คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 915/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ค่าครองชีพที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นรายเดือนโดยมีจำนวนที่แน่นอน ย่อมเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเพื่อตอบแทนการทำงานของลูกจ้างในเวลาทำงานปกติ ซึ่งถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างตามความหมายของคำนิยามคำว่า ค่าจ้าง ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน และจะถือว่าเป็นค่าจ้างต่อเมื่อนายจ้างมีข้อตกลงที่จะจ่ายให้แก่ลูกจ้างด้วย
โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยประเภทพนักงานบริการ ตามสัญญาเข้าทำงานของพนักงานบริการ ข้อ 4(3) มีข้อความว่า พนักงานบริการไม่มีสิทธิในเงินตอบแทนของเงินประกันและเงินสวัสดิการอื่นใดที่บริษัทให้นอกเหนือจากค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา และค่าทำงานในวันหยุด และสัญญาดังกล่าวได้กำหนดค่าจ้างเป็นรายวัน เป็นอัตราที่แน่นอนตายตัวไว้แล้ว แสดงให้เห็นเจตนาของจำเลยอย่างชัดแจ้งว่าจำเลยไม่ประสงค์จะจ่ายค่าครองชีพให้แก่โจทก์ด้วยดังนั้น คำว่าค่าจ้างตามข้อสัญญาดังกล่าว ซึ่งมิได้หมายความรวมถึงค่าครองชีพ.(ที่มา-เนติ)

ย่อยาว

ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ‘คดีคงมีปัญหาสู่ศาลฎีกาเพียงว่า โจทก์ทั้งสามมีสิทธิได้รับค่าครองชีพด้วยหรือไม่โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์ว่า ค่าครองชีพถือได้ว่าเป็นค่าจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ดังนั้นจึงเป็นค่าจ้างที่จำเลยจะต้องจ่ายให้แก่โจทก์ทั้งสามตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยเช่นเดียวกับลูกจ้างประจำของจำเลยคนอื่นๆด้วย พิเคราะห์แล้วค่าครองชีพเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นรายเดือนโดยมีจำนวนที่แน่นอน ย่อมเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเพื่อตอบแทนการทำงานของลูกจ้างในเวลาทำงานปกติซึ่งถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างตามความหมายของคำนิยามคำว่า ค่าจ้าง ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน และจะถือว่าเป็นค่าจ้างก็ต่อเมื่อนายจ้างมีข้อตกลงที่จะจ่ายให้แก่ลูกจ้างด้วย ศาลฎีกาเห็นว่าหลักเกณฑ์การจ่ายค่าครองชีพให้แก่ลูกจ้างของจำเลยนี้ ไม่ปรากฏว่ามีระเบียบหรือข้อบังคับกำหนดไว้ว่าจำเลยจะจ่ายให้แก่ลูกจ้างของจำเลยประเภทใด มีอัตราเดือนละเท่าใดและโจทก์ทั้งสามมีสิทธิได้รับด้วยหรือไม่ โจทก์ทั้งสามเป็นลูกจ้างของจำเลยประเภทพนักงานบริการ ซึ่งตามสัญญาเข้าทำงานของพนักงานบริการ ข้อ 4 (3) มีข้อความว่า พนักงานบริการไม่มีสิทธิในเงินตอบแทนของเงินประกันและเงินสวัสดิการอื่นใดที่บริษัทให้นอกเหนือจากค่าจ้างค่าล่วงเวลา และค่าทำงานในวันหยุด และสัญญาดังกล่าวระหว่างโจทก์ทั้งสามกับจำเลยได้กำหนดค่าจ้างเป็นรายวันไว้เป็นอัตราที่แน่นอนตายตัวไว้แล้ว ซึ่งแสดงให้เห็นเจตนาของจำเลยอย่างแจ้งชัดว่า จำเลยไม่ประสงค์จะจ่ายค่าครองชีพให้แก่โจทก์ทั้งสามด้วย ดังนั้น คำว่าค่าจ้างตามข้อสัญญาดังกล่าว จึงมิได้หมายความรวมถึงค่าครองชีพดังข้ออุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสาม ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องมานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามฟังไม่ขึ้น’
พิพากษายืน.

Share