คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 698/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ป.พ.พ. มาตรา 1144 ถึงมาตรา 1170 บัญญัติให้กรรมการบริษัทมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับบริษัทไว้หลายประการ เช่น ให้กรรมการใช้ความเอื้อเฟื้อสอดส่องในอันที่จะประกอบกิจการของบริษัทอย่างผู้ค้าขายด้วยความระมัดระวัง ให้มีอำนาจเรียกประชุมกรรมการและออกเสียงชี้ขาดปัญหาในที่ประชุม ให้มีอำนาจมอบอำนาจของตนให้ผู้จัดการ ฯลฯ ซึ่งกรณีดังกล่าวถือได้ว่าผู้เป็นกรรมการของบริษัททุกคนต้องมีหน้าที่บริหารกิจการของบริษัท ฉะนั้นกรรมการบริษัทคนหนึ่งจึงมีอำนาจลงลายมือชื่อร่วมกับกรรมการผู้จัดการและประทับตราของบริษัท แต่งตั้งให้ผู้อื่นฟ้องคดีแทนโจทก์ได้
การใช้สิทธิเรียกร้องตามสัญญาขายลดเช็คไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้ จึงมีอายุความฟ้องร้อง 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 164ส่วนการฟ้องผู้สั่งจ่ายซึ่งมิได้ทำสัญญาขายลดเช็คด้วย ต้องฟ้องคดีภายใน 1 ปี เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องวันที่ 24 กันยายน 2525เช็คสั่งจ่ายลงวันที่ 1 ตุลาคม 2524 ไม่เกิน 1 ปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
จำเลยที่ 2 กล่าวอ้างเป็นประเด็นในคำให้การว่า โจทก์เคยนำหนังสือค้ำประกันตามเอกสารท้ายฟ้องไปฟ้องจำเลยที่ 2 ในคดีอื่นแล้วจึงนำมาฟ้องคดีนี้อีกไม่ได้เพราะเป็นฟ้องซ้อน แต่จำเลยที่ 2 มิได้นำสืบให้ได้ข้อเท็จจริงดังที่อ้าง ข้ออ้างของจำเลยที่ 2 จึงฟังไม่ขึ้น.(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มอบอำนาจให้นางสาวเพ็ญศรี บุษราคัมมณีดำเนินคดีแทน จำเลยที่ 2 นำเช็คของจำเลยที่ 1 และที่ 3 มาขายลดกับโจทก์หลายครั้งรวม 7 ฉบับ เป็นเช็คของจำเลยที่ 3 จำนวน 1 กลับ โดยจำเลยที่ 1 สัญญากับโจทก์ว่า หากโจทก์ไม่ได้รับชำระหนี้ตามเช็คจำเลยที่ 1 ยอมรับผิดใช้เงินตามเช็คนั้น พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 18.5ต่อปีและร้อยละ 20 ต่อปี เมื่อเช็คฉบับไหนถึงกำหนด โจทก์นำเช็คฉบับนั้นเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินทุกฉบับจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 หากจำเลยที่ 1 และที่ 3ไม่ชำระ จำเลยต้องรับผิดตามสัญญาในวงเงิน 300,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยที่ 3 ใช้เงิน 52,000 บาทและดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2524 จนกว่าจะชำระเสร็จ หากบังคับจำเลยที่ 3ไม่ได้ ให้จำเลยที่ 1 ใช้เงิน 385,284 บาท และดอกเบี้ยร้อยละ 18.5ต่อปี ในต้นเงิน 344,328 บาท ตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วยในจำนวนเงิน 300,000 บาทกับให้จำเลยร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า โจทก์ไม่ได้มอบอำนาจให้นางสาวเพ็ญศรี ฟ้องจำเลย หนังสือมอบอำนาจให้ดำเนินคดีแทนไม่สมบูรณ์และไม่ชอบด้วยกฎหมาย เช็คทุกฉบับขาดอายุความ จำเลยที่ 2 ไม่เคยทำหนังสือค้ำประกันตามฟ้อง ลายมือชื่อในเอกสารไม่ใช่ของจำเลยที่ 2เอกสารนี้โจทก์เคยฟ้องจำเลยที่ 2 แล้ว จึงนำมาฟ้องอีกไม่ได้
