แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำร้องของผู้ร้องได้บรรยายว่า จำเลยได้โอนขายที่ดินและตึกแถวให้แก่ผู้คัดค้านในระหว่างระยะเวลา 3 เดือนก่อนมีการขอให้ล้มละลายขอให้เพิกถอนการโอนดังกล่าว ดังนี้ เป็นคำร้องที่บรรยายแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาพอเข้าใจได้แล้ว เพราะที่ผู้ร้องบรรยายว่า ‘ก่อนมีการขอให้ล้มละลาย’ มีความหมายว่าวันที่มีการขอให้ล้มละลายคือวันที่โจทก์ฟ้องขอให้ล้มละลายนั่นเองคำร้องของผู้ร้องจึงไม่เคลือบคลุม.
คำว่า ‘ก่อนมีการขอให้ล้มละลาย’ ตาม พระราชบัญญัติล้มละลายพุทธศักราช 2483 มาตรา 115 หมายถึงก่อนวันที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยล้มละลาย หาใช่ก่อนวันที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานให้ศาลทราบถึงผลการประชุมเจ้าหนี้เพื่อศาลพิพากษาให้ลูกหนี้หรือจำเลยล้มละลายตามมาตรา 61 ไม่ เมื่อจำเลยโอนทรัพย์สินเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2523 นับถึงวันที่ 21 พฤษภาคม 2523 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ฟ้องจำเลยให้ล้มละลาย จึงอยู่ในระยะเวลา 3 เดือนก่อนมีการขอให้ล้มละลาย ซึ่งอาจมีการร้องขอให้เพิกถอนการโอนนั้นได้
การซื้อขายเป็นสัญญาต่างตอบแทนอย่างหนึ่ง ทันทีที่คู่กรณีตกลงทำสัญญาซื้อขายและจดทะเบียนต่อพนังงานเจ้าหน้าที่ ทั้งสองฝ่ายต่างมีหนี้จะต้องปฏิบัติต่อกัน ผู้คัดค้านในฐานะผู้ซื้อมีหน้าที่จะต้องชำระราคาแก่จำเลยผู้ขาย และจำเลยมีหนี้ที่จะต้องชำระคือโอนทรัพย์สินที่ตกลงซื้อขายนั้นแก่ผู้คัดค้าน ฉะนั้นผู้คัดค้านจึงอยู่ในฐานะเจ้าหนี้ที่จะได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่น ตามความหมายของพระราชบัญญัติล้มละลายพุทธศักราช 2483 มาตรา 115
ผู้คัดค้านได้รับโอนทรัพย์สินพิพาทจากจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ในคดีล้มละลาย ผู้คัดค้านจึงเป็นคู่สัญญากับลูกหนี้โดยตรงมิใช่บุคคลภายนอกตามมาตรา 116 แห่ง พระราชบัญญัติล้มละลายพุทธศักราช 2483 เมื่อจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ได้โอนขายทรัพย์พิพาทให้ผู้คัดค้าน ในระหว่างระยะเวลา 3 เดือน ก่อนมีการฟ้องขอให้จำเลยล้มละลาย และจำเลยกระทำโดยมุ่งหมายให้ผู้คัดค้านได้เปรียบแก่เจ้าหนี้รายอื่นของจำเลย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงมีอำนาจร้องขอให้ศาลเพิกถอนการโอนให้โดยไม่ต้องพิจารณาว่าผู้คัดค้านได้รับโอนโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนหรือไม่.(ที่มา-ส่งเสริมฯ)
ย่อยาว
คดีนี้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำร้องว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2523 และพิพากษาให้ล้มละลายเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2524 เมื่อวันที่ 5มีนาคม 2523 ซึ่งอยู่ในระยะเวลา 3 เดือน ก่อนมีการขอให้จำเลยล้มละลาย จำเลยได้โอนขายที่ดินและตึกแถวของจำเลยให้นายจารึกดีเผือกผู้รับโอนในราคา 430,000 บาท แต่จดทะเบียนการซื้อขายเป็นเงิน 200,000 บาท ในขณะที่โอนจำเลยมีหนี้หนึ่งล้านบาทเศษเป็นการโอนโดยมุ่งหมายให้ผู้รับโอนได้เปรียบเจ้าหนี้อื่นขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินและตึกแถวดังกล่าวระหว่างจำเลยกับผู้รับโอนให้กลับคืนสู่ฐานะเดิม ถ้าไม่สามารถกลับคืนสู่ฐานะเดิมได้ให้ผู้รับโอนใช้ราคา 430,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันยื่นคำร้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
