แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การเข้าถางที่รกร้างว่างเปล่า ครอบครองมานั้น แม้จะมิได้ขออนุญาตให้ถูกต้องตาม พ.ร.บ.ออกโฉนดที่ดินฉบับที่ 6 ก็ยังได้สิทธิครอบครองในที่ดินนั้นตาม ป.ม.แพ่งฯมาตรา 1367
ผู้ถือใบเหยียบย่ำ ซึ่งออกทับที่ ที่มีผู้ครอบครองอยู่ก่อนร้องขอใบเหยียบย่ำ จะใช้สิทธิในใบเหยียบย่ำยันผู้ครอบครองอยู่ก่อนนั้นมิได้ แม้ผู้ครอบครองจะเข้าครอบครองโดยมิได้ขออนุญาตให้ดถูกต้องตาม พ.ร.บ.ออกโฉนดที่ดินฉบับที่ 6 ก็ดี
ย่อยาว
คดีนี้ คู่ความตั้งพิพาทที่ดินมือเปล่า ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ยื่นเรื่องราวขอจับจองที่พิพาทจำเลยคัดค้านเพราะได้บุกเบิกครอบครองมาก่อนโจทก์ขอเหยียบย่ำ แต่เป็นเวลาภายหลังประกาศใช้ พ.ร.บ.ออกโฉนดที่ดินฉบับที่ ๖ พ.ศ. ๒๔๗๕ แต่ในที่สุด นายอำเภอสั่งออกใบเหยียบย่ำให้โจทก์ ปัญหามีว่าฝ่ายใดควรมีสิทธิในที่พิพาท
ศาลชั้นต้นเห็นว่า การครอบครองของจำเลยผิดกฎหมาย ใช้ยันโจทก์ไม่ได้ พิพากษาขับไล่จำเลย
แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า การที่จำเลยเข้าถางทำที่พิพาทครอบครองมานั้น นับว่าจำเลยได้สิทธิครอบครองตาม ป.ม.แพ่งฯมาตรา ๑๓๖๗ อยู่ก่อนที่โจทก์ร้องขอใบเหยียบย่ำแล้ว และเพียงแต่การครอบครองโดยไม่ได้ขออนุญาตเท่านั้น ยังไม่เข้าขั้นเป็นความผิดศูนย์เสียสิทธิครอบครองไป ฉนั้นแม้โจทก์จะได้รับใบเหยียบย่ำ ก็ไม่มีสิทธิดีกว่าจำเลย เพราะที่นี้ มิใช่ที่ว่างเปล่า โจทก์จะใช้สิทธิในใบเหยียบย่ำ ซึ่งออกทับที่ที่จำเลยได้เข้าครอบครองอยุ่ ยันสิทธิของจำเลยไม่ได้ ตามนัยแห่งคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๐๔๕/๒๔๘๕
จึงพิพากษายืน