คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1712/2530

แหล่งที่มา : ADMIN

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องจำเลยให้ชำระหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อ จำเลยให้การว่าเป็นการซื้อขายเสร็จเด็ดขาด และคงค้างชำระเงินบางส่วนศาลชั้นต้นงดสืบพยาน และพิพากษาให้จำเลยชำระเงินน้อยกว่าเงินที่จำเลยรับว่าเป็นหนี้โจทก์ ดังนี้การที่จำเลยฎีกาโต้แย้งเพื่อขอให้มีการสืบพยานจึงไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใด เพราะถึงอย่างไรจำเลยไม่อาจนำสืบข้อเท็จจริงให้แตกต่างไปจากคำให้การที่ตนได้ยอมรับแล้วได้.(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ทำสัญญาเช่าซื้อทองรูปพรรณของโจทก์ต่อมาจำเลยผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อเป็นเวลาสองงวดติดต่อกันโจทก์จึงได้บอกเลิกสัญญาและขอให้จำเลยคืนทองรูปพรรณทั้งหมดจำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยส่งมอบทองรูปพรรณที่เช่าซื้อตามสัญญาแก่โจทก์ ถ้าไม่ส่งมอบก็ให้จำเลยชำระราคาเป็นเงิน84,320 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวจนกว่าจะชำระราคาให้โจทก์เสร็จ
จำเลยให้การว่า ได้ซื้อทองรูปพรรณจากโจทก์ตามสำเนาสัญญาท้ายฟ้องจริงแต่เป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด ไม่ใช่สัญญาเช่าซื้อกรรมสิทธิ์ในทองรูปพรรณจึงตกเป็นของจำเลย จำเลยได้ชำระราคาไปแล้วเป็นเงิน 23,740 บาท ยังคงค้างชำระพร้อมดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 63,742 บาท
ในวันชี้สองสถานศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยานและพิพากษาให้จำเลยส่งมอบทองรูปพรรณแก่โจทก์ หากไม่สามารถส่งมอบให้ชำระราคาเป็นเงินทั้งสิ้น 62,328.40 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 60,580 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกาประเด็นเดียวว่า หนี้ที่จำเลยยังค้างชำระอยู่บางส่วนนั้นเป็ฯจำนวนเท่าใด การที่ศาลชั้นต้นด่วนตัดพยานและวินิจฉัยคดีไปเลยนั้นทำให้จำเลยหมดโอกาสที่จะนำสืบข้อเท็จจริงในประเด็นดังกล่าว
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…เห็นว่าจำเลยได้ให้การยอมรับแล้วว่าได้ชำระเงินให้โจทก์ไปแล้วเป็นบางส่วน และยังคงติดค้างเมื่อคิดรวมกับดอกเบี้ยนับจากวันผิดนัดจนถึงวันฟ้องเป็นเงินรวมทั้งสิ้น63,742 บาท ซึ่งจำเลยยินยอมที่จะชำระเงินจำนวนดังกล่าวนี้ให้แก่โจทก์ และปรากฏว่าจำนวนเงินที่ศาลชั้นต้นคิดดอกเบี้ยนับจากวันผิดนัดตามสัญญาแต่ละฉบับเป็นต้นไปจนถึงวันฟ้องรวมเป็นเงินที่จำเลยจะต้องรับผิดชดใช้ให้แก่โจทก์จำนวน 62,328.40 บาท ซึ่งน้อยกว่าจำนวนเงินที่จำเลยยอมรับว่ายังคงเป็นหนี้โจทก์อยู่เสียด้วยซ้ำอันนับเป็นคุณแก่จำเลยอยู่แล้ว ดังนั้นการที่จำเลยฎีกาโต้แย้งเพื่อขอให้มีการสืบพยบานจึงไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใด เพราะถึงอย่างไรจำเลยก็ไม่อาจนำสืบข้อเท็จจริงให้แตกต่างไปจากคำให้การที่ตนได้ยอมรับแล้วได้ คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้งดสืบพยานชอบแล้ว”
พิพากษายืน.

Share