แหล่งที่มา : ADMIN
ย่อสั้น
ศาลแรงงานกลางกำหนดประเด็นว่า โจทก์ทั้งสองเป็นลูกจ้างของจำเลยหรือของจำเลยร่วม การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ทั้งสองเป็นลูกจ้างของบริษัทจำเลยโดยบริษัทจำเลยรับโอนโจทก์ทั้งสองเข้าทำงานต่อจากบริษัทจำเลยร่วม จึงเป็นการวินิจฉัยในประเด็นที่กำหนดไว้
ศาลแรงงานกลางฟังว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองไม่เป็นธรรมแต่ก็มิได้กำหนดให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายโดยเห็นว่าค่าชดเชยที่โจทก์ทั้งสองได้รับเพียงพอกับความเสียหายแล้ว โจทก์มิได้อุทธรณ์ในปัญหาเรื่องค่าเสียหาย ดังนั้นอุทธรณ์ของจำเลยเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับค่าเสียหาย จึงเป็นข้อกฎหมายที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ประกอบด้วย พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 31.(ที่มา-เนติ)
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า เดิมโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยร่วมต่อมาจำเลยรับโอนมาทำงานด้วย และเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมขอให้บังคับจำเลยและจำเลยร่วมร่วมกันชำระค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างค้างจ่ายและค่าเสียหาย จำเลยให้การว่าโจทก์ทั้งสองเป็นลูกจ้างของจำเลยร่วมส่วนจำเลยร่วมให้การว่า โจทก์ทั้งสองไปทำงานให้แก่จำเลยโดยละทิ้งหน้าที่เกินกว่า 3 วัน จำเลยร่วมได้เลิกจ้างโจทก์ไปแล้ว ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าค่าจ้างค้างจ่ายแก่โจทก์ทั้งสอง คำขออื่นให้ยกและให้ยกฟ้องจำเลยร่วม จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ‘ข้อที่จำเลยอุทธรณ์อีกว่าโจทก์ตั้งประเด็นในคำฟ้องว่าบริษัทจำเลยรับโอนโจทก์ทั้งสองเข้าทำงานต่อจากบริษัทจำเลยร่วมในเดือนมกราคม 2528 ขณะที่นายประเสริฐ ให้โจทก์ทั้งสองไปทำงานที่บ้านนายประเสริฐที่ถนนสุขุมวิท ซอย 49 หาได้ตั้งประเด็นว่าบริษัทจำเลยได้รับโอนโจทก์ทั้งสองเข้าทำงานต่อจากบริษัทจำเลยร่วมเมื่อบริษัทจำเลยจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแล้วเมื่อวันที่ 13 มีนาคม2528 ไม่ การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า บริษัทจำเลยรับโอนโจทก์ทั้งสองจากบริษัทจำเลยร่วมเข้าทำงานเมื่อจำเลยจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแล้วจึงเป็นการวินิจฉัยนอกเหนือคำฟ้องคำให้การ และนอกประเด็น เป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบนั้น พิเคราะห์แล้ว ศาลแรงงานกลางได้กำหนดประเด็นไว้ว่า โจทก์ทั้งสองเป็นลูกจ้างของจำเลยหรือของจำเลยร่วมแล้วได้วินิจฉัยว่าโจทก์ทั้งสองเป็นลูกจ้างของบริษัทจำเลย การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยด้วยว่าบริษัทจำเลยรับโอนโจทก์ทั้งสองเข้าทำงานต่อจากบริษัทจำเลยร่วมหลังจากที่บริษัทจำเลยได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแล้ว จึงเป็นการวินิจฉัยอยู่ในประเด็นที่ศาลแรงงานกลางกำหนดไว้แล้วดังกล่าวข้างต้น หาใช่นอกประเด็นดังที่จำเลยอุทธรณ์ไม่
ส่วนข้อที่จำเลยอุทธรณ์ว่า การที่ศาลแรงงานกลางมิได้วินิจฉัยปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับเรื่องค่าเสียหายและกรณีเช่นว่านี้ศาลแรงงานกลางจะมีอำนาจพิจารณาหรือไม่โดยอ้างว่ามิได้กำหนดประเด็นไว้ตั้งแต่ต้นเนื่องจากประเด็นเพิ่งจะเกิดขึ้นจากคำให้การเพิ่มเติมและคู่ความก็มิได้ขอให้กำหนดประเด็นเพิ่มเติม ต้องถือว่าคู่ความไม่ติดใจที่จะให้ศาลแรงงานกลางกำหนดประเด็นดังกล่าวเพิ่มเติม เป็นการวินิจฉัยที่ไม่ชอบ เพราะเมื่อประเด็นได้เกิดขึ้นแล้วศาลแรงงานกลางก็จะต้องวินิจฉัยไปตามประเด็นที่เกิดขึ้น อีกทั้งความเสียหายต่อชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเหยียดหยาม ที่โจทก์ทั้งสองเรียกร้องค่าเสียหายมาก็เป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่โจทก์ทั้งสองและจำเลยสิ้นสุดความเป็นลูกจ้างนายจ้างกันแล้ว จึงถือไม่ได้ว่าเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสัญญาจ้างแรงงาน ไม่อยู่ในอำนาจของศาลแรงงานกลางที่จะพิจารณาพิพากษาได้นั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่าแม้ศาลแรงงานกลางจะฟังว่า การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมก็ตาม แต่ศาลแรงงานกลางก็มิได้กำหนดให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์ทั้งสองตามที่เรียกร้อง โดยเห็นว่าค่าชดเชยที่โจทก์ทั้งสองได้รับนั้นเพียงพอกับความเสียหายของโจทก์ทั้งสองแล้ว ซึ่งโจทก์ทั้งสองก็มิได้อุทธรณ์ในปัญหาเรื่องค่าเสียหายนี้แต่ประการใด ข้ออุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวแม้จะเป็นข้อกฎหมาย แต่ก็เป็นข้อกฎหมายที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองสำนวนฟังไม่ขึ้น’
พิพากษายืน.