คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 121/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อประจักษ์พยานโจทก์มาเบิกความต่อศาล แต่รับฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นคนร้าย คำเบิกความนั้นย่อมเป็นพยานชั้นหนึ่ง แม้คำให้การชั้นสอบสวนของประจักษ์พยานนั้นจะมีใจความว่า จำได้ว่าจำเลยเป็นคนร้ายก็เป็นเพียงพยานชั้นสอง ศาลต้องฟังคำเบิกความในชั้นพิจารณาเป็นสำคัญ
แม้คดีไม่มีประจักษ์พยาน ศาลก็รับฟังพยานแวดล้อมกรณีหลังเกิดเหตุของโจทก์ ประกอบกับคำให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนของจำเลยลงโทษจำเลยได้
เมื่อคดีฟังได้ว่า จำเลยเป็นคนร้ายยิงผู้ตายในรถโดยสารประจำทางโดยไม่ปรากฏว่า จำเลยหยิบฉวยอาวุธปืนจากที่ใดในรถโดยสารประจำทางมายิงโดยปัจจุบันทันที ย่อมมีความหมายอยู่ในตัวว่า จำเลยพกพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยต้องมีความผิดฐานพาอาวุธปืน ส่วนความผิดฐานมีอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต โจทก์ไม่มีอาวุธปืนอันเป็นวัตถุพยานมาแสดงเป็นหลักฐาน และไม่มีพยานมาพิสูจน์ความผิดว่าอาวุธปืนที่จำเลยยิงผู้ตายเป็นอาวุธปืนประเภทตามฟ้องหรือไม่ จึงลงโทษจำเลยไม่ได้.(ที่มา-เนติ)

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิด ตาม ป.อ. มาตรา 288พ.ร.บ.อาวุธปืน ฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ วางโทษตามป.อ. มาตรา 288 ให้ประหารชีวิต รับสารภาพลดโทษให้หนึ่งในสาม จำคุกตลอดชีวิต เมื่อลงโทษเช่นนั้นแล้ว ก็ไม่ต้องกำหนดโทษความผิดฐานอื่นอีกจำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องความผิดฐานมีและพกอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตโจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน ฯด้วย จำเลยฎีกาขอให้ยกฟ้องทุกข้อหา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘คดีนี้โจทก์มีประจักษ์พยาน 3 คน คือนายแดง อมโร นายประวิทย์ เอกรัตน์ และนายนิคม โกยสิน แต่โจทก์ไม่สามารถนำนายนิคม โกยสิน มาเบิกความในชั้นพิจารณาได้โจทก์คงมีแต่นายแดง อมโร กับนายประวิทย์ เอกรัตน์ มาเบิกความในชั้นพิจารณาเพียง 2 คน ซึ่งประจักษ์พยานทั้งสองหาได้ยืนยันว่าจำเลยเป็นคนร้ายไม่ นายแดง อมโร เบิกความว่าเห็นคนร้ายห่าง 20 เมตร จำหน้าตาไม่ได้ เห็นแต่ด้านหลัง ส่วนนายประวิทย์ เอกรัตน์ ไม่เห็นคนร้ายในขณะเกิดเหตุเลยไม่เห็นแม้แต่คนร้ายวิ่งลงจากรถหรือไม่ นายประวิทย์ เอกรัตน์เบิกความว่าเพิ่งเคยเห็นจำเลยเป็นครั้งแรกก็ตอนที่ตำรวจให้ตนไปนำชี้การทำแผนที่เป็นครั้งที่ 2 คำเบิกความของประจักษ์พยานทั้งสองของโจทก์จึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นคนร้ายรายนี้ แม้โจทก์ได้ส่งคำให้การชั้นสอบสวนของพยานทั้งสองต่อศาลตามเอกสารหมาย จ.5 และเอกสารหมาย จ.9ซึ่งมีใจความว่าพยานทั้งสองจำได้ว่าจำเลยเป็นคนร้ายรายนี้ก็ตาม แต่เอกสารหมาย จ.5 และเอกสารหมาย จ.9 เป็นพยานชั้นสอง เมื่อตัวพยานมาเบิกความในชั้นพิจารณา คำเบิกความนั้นย่อมเป็นพยานชั้นหนึ่ง ชอบที่ศาลจะฟังคำเบิกความในชั้นพิจารณาเป็นสำคัญ เมื่อเช่นนี้โจทก์คงเหลือแต่พยานแวดล้อมกรณีและคำให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนของจำเลย สำหรับร้อยตำรวจตรีสุรสิทธิ์ ทิพรัตน์ ผู้จับจำเลยนั้น ศาลฎีกาพิเคราะห์คำพยานปากนี้แล้วเห็นว่ากอปรด้วยเหตุผลรับฟังได้ว่าข้อเท็จจริงเป็นไปตามคำเบิกความนั้นจุดที่จับจำเลยได้ห่างจุดที่เกิดเหตุเพียง 300-500 เมตร ใช้เวลาเดินประมาณ 15 นาทีเท่านั้น จริงอยู่ แม้เหตุคดีนี้เกิดเวลาประมาณ 12 นาฬิกาเศษ แต่ร้อยตำรวจตรีสุรสิทธิ์ ทิพรัตน์ จับจำเลยได้เวลาประมาณ 14.30 นาฬิกา (ตามที่ปรากฏในบันทึกการจับกุมผู้ต้องหาเอกสารหมาย จ.6) อันเป็นเวลาที่ห่างกันอยู่บ้างก็ตาม แต่ศาลฎีกาเห็นว่า ที่จำเลยหลบหนีจากที่เกิดเหตุมาได้นั้น ใช่ว่าจะหลบหนีได้โดยสะดวกก็หาไม่ จำเลยจะหลบหนีด้วยกิริยาหลบ ๆ ซ่อน ๆ ตามป่าข้างทางเป็นระยะ ๆ จนกว่าจะแน่ใจว่าปลอดภัยแล้วจึงหลบหนีต่อไป จึงย่อมจะใช้เวลาอยู่บ้าง จากที่เกิดเหตุมาถึงที่จับกุมระยะเพียง300-500 เมตร แต่ใช้เวลาถึง 2 ชั่วโมงเศษ จึงอยู่ในวิสัยที่เป็นไปได้ไม่เป็นข้อพิรุณแก่คดีโจทก์ เสื้อที่ร้อยตำรวจตรีสุรสิทธิ์ ทิพรัตน์ ยึดได้มานั้นจำเลยเป็นผู้นำไปชี้ที่ที่ถอดทิ้งไว้ นายแดง อมโร ก็ยืนยันว่าเหมือนกับเสื้อของคนร้ายที่วิงหลบหนีไป นายแดง อมโร เบิกความแต่โดยซื่อ สิ่งใดที่ไม่รู้ไม่เห็น จำไม่ได้ก็กล่าวโดยสัตย์จริง คำเบิกความของนายแดง อมโร ข้อนี้จึงรับฟังได้ว่าจำเลยสวมเสื้อดังกล่าวไปทำการร้ายครั้งนี้ เมื่อถูกจับกุมจำเลยก็รับสารภาพทันทีและรับสารภาพตลอดมาจนถึงชั้นสอบสวนทั้งยังได้แสดงท่าทางต่าง ๆ ที่ตนทำการร้ายตั้งแต่ต้นมาโดยตลอด จดหมายเอกสารหมาย จ.13 และเอกสารหมาย จ.14 เป็นข้อยืนยันอีกข้อหนึ่งว่าจำเลยกระทำผิดคดีนี้ ที่จำเลยต่อสู้ว่าตำรวจทำร้ายบังคับให้รับสารภาพนั้นรับฟังไม่ได้ เพราะจำเลยยอมรับในชั้นหลังว่าตนยอมรับสารภาพเพราะกลัวนายอาหมาดกับนายตอหมาด หาได้รับสารภาพเพราะเหตุที่เกิดแต่ตำรวจไม่ และข้ออ้างประการหลังนี้ไม่มีพยานสนับสนุน ทั้งยังขัดต่อเหตุผล เมื่อกลัวมาแต่แรกแล้วเหตุใดจึงกลับไม่กลัวในภายหลัง ทั้งที่ไม่มีเหตุการณ์ใดมาเปลี่ยนแปลงความกลัวนั้น คำให้การรับสารภาพของจำเลยตามเอกสารหมาย จ.12ได้กล่าวถึงข้อเท็จจริงโดยละเอียดมีเหตุผลนับแต่ต้นจบถึงปลาย ยากแก่การที่พนักงานสอบสวนจะบันทึกได้เอง ทั้งได้กระทำในวันเกิดเหตุนั้นเอง ยากที่ผู้ใดจะคิดทำได้หากไม่เป็นความจริง จึงรับฟังได้ตามข้อความนั้น ด้วยพยานแวดล้อมกรณีหลังเกิดเหตุประกอบกับคำให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนของจำเลย ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยฆ่าผู้ตายจริงพยานหลักฐานที่อยู่ของจำเลยซึ่งจำเลยอ้างตัวเองเป็นพยานผู้เดียว หามีพยานอื่นสนับสนุนไม่นั้น ไม่อาจหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
