี ข้อนี้ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาว่า โจทย์จำเลยเปนญาติกัน แลปลูกเรือนอยู่ในหมู่เดียวกัน ศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงตามคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์เช่นนี้ แลโฉนดสำหรับที่รายนี้มีชื่อบิดามารดาจำเลยแลชื่อจำเลยเปนลำดับมา การที่โจทย์อยู่ในที่ของจำเลยเช่นนี้ ตามกฎหมายศาลต้องถือว่าโจทย์ได้อยู่ในทางอาศรัยแลถึงแม้จะอยู่ในที่มาช้านานเท่าใด โจทย์ก็ไม่มีส่วนได้กรรมสิทธิ์