จำเลยที่ 3 ให้การปฏิเสธในเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ทำนองเดียวกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับว่าจำเลยที่ 2 ไม่เคยสั่งจ่ายตามเช็คตามฟ้อง ลายมือชื่อในเช็คไม่ใช่ของจำเลยที่ 3 เช็คขาดอายุความ โจทก์คิดดอกเบี้ยไม่ถูกต้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้เงิน 385,284 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 18.5 ต่อปี ในต้นเงิน 344,328 บาท ตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 300,000 บาท และให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในต้นเงิน 52,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 12 ตุลาคม 2524 จนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 1,500 บาท
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 1,000 บาท แก่โจทก์
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…มีปัญหาต้องพิจารณาข้อแรกว่า นายจิตทวีศิวยาธร ซึ่งหนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครระบุว่าเป็นกรรมการนั้น มีอำนาจลงลายมือชื่อร่วมกับนายวิวัฒน์อัสสเมทางกูร กรรมการผู้จัดการและประทับตราสำคัญของบริษัทโจทก์แต่งตั้งให้นางสาวเพ็ญศรี บุษราคัมมณีฟ้องคดีแทนโจทก์ได้หรือไม่และฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1144 ถึงมาตรา 1170 ได้บัญญัติให้กรรมการของบริษัทมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับบริษัทไว้หลายประการ เช่นให้กรรมการใช้ความเอื้อเฟื้อสอดส่องในอันที่จะประกอบกิจการของบริษัทอย่างผู้ค้าขายด้วยความระมัดระวัง ให้มีอำนาจเรียกประชุมกรรมการและออกเสียงชี้ขาดปัญหาในที่ประชุม ให้มีอำนาจมอบอำนาจของตนให้แก่ผู้จัดการ ฯลฯ ซึ่งกรณีดังกล่าวนั้นถือได้ว่าผู้เป็นกรรมการของบริษัททุกคนต้องมีหน้าที่บริหารกิจการของบริษัท ดังนั้น นายจิตทวีซึ่งเป็นกรรมการบริษัทผู้หนึ่งจึงมีอำนาจลงลายมือชื่อร่วมกับนายวิวัฒน์กรรมการผู้จัดการและประทับตราสำคัญของบริษัทแต่งตั้งให้นางสาวเพ็ญศรีฟ้องแทนโจทก์ในคดีนี้ได้ ฎีกาจำเลยที่ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยนั้นฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต่อไปว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่าฟ้องของโจทก์เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องตามสัญญาขายลดเช็คซึ่งไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้ จึงมีอายุความฟ้องร้อง 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ ส่วนฟ้องของโจทก์ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 3 ซึ่งมิได้ทำสัญญาขายลดเช็คด้วย โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2525 ให้จำเลยที่ 3 รับผิดตามเช็คที่สั่งจ่าย ปรากฏว่า เช็คฉบับที่จำเลยที่ 3 สั่งจ่ายลงวันที่ 1ตุลาคม 2524 ไม่เกิน 1 ปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ในปัญหาว่าฟ้องโจทก์ที่ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 300,000บาท เป็นฟ้องซ้อนหรือไม่ จำเลยที่ 2 อ้างว่าโจทก์เคยนำหนังสือค้ำประกันตามเอกสารท้ายฟ้องไปฟ้องจำเลยที่ 2 ในคดีอื่นแล้ว จึงนำมาฟ้องคดีนี้อีกไม่ได้ เห็นว่า จำเลยที่ 2 เป็นฝ่ายกล่าวอ้างเป็นประเด็นในคำให้การ แต่จำเลยที่ 2 มิได้นำสืบให้ได้ข้อเท็จจริงดังที่อ้าง ข้ออ้างของจำเลยที่ 2 จึงฟังไม่ขึ้น…”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share