แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานตามวินัยและมาตรการลงโทษของจำเลยระบุว่า การฝ่าฝืนระเบียบวินัยและข้อบังคับที่จำเลยถือว่าเป็นกรณีร้ายแรงซึ่งจำเลยมีสิทธิเลิกจ้างได้ทันทีโดยไม่ต้องตักเตือนเป็นหนังสือก่อนนั้นมีอยู่ 5 ข้อ ส่วนการนำสุราหรือเครื่องดองของเมาหรือยาเสพติดให้โทษอันเป็นของต้องห้ามตามกฎหมายทุกชนิด เข้ามาในสถานที่ทำการของจำเลยหรือบริเวณโรงงาน หรือดื่มสุราหรือเครื่องดองขอเมาในสถานที่ดังกล่าวหรือในเวลาทำงาน หรือยาเสพติดให้โทษอันเป็นของต้องห้ามตามกฎหมาย หรือเข้าไปในสถานที่ดังกล่าวในสภาพที่มึนเมาหรือปฏิบัติงานในสภาพที่มึนเมานั้นได้ระบุไว้ว่า พนักงานผู้ใดฝ่าฝืนถือว่าเป็นการกระทำผิดระเบียบวินัยและข้อบังคับของจำเลยเท่านั้น หาได้เป็นการกระทำผิดระเบียบวินัยและข้อบังคับเป็นกรณีร้ายแรงไม่ ดังนี้การที่โจทก์ดื่มเบียร์ที่นอกโรงงานในขณะที่เป็นเวลาพักเที่ยงเพียง 1 ขวด ไม่มีการมึนเมาขณะไปปฏิบัติงาน กรณีจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์กระทำการฝ่าฝืนระเบียบวินัยและข้อบังคับของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรง
เมื่อจำเลยมีระเบียบวินัยและข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานระบุไว้โดยชัดแจ้งแล้วว่ากรณีใดบ้างที่พนักงานกระทำผิดถือว่าเป็นการกระทำผิดระเบียบวินัยและข้อบังคับหรือเป็นการฝ่าฝืนระเบียบวินัยและข้อบังคับเป็นกรณีร้ายแรง จึงต้องถือปฏิบัติไปตามนั้น ส่วนการที่ระเบียบดังกล่าวระบุว่าจำเลยสงวนสิทธิในการพิจารณาเพิ่มโทษหรือลดโทษจากที่กำหนดตามความเหมาะสมหรือความร้ายแรงของการกระทำผิดโดยให้อยู่ในดุลพินิจของจำเลยแต่ฝ่ายเดียวนั้น ต้องถือว่าเป็นกรณีสงวนสิทธิในการพิจารณาเพิ่มโทษหรือลดโทษที่จะลงแก่ผู้ที่กระทำผิดระเบียบวินัยและข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเท่านั้น มิใช่การสงวนสิทธิที่จะพิจารณาว่าการกระทำผิดใดร้ายแรงหรือไม่ร้ายแรงนอกเหนือหรือแตกต่างไปจากที่กำหนดไว้
ย่อยาว
คดีทั้งสามสำนวนศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาเข้าด้วยกัน โดยเรียกโจทก์แต่ละสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 3 ตามลำดับ
โจทก์ทั้งสามสำนวนฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามเป็นลูกจ้างของจำเลยประเภทลูกจ้างรายวันตำแหน่งพนักงานทั่วไปฝ่ายผลิต (ควบคุมวัตถุดิบ) เมื่อวันที่ 24มีนาคม 2542 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามโดยที่โจทก์ทั้งสามไม่ได้กระทำความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม โจทก์ที่ 1 ทำงานกับจำเลยมาเป็นเวลากว่า 3 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายไม่น้อยกว่า 180 วัน เป็นเงิน 32,400 บาท และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า1 เดือน เป็นเงิน 5,400 บาท โจทก์ที่ 2 ทำงานมากกว่า 8 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายไม่น้อยกว่า 240 วัน เป็นเงิน 60,240 บาท และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 1 เดือน เป็นเงิน 7,530 บาท โจทก์ที่ 3 ทำงานมากกว่า 9 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายไม่น้อยกว่า 240 วัน เป็นเงิน61,440 บาท และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 1 เดือน เป็นเงิน 7,680 บาทโจทก์ทั้งสามทวงถามแล้วแต่จำเลยเพิกเฉย การเลิกจ้างของจำเลยไม่เป็นธรรม ทำให้โจทก์ทั้งสามได้รับความเสียหาย โจทก์ทั้งสามยังสามารถทำงานกับจำเลยได้จึงประสงค์จะเข้าทำงานกับจำเลยต่อไปในตำแหน่งเดิมและอัตราค่าจ้างไม่ต่ำกว่าเดิมหากจำเลยไม่สามารถรับโจทก์ทั้งสามกลับเข้าทำงานได้โจทก์ทั้งสามขอคิดค่าเสียหายจำนวน 32,400 บาท 60,240 บาท และ 61,440 บาท ตามลำดับขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ทั้งสามจำนวน5,400 บาท 7,530 บาท และ 7,680 บาทค่าชดเชยแก่โจทก์ทั้งสามจำนวน 32,400 บาท 60,240 บาท และ 61,440 บาท และค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสามจำนวน 32,400 บาท 60,240 บาท และ 61,440 บาท ตามลำดับ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามสำนวนให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามจริง เนื่องจากโจทก์ทั้งสามทำงานอยู่แผนกเดียวกัน มีหน้าที่ควบคุมเครนในการยกเหล็กม้วนซึ่งมีน้ำหนัก 10 ถึง 15 ตันต่อม้วน ยกขึ้นลงจากรถบรรทุก และเคลื่อนย้ายเหล็กเข้าออกโกดัง ลักษณะการทำงานต้องใช้ความระมัดระวัง เมื่อวันที่ 20 มีนาคม2542 ซึ่งเป็นวันทำงานตามปกติ ในช่วงพักเที่ยงเวลา 12.10 นาฬิกา โจทก์ทั้งสามได้ดื่มเบียร์ที่ร้านอาหารด้านหน้าโรงงานยังอยู่ในช่วงเวลาทำงานนายโยชิคาสึอูเมซาวา ผู้จัดการฝ่ายผลิตและเป็นผู้บังคับบัญชาของโจทก์ทั้งสามได้ไปพบ และได้แจ้งให้โจทก์ทั้งสามหยุดดื่มเบียร์เพราะยังต้องทำงานต่อ อาจจะทำให้เกิดอันตรายได้แต่โจทก์ทั้งสามไม่เชื่อฟัง ยังคงดื่มเบียร์ต่อไป ต่อมาวันที่ 24 มีนาคม 2542 จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ทั้งสาม โจทก์ทั้งสามกระทำผิดระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในกรณีร้ายแรง และขัดคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่สั่งโดยชอบจำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและดอกเบี้ยตามฟ้องการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรมเพราะโจทก์ทั้งสามได้กระทำความผิด จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสามขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นเงินจำนวน 32,400 บาท 60,240 บาท และ 61,440 บาท ตามลำดับพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 24 มีนาคม 2542 จนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสามสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า การที่โจทก์ทั้งสามดื่มเบียร์ที่ร้านค้าหน้าโรงงานจำเลยซึ่งอยู่ในระหว่างเวลาทำงานและตามลักษณะการทำงานของโจทก์ทั้งสามมีหน้าที่ควบคุมเครนสำหรับยกม้วนเหล็กที่มีน้ำหนัก10 ตันขึ้นไป ขึ้นและลงจากรถบรรทุก เคลื่อนย้ายเข้าออกโกดัง ต้องใช้ความระมัดระวังอย่างสูง อาจเกิดอันตรายได้ตลอดเวลา จำเลยจึงได้กำหนดไว้ในระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ข้อ 9 คือ นำสุรา หรือเครื่องดองของเมาหรือยาเสพติดให้โทษอันเป็นของต้องห้ามตามกฎหมายทุกชนิดเข้ามาในสถานที่ทำงานของจำเลยหรือบริเวณโรงงาน หรือดื่มสุราหรือเครื่องดองของเมาในสถานที่ดังกล่าวหรือในเวลาทำงานหรือยาเสพติดให้โทษอันเป็นของต้องห้ามตามกฎหมาย หรือเข้าไปในสถานที่ดังกล่าวในสภาพที่มึนเมา หรือปฏิบัติงานในสภาพมึนเมา