แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
เครื่องหมายการค้าเป็นทรัพย์สินทางปัญญาอย่างหนึ่ง ไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ ไม่มีรูปร่าง ทั้งไม่อาจยึดถือครอบครองได้อย่างทรัพย์สินทั่วไปดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 4 ว่าด้วยทรัพย์สินการที่จำเลยนำเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า PEAK และ PEAK กับรูปประดิษฐ์คล้ายภูเขาของผู้อื่นมาใช้กับสินค้าของตนโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของแม้เป็นระยะเวลานานเพียงใด ก็ไม่ทำให้จำเลยมีสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นดีกว่าโจทก์ได้ บทบัญญัติว่าด้วยการได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินโดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 หาอาจนำมาใช้บังคับแก่สิทธิในเครื่องหมายการค้าอันเป็นทรัพย์สินทางปัญญาได้ไม่
โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยได้กระทำละเมิดโดยนำเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไปใช้กับสินค้าของจำเลยในลักษณะลวงขายว่าเป็นสินค้าของโจทก์เพียงแต่คาดคะเนว่าหากจำเลยกระทำการดังนั้น ผลเสียหายจะตกแก่โจทก์อย่างไร จึงไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่า จำเลยได้นำสินค้าของตนไปลวงขายว่าเป็นสินค้าของโจทก์หรือไม่ การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยได้นำเอาสินค้าของตนไปลวงขายว่าเป็นสินค้าของโจทก์ เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต เป็นการละเมิดต่อโจทก์ จึงเป็นพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในฟ้อง
โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าอักษรโรมัน คำว่า PEAK และ PEAKกับรูปประดิษฐ์คล้ายภูเขา แต่โจทก์ยังมิได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวในประเทศไทย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยได้เฉพาะในกรณีที่จำเลยได้นำสินค้าของจำเลยไปลวงขายว่าเป็นสินค้าของโจทก์เพียงกรณีเดียวเท่านั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของและผู้ประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าอักษรโรมัน คำว่า PEAK อ่านว่า พีค และ PEAK กับรูปประดิษฐ์คล้ายภูเขาใช้กับสินค้าน้ำยาป้องกันจุดเยือกแข็งของน้ำในหม้อน้ำรถยนต์และน้ำยาป้องกันการเดือดของน้ำในหม้อน้ำรถยนต์ โจทก์ได้ใช้และโฆษณาเครื่องหมายการค้าดังกล่าวมาเป็นเวลาช้านาน จนสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของโจทก์มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักแพร่หลายทั้งในต่างประเทศและประเทศไทย โจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวในประเทศต่าง ๆ ก่อนจำเลยจดทะเบียน เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2537 โจทก์ได้นำเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไปยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าสากลจำพวกที่ 1 แต่นายทะเบียนปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนโดยอ้างว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายของจำเลยที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว จำเลยนำเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไปใช้และจดทะเบียนโดยไม่สุจริต โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวดีกว่าจำเลย การกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายหากจำเลยนำเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไปใช้กับสินค้าของจำเลยในลักษณะลวงขายแล้ว ยิ่งจะทำให้เกิดความสับสนหลงผิดในหมู่ผู้ซื้อ ทำให้โจทก์ขาดประโยชน์ เสื่อมเสียเกียรติภูมิ ขอให้พิพากษาว่า โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้า คำว่า PEAK และ PEAK กับรูปประดิษฐ์คล้ายภูเขาดีกว่าจำเลย ขอให้ห้ามจำเลยใช้เครื่องหมายการค้า คำว่า PEAK ที่จำเลยจดทะเบียนไว้ และให้จำเลยเพิกถอนเครื่องหมายการค้า คำว่า PEAK และรูปประดิษฐ์คล้ายภูเขาของจำเลยตามคำขอเลขที่ 250927 ทะเบียนเลขที่ ค.19353 หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยและให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเป็นรายเดือนเดือนละ 50,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะเลิกใช้และเพิกถอนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม โจทก์ไม่ใช่เจ้าของเครื่องหมายการค้าตามฟ้อง จำเลยเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าน้ำยาปรับอุณหภูมิหม้อน้ำรถยนต์ภายใต้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวในประเทศไทยโดยสงบ เปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลาเกือบ 20 ปี จำเลยจึงได้กรรมสิทธิ์ในเครื่องหมายการค้าดังกล่าว และได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไว้แล้วในประเทศไทย จำเลยจึงได้สิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวในประเทศไทย หากโจทก์จะเป็นเจ้าของและจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านี้ในต่างประเทศก็ไม่มีสิทธิดีกว่าจำเลยการจำหน่ายสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวของจำเลย ไม่ทำให้ประชาชนหลงผิดหรือสำคัญผิดกับแหล่งที่มาของสินค้าจึงไม่เป็นการลวงขายสินค้า โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอเพิกถอนเครื่องหมายการค้าและเรียกค่าเสียหายจากจำเลย ทั้งฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้า PEAK และ PEAK กับรูปประดิษฐ์คล้ายภูเขาดีกว่าจำเลยห้ามจำเลยใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้าของจำเลย กับให้จำเลยไปดำเนินการเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค. 19353ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง มิฉะนั้น ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเดือนละ 30,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าว และเลิกใช้เครื่องหมายการค้านี้แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า”ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นนี้ฟังได้ว่า เครื่องหมายการค้า คำว่า PEAKเป็นของ Mineral Industries, lnc. เริ่มใช้ครั้งแรกกับสินค้าสารละลายกันการแข็งตัว เมื่อปี 2484 และได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่29 ตุลาคม 2506 ต่อมาในวันที่ 31 ตุลาคม 2511 Mineral lndustries,lnc.โอนสิทธิและผลประโยชน์ในเครื่องหมายการค้า คำว่า PEAK ให้แก่ NorthernPetrochemical Company วันที่ 4 ตุลาคม 2520 Northerm PetrochemicalCompany ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า คำว่า PEAK กับรูปประดิษฐ์คล้ายภูเขา กับสินค้าส่วนประกอบสารกันการแข็งตัว ต่อมาวันที่ 25 มีนาคม2530 Northern Petrochemical Company ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า คำว่าPEAK และ PEAK กับรูปประดิษฐ์คล้ายภูเขาให้แก่ Old World Tranding Company, lnc. ซึ่งต่อมาได้รวมกิจการเข้ากับ Old World Automotive Products, lnc. แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นโจทก์ในปัจจุบัน เมื่อปี 2536 โจทก์ได้แต่งตั้งให้บริษัทโอเวอร์ซีส์ ออโต้เทค จำกัด เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าน้ำยาหล่อเย็น PEAK และผลิตภัณฑ์ PEAK ทั้งหมดในประเทศไทย จำเลยได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2519 และได้สั่งสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้า PEAK จากตัวแทนของ Northern Petrochemical Company มาจำหน่ายในประเทศไทย เมื่อต้นปี 2520 จำหน่ายได้ประมาณ 3 ปี ได้รับแจ้งจากตัวแทนจำหน่ายว่า Northern Petrochemical Company เลิกกิจการแล้ว จำเลยจึงเริ่มผลิตสินค้าดังกล่าวจำหน่ายเองในปี 2523 ต่อมาในปี 2536 จำเลยได้ไปจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า คำว่า PEAK กับรูปประดิษฐ์คล้ายภูเขา สำหรับสินค้าสากลจำพวกที่ 1 ได้แก่น้ำยาปรับอุณหภูมิหม้อน้ำรถยนต์ เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2537 โจทก์ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอักษรโรมัน คำว่า PEAK และ PEAK กับรูปประดิษฐ์คล้ายภูเขา สำหรับสินค้าสากลจำพวกที่ 1 ได้แก่ น้ำยาป้องกันจุดเยือกแข็งของน้ำในหม้อน้ำรถยนต์และน้ำยาป้องกันการเดือดของน้ำในหม้อน้ำรถยนต์ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญากระทรวงพาณิชย์ ตามคำขอเลขที่ 270802 และ 270803 แต่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ เพราะเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยซึ่งได้จดทะเบียนไว้แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยเป็นข้อแรกว่า จำเลยมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า PEAK และ PEAK กับรูปประดิษฐ์คล้ายภูเขาดีกว่าโจทก์หรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยได้ใช้เครื่องหมายการค้านี้กับสินค้าของจำเลยโดยสงบ เปิดเผย และด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ มาตั้งแต่ปี 2523 และได้ไปจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้โดยสุจริตแล้ว โจทก์หรือบุคคลใดไม่เคยคัดค้านหรือทักท้วงจนถึงวันฟ้องเป็นเวลากว่า17 ปี จำเลยย่อมได้สิทธิในเครื่องหมายการค้านี้โดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 โจทก์เพิ่งได้รับโอนสิทธิในเครื่องหมายการค้าอักษรโรมัน คำว่า PEAK และ PEAK กับรูปประดิษฐ์คล้ายภูเขามาเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2530 ภายหลังจากที่จำเลยได้สิทธิในเครื่องหมายการค้าโดยการครอบครองปรปักษ์แล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวดีกว่าจำเลยเห็นว่าเครื่องหมายการค้าเป็นทรัพย์สินทางปัญญาอย่างหนึ่ง ไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ ไม่มีรูปร่าง ทั้งไม่อาจ ยึดถือครอบครองได้อย่างทรัพย์สินทั่วไปดังที่ได้บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 4 ว่าด้วยทรัพย์สิน การที่จำเลยนำเครื่องหมายการค้าอักษรโรมัน คำว่า PEAK และ PEAK กับรูปประดิษฐ์คล้ายภูเขา ของผู้อื่นมาใช้กับสินค้าของตนโดยไม่ได้อนุญาตจากเจ้าของแม้เป็นระยะเวลานานเพียงใด ก็ไม่ทำให้จำเลยมีสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นดีกว่าโจทก์ได้ บทบัญญัติว่าด้วยการได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินโดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 