นายจารึก ดีเผือก ยื่นคำคัดค้านว่า ได้รับซื้อที่ดินและตึกแถวจากจำเลยในราคา 430,000 บาท แต่เนื่องจากผู้คัดค้านจะต้องเป็นผู้เสียค่าธรรมเนียมในการโอนจึงตกลงจดทะเบียนซื้อขายเพียง200,000 บาท ผู้คัดค้านซื้อมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ไม่เป็นนิติกรรมที่มุ่งทำให้เจ้าหนี้อื่นเสียเปรียบ และทำขึ้นก่อนมีการขอให้จำเลยล้มละลายอย่างน้อย 7 เดือนเศษนับแต่วันที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ร้องขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยล้มละลาย คำร้องของผู้ร้องเคลือบคลุม ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการโอนที่ดินและตึกแถวพิพาทระหว่างจำเลยกับผู้คัดค้านและให้กลับคืนสู่ฐานะเดิม หากไม่สามารถกลับคืนสู่ฐานะเดิมได้ ให้ผู้คัดค้านใช้ราคา430,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการโอนเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้ร้อง สำหรับค่าทนายความผู้ร้องว่าคดีเองไม่กำหนดให้
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นโดยไม่มีฝ่ายใดโต้แย้งว่าโจทก์ฟ้องให้จำเลยล้มละลายเมื่อวันที่ 21พฤษภาคม 2523 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาด เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2523 และพิพากษาให้ล้มละลายเมื่อวันที่ 20เมษายน 2524 เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2523 จำเลยโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 11137 ตำบลบางพึ่ง อำเภอพระประแดง (อำเภอเมือง) จังหวัดสมุทรปราการ พร้อมตึกแถวเลขที่ 127 ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินดังกล่าวของจำเลยให้แก่ผู้คัดค้านในราคา 430,000 บาท โดยมุ่งหมายให้ผู้คัดค้านได้เปรียบแก่เจ้าหนี้รายอื่นอีก 9 ราย
มีปัญหาประการแรกตามฎีกาของผู้คัดค้านว่า คำร้องของผู้ร้องเคลือบคลุมหรือไม่ ผู้คัดค้านฎีกาว่าคำร้องของผู้ร้องเคลือบคลุมเพราะมิได้บรรยายว่าได้มีการโอนกันภายในระยะเวลา3 เดือน ก่อนหรือหลังมีการขอให้ล้มละลายอันเป็นข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช2483 มาตรา 115 พิเคราะห์แล้วคำร้องของผู้ร้องได้บรรยายว่าจำเลยได้โอนขายที่ดินและตึกแถวให้แก่ผู้คัดค้านในระหว่างระยะเวลา 3 เดือน ก่อนมีการขอให้ล้มละลาย (ฟ้องล้มละลายวันที่ 21พฤษภาคม 2523) ซึ่งมีความหมายว่าวันที่มีการขอให้ล้มละลายคือวันที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายนั่นเอง เห็นว่าคำร้องของผู้ร้องได้บรรยายแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับอีกทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา พอที่จะเข้าใจได้แล้วคำร้องของผู้ร้องจึงไม่เคลือบคลุม
ที่ผู้คัดค้านฎีกาว่า คำว่า ‘ก่อนมีการขอให้ล้มละลาย’ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 115 หมายถึงก่อนที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะขอให้ศาลมีคำสั่งให้ลูกหนี้เป็นบุคคลล้มละลาย ตามมาตรา 61 ผู้ร้องขอให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลายหลังวันที่ 1 พฤศจิกายน 2523 และการโอนทำกันในวันที่5 มีนาคม 2523 จึงมิใช่เป็นการโอนกันก่อนมีการขอให้ล้มละลาย 3 เดือน