จำเลยถือว่าเป็นความผิดร้ายแรง ซึ่งให้อยู่ในดุลพินิจของจำเลยฝ่ายเดียวในการพิจารณาทั้งตามหนังสือเลิกจ้างผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นของจำเลยได้พิจารณาแล้วมีความเห็นร่วมกันว่าการกระทำของโจทก์ทั้งสามถือว่าเป็นความผิดร้ายแรงนั้น เห็นว่า ตามวินัยและมาตรการลงโทษของจำเลย ระบุว่า การฝ่าฝืนระเบียบวินัยและข้อบังคับที่จำเลยถือว่าเป็นกรณีร้ายแรงซึ่งจำเลยมีสิทธิเลิกจ้างได้ทันทีโดยไม่ต้องตักเตือนเป็นหนังสือก่อนนั้นมีอยู่ 5 ข้อ ด้วยกันคือ 1. นำหรือพกพาอาวุธใด ๆ เข้ามาในสถานที่ทำงานของจำเลยหรือโรงงาน เว้นแต่ผู้มีหน้าที่ต้องพกอาวุธ 2. ก่อการทะเลาะวิวาททำร้ายร่างกาย หรือข่มขู่ผู้บังคับบัญชาหรือผู้ร่วมงานในสถานที่ทำการของจำเลย 3. ทำลาย ต่อเติม หรือแก้ไขข้อความในประกาศหรือแผ่นป้ายของจำเลยหรือประกาศของผู้อื่นซึ่งได้รับอนุญาตจากจำเลยให้ติดประกาศได้ 4. เล่นการพนันหรือร่วมวงการพนันทุกประเภทในสถานที่ทำการของจำเลยหรือบริเวณโรงงาน และ 5. ประทับบัตรบันทึกเวลาแทนผู้อื่น แก้ไขเพิ่มเติมหรือทำลายบัตรบันทึกเวลาของตนเองหรือของผู้อื่นไปไว้พ้นจากที่เดิม ส่วนการนำสุราหรือเครื่องดองของเมาหรือยาเสพติดให้โทษอันเป็นของต้องห้ามตามกฎหมายทุกชนิดเข้ามาในสถานที่ทำการของจำเลยหรือบริเวณโรงงาน หรือดื่มสุราหรือเครื่องดองของเมาในสถานที่ดังกล่าวหรือในเวลาทำงาน หรือยาเสพติดให้โทษอันเป็นของต้องห้ามตามกฎหมายหรือเข้าไปในสถานที่ดังกล่าวในสภาพที่มึนเมาหรือปฏิบัติงานในสภาพที่มึนเมานั้นได้ระบุไว้ในข้อ 9 พนักงานผู้ใดฝ่าฝืนถือว่าเป็นการกระทำผิดระเบียบวินัยและข้อบังคับของจำเลยเท่านั้น หาได้เป็นการกระทำผิดระเบียบวินัยและข้อบังคับเป็นกรณีร้ายแรงไม่ และคดีนี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ทั้งสามดื่มเบียร์ที่นอกโรงงานในขณะที่เป็นเวลาพักเที่ยงเพียง 1 ขวด ไม่มีการมึนเมาขณะไปปฏิบัติงาน กรณีจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสามกระทำการฝ่าฝืนระเบียบวินัยและข้อบังคับของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรง
ส่วนที่จำเลยอ้างว่าการกระทำของโจทก์ทั้งสามถือเป็นความผิดร้ายแรงตามระเบียบวินัยและข้อบังคับของจำเลยเพราะกรณีเป็นความผิดร้ายแรงหรือไม่ให้อยู่ในดุลพินิจของจำเลยแต่ฝ่ายเดียวนั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยมีระเบียบวินัยและข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานระบุไว้โดยชัดแจ้งแล้วว่า กรณีใดบ้างที่พนักงานกระทำผิดถือว่าเป็นการกระทำผิดระเบียบวินัยและข้อบังคับหรือเป็นการฝ่าฝืนระเบียบวินัยและข้อบังคับเป็นกรณีร้ายแรง จึงต้องถือปฏิบัติไปตามนั้น เพราะจำเลยเป็นผู้ออกระเบียบวินัยและข้อบังคับอันถือได้ว่าเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเอง ส่วนที่ระเบียบดังกล่าวระบุว่าจำเลยสงวนสิทธิในการพิจารณาเพิ่มโทษหรือลดโทษจากที่กำหนดตามความเหมาะสมหรือความร้ายแรงของการกระทำผิดโดยให้อยู่ในดุลพินิจของจำเลยแต่ฝ่ายเดียวนั้น ต้องถือว่าเป็นกรณีสงวนสิทธิในการพิจารณาเพิ่มโทษหรือลดโทษที่จะลงแก่ผู้ที่กระทำผิดระเบียบวินัยและข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเท่านั้น มิใช่การสงวนสิทธิที่จะพิจารณาว่าการกระทำผิดใดร้ายแรงหรือไม่ร้ายแรงนอกเหนือหรือแตกต่างไปจากที่กำหนดไว้
พิพากษายืน