คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3674/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ในการพิจารณาคดีอาญาโจทก์มีหน้าที่นำสืบให้ฟังได้ว่าจำเลยกระทำผิด การที่โจทก์ไม่ได้อาวุธปืนที่จำเลยที่ 1 ใช้ขู่ชิงทรัพย์ผู้เสียหายมาเป็นของกลางและไม่มีพยานหลักฐานอื่นที่พิสูจน์ให้เห็นว่าอาวุธปืนดังกล่าวไม่มีหมายเลขทะเบียน คงได้ความจากจำเลยที่ 1 ตอบคำถามค้านของโจทก์แต่เพียงว่าไม่เคยได้รับอนุญาตจากราชการให้มีและพกพาอาวุธปืนเท่านั้นดังนี้จึงลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานมีอาวุธปืนไม่มีหมายเลขทะเบียนไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและพกพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาตไม่ได้ สำหรับความผิดฐานขับรถจักรยานยนต์โดยไม่มีใบอนุญาต คงได้ความจากคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ตอบคำถามค้านของโจทก์เท่านั้นว่าจำเลยที่ 2 ไม่เคยได้รับใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์ ถือไม่ได้ว่า โจทก์นำสืบถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว จึงลงโทษจำเลยที่ 2 ไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91, 339, 340 ตรี, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ พระราชบัญญัติรถยนต์พ.ศ. 2522 มาตรา 6, 11, 42, 60, 64 พระราชบัญญัติรถยนต์(ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2527 มาตรา 3, 7 และริบรถจักรยานยนต์ของกลางด้วย จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 339 และมาตรา 340 ตรี (ที่ถูกเป็น 339 วรรคสองประกอบด้วยมาตรา 340 ตรี)จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490มาตรา 7, 8 ทวิ, 72 และมาตรา 72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522มาตรา 6, 11, 42, 60 และมาตรา 64 พระราชบัญญัติรถยนต์(ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2527 มาตรา 3, 7 ขณะกระทำผิดจำเลยที่ 1 อายุ17 ปี จึงลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75แล้ว ลงโทษจำเลยที่ 1 ข้อหาร่วมกันชิงทรัพย์ จำคุก 7 ปี 6 เดือนข้อหามีอาวุธปืนไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 1 ปีข้อหาพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นความผิดกรรมเดียวกันกับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 72 ทวิ ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 ให้จำคุกจำเลยที่ 1 ไว้มีกำหนด 6 เดือน รวมลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 9 ปี ลงโทษจำเลยที่ 2 ข้อหาร่วมกันชิงทรัพย์จำคุก 15 ปี ข้อหานำรถที่ยังมิได้เสียภาษีประจำปีมาใช้ปรับ 500 บาท ข้อหาขับขี่รถจักรยานยนต์โดยไม่มีใบอนุญาต ปรับ500 บาท และข้อหานำรถจักรยานยนต์มาใช้โดยไม่แสดงแผ่นป้ายทะเบียนรถและเครื่องหมายการเสียภาษีประจำปีติดไว้ที่รถปรับ 500 บาท รวมลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 15 ปี และปรับ1,500 บาท รถจักรยานยนต์ของกลางเป็นทรัพย์ที่จำเลยใช้ในการกระทำความผิดจึงให้ริบเสีย คำขอนอกจากนี้ให้ยกเสีย ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ในข้อหามีอาวุธปืนไว้ในความครอบครองและพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตด้วย จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้องโจทก์ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 1ในข้อหาเกี่ยวกับความผิดต่อพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 และให้ยกฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ในข้อหาขับรถจักรยานยนต์โดยไม่มีใบอนุญาตขับรถ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในความครอบครองและพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต และลงโทษจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานขับรถโดยไม่มีใบอนุญาตขับรถตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันใช้รถจักรยานยนต์ของกลางเป็นยานพาหนะทำการชิงเอาสร้อยคอทองคำของผู้เสียหายไป โดยจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนสั้นขู่บังคับจะยิงผู้เสียหาย อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 340 ตรี และจำเลยที่ 2 ยังมีความผิดฐานนำรถจักรยานยนต์ของกลางที่ยังไม่ได้เสียภาษีประจำปีมาใช้และไม่แสดงแผ่นป้ายทะเบียนกับเครื่องหมายการเสียภาษีประจำปีติดรถ ปัญหามีว่า จำเลยที่ 1กระทำผิดฐานมีอาวุธปืนไม่มีหมายเลขทะเบียนไว้ในความครอบครองและพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ และจำเลยที่ 2 กระทำผิดฐานขับรถจักรยานยนต์โดยไม่มีใบอนุญาตขับรถตามฟ้องหรือไม่ศาลฎีกาเห็นว่า สำหรับจำเลยที่ 1 คงได้ความจากคำเบิกความของจำเลยที่ 1 ตอบคำถามค้านของโจทก์แต่เพียงว่า จำเลยที่ 1ไม่เคยได้รับอนุญาตจากทางราชการให้มีและพกพาอาวุธปืนเท่านั้นถือไม่ได้ว่าโจทก์นำสืบถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว เพราะในการพิจารณาคดีอาญา โจทก์มีหน้าที่นำสืบให้ฟังได้ว่า จำเลยกระทำผิดทั้งโจทก์ก็ไม่ได้อาวุธปืนที่จำเลยที่ 1 ใช้ขู่ชิงทรัพย์ผู้เสียหายมาเป็นของกลาง และไม่มีพยานหลักฐานอื่นที่พิสูจน์ให้เห็นว่าอาวุธปืนดังกล่าวไม่มีหมายเลขทะเบียน จึงลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานมีอาวุธปืนไม่มีหมายเลขทะเบียนไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และพาอาวุธปืนดังกล่าวไปในหมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตไม่ได้ ส่วนจำเลยที่ 2นั้นก็เช่นกัน คงได้ความจากคำเบิกความของจำเลยที่ 2ตอบคำถามค้านของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 ไม่เคยได้รับใบอนุญาตให้ขับขี่รถจักรยานยนต์ ถือไม่ได้ว่าโจทก์นำสืบถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวนั้น จึงลงโทษจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานขับรถจักรยานยนต์โดยไม่มีใบอนุญาตขับรถตามฟ้องไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share