แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ที่ดินและบ้านพิพาท เป็นทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 ได้มาระหว่างสมรสกับโจทก์ก่อนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ที่ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519ใช้บังคับ จึงเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 และเมื่อไม่ปรากฏว่ามีสัญญาก่อนสมรสบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น ทั้งตามพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่พ.ศ. 2519 มาตรา 7 บัญญัติว่า บทบัญญัติ บรรพ 5 แห่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้ไม่กระทบกระเทือนถึงอำนาจการจัดการสินบริคณห์ที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มีอยู่แล้วในวันใช้บังคับบทบัญญัติ บรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้ เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นสามีมีอำนาจในการจัดการ รวมทั้งอำนาจจำหน่ายสินสมรสอยู่แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจจัดการสินสมรสต่อไป การที่จำเลยที่ 1 ได้ยกที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยมิได้รับความยินยอมจากโจทก์โจทก์จึงมีอำนาจขอเพิกถอนนิติกรรมได้ แต่การเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวได้กระทำเมื่อใช้บทบัญญัติ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ที่ตรวจชำระใหม่ใช้บังคับ ซึ่งเป็นกรณีไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับแก่คดีได้ จึงต้องนำบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง คือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1480 มาใช้บังคับตามมาตรา 4 นิติกรรมการให้ระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำลงเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2529 โจทก์ยื่นฟ้องขอให้เพิกถอนการให้เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2541 จึงเป็นการฟ้องหลังจากพ้นสิบปี นับแต่วันที่ได้ทำนิติกรรมนั้น ฟ้องโจทก์ย่อมขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1480 วรรคสอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2516ต่อมาวันที่ 20 กันยายน 2519 จำเลยที่ 1 ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 27066 ครั้นวันที่ 8 มกราคม 2529 จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมให้ที่ดินดังกล่าวพร้อมบ้านเลขที่ 138/2 แก่จำเลยที่ 2 โดยโจทก์มิได้รู้เห็นยินยอม หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2537 จำเลยที่ 2 ได้ยกที่ดินให้แก่จำเลยที่ 3 และที่ 4ถือกรรมสิทธิ์รวมจำนวน 1 ไร่ ต่อมาวันที่ 29 พฤศจิกายน 2538 จำเลยที่ 3 และที่ 4ได้แบ่งแยกที่ดินออกไปเป็นโฉนดเลขที่ 78263 โจทก์ทราบเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2541ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปทำการเพิกถอนนิติกรรมให้ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างโฉนดเลขที่ 27066 ฉบับลงวันที่ 8 มกราคม 2529 ให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4ไปทำการเพิกถอนนิติกรรมให้ถือกรรมสิทธิ์รวม ฉบับลงวันที่ 27 เมษายน 2537และแบ่งกรรมสิทธิ์รวม ฉบับลงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2538 เกี่ยวกับที่ดินตามโฉนดเลขที่ 27066 หากจำเลยทั้งสี่ไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสี่ และให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 78263
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 27066 เป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 ไม่ใช่สินสมรส จึงจัดการได้โดยลำพังไม่ต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ หากฟังว่าที่ดินดังกล่าวเป็นสินสมรส การทำนิติกรรมยกที่ดินให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรของโจทก์และจำเลยที่ 1 ก็เป็นการให้ตามหน้าที่ธรรมจรรยาเพราะจำเลยที่ 2 อุปการะเลี้ยงดูโจทก์และจำเลยที่ 1 เสมอมา อีกทั้งเป็นผู้ออกเงินชำระหนี้แทนโจทก์และจำเลยที่ 1 ที่มีอยู่แก่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด โจทก์ทราบการทำนิติกรรมดังกล่าวและไม่คัดค้าน อีกทั้งโจทก์ได้ให้สัตยาบันแล้ว จำเลยที่ 2ขายที่ดินดังกล่าวแก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 โดยสุจริตและมีค่าตอบแทน ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะโจทก์ฟ้องคดีเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมให้ที่ดินแก่จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2529 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้การทำนองเดียวกันว่า ร่วมกันซื้อที่ดินจากจำเลยที่ 2ในราคา 600,000 บาท โดยสุจริต ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ เพราะจำเลยที่ 2ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2529โจทก์นำคดีมาฟ้องวันที่ 18 มิถุนายน 2541 เป็นเวลาเกินกว่า 10 ปีแล้วขอให้ยกฟ้อง
ก่อนสืบพยานจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่าเมื่อที่ดินและบ้านเลขที่ 138/2 เป็นทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 ได้มาระหว่างสมรสกับโจทก์ก่อนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ที่ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 ใช้บังคับจึงเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์ และจำเลยที่ 1 เมื่อไม่ปรากฏว่ามีสัญญาก่อนสมรสบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น ทั้งตามพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 มาตรา 7บัญญัติว่าบทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้ไม่กระทบกระเทือนถึงอำนาจการจัดการสินบริคณห์ที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มีอยู่แล้วในวันใช้บังคับบทบัญญัติ บรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้ดังนั้น เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นสามีมีอำนาจในการจัดการรวมทั้งอำนาจจำหน่ายสินสมรสอยู่แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจจัดการสินสมรสต่อไป การที่จำเลยที่ 1 ได้ยกที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยมิได้รับความยินยอมจากโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจขอเพิกถอนนิติกรรมได้ ซึ่งการเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวได้กระทำเมื่อใช้บทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ที่ตรวจชำระใหม่ ใช้บังคับ ซึ่งเป็นกรณีไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับแก่คดีได้ต้องนำบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งคือประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1480 มาใช้บังคับตามมาตรา 4ซึ่งบทบัญญัติ มาตรา 1480 วรรคสอง บัญญัติว่า การฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมตามวรรคหนึ่งห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รู้มูลเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนหรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันที่ได้ทำนิติกรรมนั้น เมื่อนิติกรรมการให้ระหว่างจำเลยที่ 1และที่ 2 กระทำลงเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2529 แต่โจทก์ยื่นฟ้องขอให้เพิกถอนการให้เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2541 จึงเป็นการฟ้องหลังจากพ้นสิบปีนับแต่วันที่ได้ทำนิติกรรมนั้น ฟ้องโจทก์ย่อมขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1480 วรรคสอง
พิพากษายืน