หาอาจนำมาใช้บังคับแก่สิทธิในเครื่องหมายการค้าอันเป็นทรัพย์สินทางปัญญาได้ไม่อุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยให้จำเลยรับผิดชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เพราะจำเลยเจตนาเอาสินค้าของตนไปลวงขายว่าเป็นสินค้าของโจทก์ ทำให้สาธารณชนหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้านั้นเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องหรือไม่ เห็นว่า คำฟ้องของโจทก์บรรยายสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างซึ่งอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า PEAK และ PEAK กับรูปประดิษฐ์คล้ายภูเขา จำเลยโดยไม่สุจริตได้นำเครื่องหมายการค้าของโจทก์ดังกล่าวไปใช้และยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในประเทศไทย โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวดีกว่าจำเลย การที่จำเลยนำเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไปยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในประเทศไทย ถือว่าจำเลยละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์และเป็นการกระทำโดยมิชอบฉกฉวยโอกาสแสวงหาประโยชน์ส่วนตนจากความมีชื่อเสียงในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย อีกทั้งเป็นเหตุให้เครื่องหมายการค้าคำขอเลขที่270802 และ 270803 ของโจทก์ไม่ได้รับการจดทะเบียน การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์เสื่อมเสียชื่อเสียงเพราะหากสินค้าของจำเลยคุณภาพไม่ดีทัดเทียมสินค้าของโจทก์ ย่อมทำให้ผู้อื่นสับสนหลงผิด ทำให้ผู้ซื้อเสื่อมความนิยมในสินค้าของโจทก์ หากจำเลยนำเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไปใช้กับสินค้าของจำเลยในลักษณะลวงขายสินค้าแล้วจึงยิ่งจะทำให้เกิดความสับสนหลงผิดในหมู่ผู้ซื้อไม่มีสิ้นสุดทำให้โจทก์ขาดประโยชน์ในทางทำมาหาได้ และเสื่อมเสียเกียรติคุณจากการกระทำละเมิดของจำเลย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายอีกทั้งโจทก์ได้เสียค่าใช้จ่ายในการโฆษณาสินค้าและเครื่องหมายการค้าของโจทก์เพื่อให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายแก่สาธรณชนผู้ซื้อไปเป็นจำนวนมาก ดังนั้น โจทก์จึงขอคิดค่าเสียหายและค่าใช้สิทธิที่จำเลยละเมิดเครื่องหมายการค้าต่อโจทก์เป็นเงินเดือนละ 50,000 บาท ดังนั้นเห็นได้ว่าโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยได้กระทำละเมิดโดยนำเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไปใช้กับสินค้าของจำเลยในลักษณะลวงขายว่าเป็นสินค้าของโจทก์เพียงแต่คาดคะเนว่าจำเลยกระทำการดังนั้น ผลเสียหายจะตกแก่โจทก์อย่างไร จึงไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่า จำเลยได้นำสินค้าของตนไปลวงขายว่าเป็นสินค้าของโจทก์หรือไม่ การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า จำเลยได้นำเอาสินค้าของตนไปลวงขายว่าเป็นสินค้าของโจทก์ เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตเป็นละเมิดต่อโจทก์จึงเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องย่อมเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์หรือไม่เพียงใด เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 46บัญญัติว่า “บุคคลใดจะฟ้องคดี เพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่ไม่ได้จดทะเบียน หรือเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อการละเมิดสิทธิดังกล่าวไม่ได้
บทบัญญัติในมาตรานี้ไม่กระทบกระเทือนสิทธิของเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ไม่ได้จดทะเบียน ในอันที่จะฟ้องคดีบุคคลอื่นซึ่งเอาสินค้าของตนไปลวงขายว่าเป็นสินค้าของเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้น”
คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าอักษรโรมัน คำว่า PEAK และ PEAK กับรูปประดิษฐ์คล้ายภูเขา แต่โจทก์ยังมิได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวในประเทศไทย ดังนั้น โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยได้เฉพาะในกรณีที่จำเลยได้นำสินค้าของจำเลยไปลวงขายว่าเป็นสินค้าของโจทก์เพียงกรณีเดียวเท่านั้น เมื่อโจทก์มิได้บรรยายฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนในกรณีที่จำเลยได้นำสินค้าของจำเลยไปลวงขายว่าเป็นสินค้าของโจทก์ดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว แม้โจทก์จะนำสืบข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายจากการที่จำเลยนำเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไปใช้และนำไปจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเป็นของตน โจทก์ก็ไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายในส่วนนี้ของโจทก์ได้ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเดือนละ 30,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ดังกล่าวและเลิกใช้เครื่องหมายการค้าแก่โจทก์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์จำเลยในข้อนี้ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอของโจทก์ที่ขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเป็นรายเดือนแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง