คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 916/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย กำหนดห้ามมิให้ลูกจ้างก่อการวิวาท ทำร้ายร่างกาย พูดหยาบ ตลอดจนส่งเสียงอื้ออึงโดยไม่จำเป็นก็ตาม แต่ระเบียบดังกล่าวก็มิได้กำหนดว่าการฝ่าฝืนจะถือเป็นกรณีร้ายแรงประการใด การที่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างจำเลยชกต่อยลูกจ้างด้วยกัน ก็เนื่องจากคู่กรณีพูดให้ของลับโจทก์ก่อน และไม่ปรากฏว่าคู่กรณีได้รับบาดเจ็บ จึงถือไม่ได้ว่าการกระทำของโจทก์เป็นกรณีร้ายแรง ที่จำเลยผู้เป็นนายจ้างจะมีสิทธิเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลย ต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ทะเลาะวิวาทกับคนงานอื่น ซึ่งเป็นการผิดวินัยไม่ร้ายแรงจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า และไม่จ่ายค่าชดเชยเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้ศาลบังคับจำเลยจ่ายค่าเสียหาย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า เหตุที่เลิกจ้าง เพราะโจทก์ทะเลาะวิวาทกับคนงานอื่น และชกต่อยคู่กรณีจนได้รับบาดเจ็บ เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยอย่างร้ายแรง จึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า และไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย การกระทำของโจทก์ทำให้จำเลยเสียหาย จึงฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยจากโจทก์
จำเลยไม่เสียหาย ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์ ยกฟ้องแย้งของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า แม้ระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย กำหนดห้ามมิให้ลูกจ้างของจำเลยก่อการวิวาททำร้ายร่างกายกัน พูดหยาบ ตลอดจนส่งเสียงอื้ออึงโดยไม่จำเป็นก็ตาม แต่ตามระเบียบข้อบังคับดังกล่าวก็มิได้กำหนดว่าการฝ่าฝืนเป็นกรณีร้ายแรงประการใด เหตุที่เกิดขึ้น โจทก์มิได้เป็นฝ่ายก่อขึ้นก่อน และโจทก์ชกนายสุเทพไปเพียงทีเดียวสาเหตุเนื่องจากนายสุเทพพูดให้ของลับโจทก์ก่อน และไม่ปรากฏว่านายสุเทพได้รับบาดเจ็บ จึงถือไม่ได้ว่าการกระทำของโจทก์เป็นกรณีร้ายแรงที่จำเลยผู้เป็นนายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างได้ โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 (3)
พิพากษายืน.

Share