แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยทั้งสองเป็นลูกจ้างของกรมชลประทานได้รับคำสั่งให้ไปควบคุมเครื่องดัน น้ำ โดยกรมชลประทานส่งน้ำมันที่ใช้กับเครื่องดัน น้ำดังกล่าวให้ทุกวัน และมีเจ้าหน้าที่ไปควบคุมการปฏิบัติงานและตรวจสอบการใช้น้ำมันของจำเลยทั้งสองทุกวัน ดังนี้น้ำมันดังกล่าวยังอยู่ในความครอบครองของกรมชลประทานเมื่อจำเลยทั้งสองเอาน้ำมันนั้นไปขาย จึงมีความผิดฐานลักทรัพย์.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันลักเอาน้ำมันดีเซลที่มีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ในการระบายน้ำท่วมขังในกรุงเทพมหานครและจังหวัดสมุทรปราการ ของกรมชลประทานนายจ้างของจำเลย รวม 3 ครั้งจำนวน 600 ลิตร เป็นเงิน 4,200 บาท ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335, 83, 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2525 มาตรา 11พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2526 มาตรา 4 คืนของกลางแก่เจ้าของ
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352, 83 จำคุกคนละ 1 ปี จำเลยให้การรับในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78คนละหนึ่งในสามคงจำคุกคนละ 8 เดือน ให้คืนน้ำมัน 3 ถังของกลางแก่กรมชลประทาน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว โจทก์มีนายทองคำ อย่างกลั่นและพันตำรวจตรีเฉลิมพล เฉลิมรัชดา ผู้จับกุมจำเลยมาเบิกความว่าจำเลยที่ 1 บอกขายน้ำมันดีเซลให้แก่นายทองคำในราคาถังละ 500 บาทนายทองคำจึงไปแจ้งให้พันตำรวจตรีเฉลิมพลทราบ พันตำรวจตรีเฉลิมพลบอกให้นายทองคำซื้อไว้เพื่อเป็นหลักฐานจับจำเลย นายทองคำจึงซื้อน้ำมันจากจำเลย 3 ครั้ง ครั้งละ 1 ถัง รวม 3 ถัง และต่อมาพันตำรวจตรีเฉลิมพลไปดูน้ำมันแล้วไปจับ จำเลยที่ 1 และที่ 2 จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ พยานโจทก์ทั้งสองต่างก็ไม่มีสาเหตุ>โกรธเคืองกับจำเลย จึงไม่มีเหตุอะไรที่จะมาเบิกความปรักปรำจำเลยจนถึงกับหาน้ำมันมาเป็นหลักฐานถึง 3 ถัง และชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1ก็ให้การรับสารภาพ ตามบันทึกคำให้การเอกสารหมาย จ.4 หากจำเลยที่ 1 ถูกบังคับให้รับสารภาพ จำเลยที่ 2 ก็น่าจะถูกบังคับให้รับสารภาพด้วยแต่ในคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 ก็ให้การปฏิเสธ จึงเชื่อว่าจำเลยที่ 1 ให้การด้วยความสมัครใจตามความจริงส่วนที่จำเลยที่ 1 นำสืบว่าการรับจ่ายน้ำมันของจำเลยถูกต้องไม่มีการขาดหาย ถังน้ำมันของกลางไม่ใช่ของกรมชลประทาน ก็ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำบัญชีรับจ่ายนำ้มันเอง จำเลยที่ 1 อาจจะทำบัญชีจ่ายน้ำมันโดยไม่ได้ใช้น้ำมันจริงก็ได้ เพราะไม่มีคนควบคุมขณะจำเลยใช้น้ำมัน ส่วนถังน้ำมันจำเลยก็สามารถหาถังที่ไม่ใช่กรมชลประทานมาถ่ายน้ำมันไปจากถังของกรมชลประทานได้ประกอบกับจำเลยมิได้นำสืบว่าจำเลยเอาน้ำมันจากไหนไปขายให้นายทองคำข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เอาน้ำมันของกรมชลประทานไปขายให้นายทองคำรวม 3 ครั้งจริง พยานจำเลยที่ 1 ไม่อาจหักล้างพยานโจทก์ได้ การที่จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นลูกจ้างของกรมชลประทานได้รับคำสั่งให้ไปควบคุมเครื่องดันน้ำโดยกรมชลประทานส่งน้ำมันที่ใช้กับเครื่องดันน้ำดังกล่าวให้ทุกวัน และมีเจ้าหน้าที่ไปดูแลควบคุมการปฏิบัติงานและตรวจสอบการใช้น้ำมันของจำเลยทั้งสองทุกวันนั้นศาลฎีกาโดยมติของที่ประชุมใหญ่ เห็นว่าน้ำมันดังกล่าวยังอยู่ในความครอบครองของกรมชลประทานผู้เสียหาย เมื่อจำเลยทั้งสองเอาน้ำมันนั้นไปขาย จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานลักทรัพย์ การที่จำเลยลักน้ำมันไปขาย 3 ครั้ง จึงเป็น 3 กรรมตามฟ้อง ต้องลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปที่ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานยักยอกเพียงกระทงเดียวยังไม่ถูกต้องแม้โจทก์จะไม่มีฎีกาในปัญหาข้อนี้ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเฉพาะการปรับบทและกระทงลงโทษเสียให้ถูกต้อง โดยแก้ไขตลอดไปถึงจำเลยที่ 2 ซึ่งไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 รวม 3 กระทง ให้ลงโทษทุกกระทงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงและลดโทษแล้ว คงจำคุกคนละ 8 เดือน นอกจากที่แก้ไขให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์”.