ผู้ร้องไม่มีอำนาจร้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนนั้น พิเคราะห์แล้วพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 115บัญญัติว่า ‘การโอนทรัพย์สินหรือการกระทำใดๆ ลูกหนี้ได้กระทำหรือยินยอมให้กระทำในระหว่างระยะเวลาสามเดือน ก่อนมีการขอให้ล้มละลายและภายหลังนั้น โดยมุ่งหมายให้เจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่นถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ศาลมีอำนาจสั่งเพิกถอนการโอนหรือการกระทำนั้นได้’ ศาลฎีกาเห็นว่า คำว่า ‘ก่อนมีการขอให้ล้มละลาย’ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 115 หมายถึง ก่อนวันที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายหาใช่ก่อนวันที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานให้ศาลทราบถึงผลการประชุมเจ้าหนี้เพื่อศาลพิพากษาให้ลูกหนี้หรือจำเลยล้มละลายตามมาตรา61 ไม่ เมื่อการโอนทรัพย์สินรายนี้จำเลยได้กระทำเมื่อวันที่5 มีนาคม 2523 นับถึงวันที่ 21 พฤษภาคม 2523 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ฟ้องจำเลยให้ล้มละลาย จึงอยู่ในระหว่างระยะเวลา 3 เดือน ก่อนมีการขอให้ล้มละลาย ตามมาตรา 115 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายพุทธศักราช 2483 แล้ว
ปัญหาต่อไปตามฎีกาของผู้คัดค้านมีว่า ผู้คัดค้านมีฐานะเป็นเจ้าหนี้หรือไม่เห็นว่า การโอนทรัพย์สินรายนี้ เกิดขึ้นจากการซื้อขายซึ่งเป็นสัญญาต่างตอบแทนอย่างหนึ่ง ฉะนั้นทันทีที่คู่กรณีตกลงทำสัญญาซื้อขายและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ทั้งสองฝ่ายต่างมีหนี้ที่จะต้องปฏิบัติชำระต่อกัน ผู้คัดค้านในฐานะผู้ซื้อมีหนี้ที่จะต้องชำระราคาแก่จำเลยผู้ขาย และจำเลยมีหนี้ที่จะต้องชำระคือโอนทรัพย์สินที่ตกลงซื้อขายนั้นแก่ผู้คัดค้าน ดังนั้นผู้คัดค้านจึงอยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ที่จะได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่น ตามความหมายของพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 115
ที่ผู้คัดค้านฎีกาต่อไปว่า ผู้คัดค้านเป็นบุคคลภายนอกรับโอนที่ดินและตึกแถวพิพาทมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนตามมาตรา 116 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 จึงเพิกถอนการโอนไม่ได้นั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้คัดค้านได้รับโอนทรัพย์สินพิพาทจากจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ในคดีล้มละลาย ผู้คัดค้านจึงเป็นคู่สัญญากับลูกหนี้โดยตรง มิใช่เป็นบุคคลภายนอกตามมาตรา 116 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483เมื่อจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ได้โอนขายทรัพย์พิพาทให้ผู้คัดค้านในระหว่างระยะเวลา 3 เดือนก่อนมีการฟ้องขอให้จำเลยล้มละลาย และจำเลยกระทำโดยมุ่งหมายให้ผู้คัดค้านได้เปรียบแก่เจ้าหนี้รายอื่นของจำเลย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงมีอำนาจร้องขอให้ศาลเพิกถอนการโอนได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพุทธศักราช 2483 มาตรา 115 โดยไม่ต้องพิจารณาว่าผู้คัดค้านได้รับโอนโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนหรือไม่ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว ฎีกาของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น’
พิพากษายืน