คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8438/2547

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยขับรถยนต์เฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ที่ ส. ผู้เยาว์เอาประกันภัยไว้กับบริษัทโจทก์ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 เป็นเหตุให้ ส. ได้รับบาดเจ็บ ส. โดย ศ. มารดาผู้ใช้อำนาจปกครองทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยโดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล การทำสัญญาประนีประนอมยอมความจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและตกเป็นโมฆะ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้มิได้ว่ากล่าวกันมาศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้ เมื่อสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นโมฆะ จำเลยจะอ้างว่าจำเลยได้ชดใช้ค่าเสียหายให้ ส. จนเป็นที่พอใจตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้วย่อมไม่ได้ และเมื่อโจทก์ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนเป็นค่ารักษาพยาบาลเบื้องต้นจำนวน 15,000 บาท ให้แก่ ส. ไปแล้ว โจทก์จึงอยู่ในฐานะผู้รับช่วงสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยซึ่งเป็นบุคคลภายนอกในฐานะผู้ก่อให้เกิดความเสียหายได้ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถฯ มาตรา 31 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 16,031 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 15,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 15,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 15 กรกฎาคม 2545) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 700 บาท
จำเลยอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องไล่เบี้ยเรียกเงินค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายให้แก่ผู้ประสบภัยคืนจากจำเลยได้หรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า โจทก์ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนเป็นค่ารักษาพยาบาลเบื้องต้นให้แก่นายสิริพงศ์ไปแล้วจำนวน 15,000 บาท และนายสิริพงศ์โดยนางสมศรีมารดาผู้แทนโดยชอบธรรม ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยมีข้อความว่า ได้รับเงินช่วยค่ารักษาพยาบาลบางส่วนและขอรับรองว่าจะไม่เอาความ และไม่เรียกร้องค่าใช้จ่ายอื่นใดอีก สัญญาประนีประนอมยอมความทำขณะที่นายสิริพงศ์ยังเป็นผู้เยาว์ นางสมศรีเป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1574 (12) ผู้ใช้อำนาจปกครองจะทำสัญญาประนีประนอมยอมความเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์มิได้เว้นแต่ศาลจะอนุญาต ไม่ปรากฏว่านางสมศรีได้รับอนุญาตจากศาล การทำสัญญาประนีประนอมยอมความจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและตกเป็นโมฆะ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้มิได้ว่ากล่าวกันมาศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้ เมื่อสัญญาประนีประนอมยอมความตกเป็นโมฆะ จำเลยจะอ้างว่าจำเลยได้ชดใช้ค่าเสียหายให้นายสิริพงศ์ผู้เอาประกันภัยจนเป็นที่พอใจตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้วโจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะรับช่วงสิทธิจากผู้ประสบภัยที่มีอยู่แก่จำเลยหาได้ไม่ และเมื่อโจทก์ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนเป็นค่ารักษาพยาบาลเบื้องต้นจำนวน 15,000 บาท ให้แก่นายสิริพงศ์ซึ่งเป็นผู้บาดเจ็บหรือผู้ประสบภัยไปแล้ว โจทก์จึงอยู่ในฐานะผู้รับช่วงสิทธิที่จะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยซึ่งเป็นบุคคลภายนอกในฐานะผู้ก่อให้เกิดความเสียหายได้ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 มาตรา 31 วรรคหนึ่ง
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share