บัดนี้ จักได้วินิจฉัยฎีกาของโจทก์ต่อไป ศาลฎีกาวินิจฉัยมาแล้วในฎีกาของจำเลยว่าจำเลยเป้นคนร้ายรายนี้ ซึ่งย่อมมีความหมายในตัวว่าจำเลยพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ โดยไม่ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธติดตัว หากจำเลยมิได้พกพาอาวุธปืนติดตัวไปจำเลยจะยิงผู้ตายได้อย่างไร เพราะคดีไม่ปรากฏว่าจำเลยหยิบฉวยอาวุธจากที่ใดในรถโดยสารประจำทางมายิงโดยปัจจุบันทันทีนั้น ฎีกาข้อแรกของโจทก์ฟังขึ้น ส่วนข้อหาจำเลยมีอาวุธปืนไม่มีเครื่องหมายทะเบียนของเจ้าพนักงานประทับ พร้อมด้วยกระสุนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่นั้นโจทก์ไม่มีอาวุธปืนอันเป็นวัตถุพยานมาแสดงเป็นหลักฐานอาวุธปืนที่จำเลยยิงผู้ตายจะเป็นอาวุธปืนประเภทตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ โจทก์หามีพยานมาพิสูจน์ความผิดในข้อหานี้ประการใดไม่ ที่โจทก์ฎีกาว่าแม้ข้อหานี้จำเลยก็รับสารภาพในชั้นสอบสวนตามคำให้การชั้นสอบสวนเอกสารหมาย จ.12 ดุจเดียวกับข้อหาฆ่าผู้อื่น จึงย่อมลงโทษจำเลยได้ศาลฎีกาเห็นว่าข้อหาฐานฆ่าผู้ตายนั้น โจทก์มีพยานอื่นมาประกอบคดีโจทก์ศาลมิได้อาศัยคำให้การรับสารภาพเพียงประการเดียวมาลงโทษจำเลยกรณีจะเห็นได้ชัดและเข้าใจได้ง่ายขึ้น หากสมมติว่า โจทก์ฟ้องจำเลยด้วยข้อหามีอาวุธปืนไม่มีเครื่องหมายทะเบียนของเจ้าพนักงานประทับไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนเพียงข้อหาเดียว ชั้นพิจารณา จำเลยให้การปฏิเสธคดีนั้นโจทก์ไม่มีวัตถุพยาน ไม่มีพยานบุคคลอื่นประการใดคงมีแต่คำให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนเพียงฉบับเดียวกับมีคำเบิกความของพนักงานสอบสวนว่าจำเลยเคยให้การไว้ต่อตนเช่นนั้นดังนี้ ย่อมจะเห็นได้ว่าพยานหลักฐานของโจทก์ไม่เพียงพอที่จะลงโทษจำเลยได้ คดีดังกล่าวเป็นฉันใด คดีนี้ก็ย่อมเป็นฉันนั้น ที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยควรแสดงหลักฐานว่าปืนที่ใช้ยิงผู้ตายเป็นปืนที่มีเครื่องหมายทะเบียนของเจ้าพนักงานประทับและจำเลยมีไว้ในครอบครองโดยได้รับอนุญาตนั้นศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยถึง 3 ข้อหา จำเลยปฏิเสธทุกข้อหาโจทก์มีภาระการพิสูจน์ความผิดของจำเลยทุกข้อหาหาใช่เป็นหน้าที่ของจำเลยพิสูจน์ว่า ตนไม่มีความผิดไม่ฎีกาโจทก์สำหรับข้อหานี้ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยนี้มิใช่เป็นผู้ร้ายโดยอุปนิสัยที่มีมาแต่กำเนิด ดังจะเห็นว่ายอมจำนนแก่ร้อยตำรวจตรีสุรสิทธิ์ ทิพรัตน์ ผู้จับกุมแต่โดยดีมิได้ขัดขืนต่อสู้ชั้นสอบสวนก็ยังรับสารภาพอีก ที่ศาลล่างทั้งสองวางโทษฐานฆ่าผู้อื่นถึงประหารชีวิตเป็นโทษที่หนักเกินไป สมควรวางโทษเสียใหม่ให้เหมาะแก่ความผิด
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 ให้จำคุกตลอดชีวิต และมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิ, 72 ทวิ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน (ฉบับที่44) ลงวันที่ 21 ตุลาคมพุทธศักราช 2519 ข้อ 3, 7 ให้จำคุก 1 ปี จำเลยรับสารภาพชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณานับเป็นเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้หนึ่งในสามเปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นโทษจำคุก 50 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 53 ลดโทษตามเกณฑ์ข้างต้นแล้วคงจำคุก33 ปี 4 เดือน สำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯคงเหลือโทษจำคุก 8 เดือน รวมโทษสองกระทงแล้ว คงจำคุกจำเลยมีกำหนด34 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share