แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ตรี มุ่งหมายที่จะลงโทษให้หนักขึ้นเฉพาะผู้ที่มีหรือใช้อาวุธปืนเท่านั้น มิใช่ว่าผู้ที่ร่วมกระทำการชิงทรัพย์รายเดียวกันจะต้องระวางโทษหนักขึ้นทุกคนเมื่อจำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้ล็อกคอผู้เสียหายไม่ได้มีหรือใช้อาวุธปืนด้วย จำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าว
โจทก์ไม่สามารถนำสืบให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองตระเตรียมการนำรถแท็กซี่มาใช้ประกอบอาชญากรรมชิงทรัพย์เพื่อให้พ้นจากการจับกุม การที่จำเลยทั้งสองชิงทรัพย์ผู้เสียหายแล้วหนีลงมาชั้นล่างแล้วขึ้นรถแท็กซี่หลบหนีไป จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการชิงทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะเพื่อให้พ้นจากการจับกุม ไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ตรี
การชิงทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับบาดแผลที่คอ มีรอยถลอกทางยาว 3 เซนติเมตร กว้าง 2 เซนติเมตร และมีรอยขีดข่วน 2 รอย ขนาดเล็ก ๆบาดแผลถลอกเล็ก ๆ อีก 2 ถึง 3 แห่ง ที่หลังมือซ้าย ข้อมือซ้ายบวมแดงเป็นหย่อม ๆและมีบาดแผลถลอกที่ริมฝีปากบนทางด้านซ้าย แพทย์มีความเห็นว่าจะใช้เวลาในการรักษาประมาณ 7 วัน ดังนี้ บาดแผลของผู้เสียหายมีเพียงเล็กน้อย ไม่ถึงกับเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายและจิตใจ การกระทำของจำเลยทั้งสองไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสาม คงมีความผิดตามมาตรา 339 วรรคสอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339,340 ตรี,371, 83 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ริบของกลาง เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 อีกกึ่งหนึ่ง ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนเป็นเงิน 18,500 บาท แก่ผู้เสียหายด้วย กับขอให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในคดีที่ระบุ
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 1 ยอมรับว่าเคยต้องโทษและพ้นโทษตามฟ้อง และจำเลยทั้งสองยอมรับว่าเป็นคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490มาตรา 7, 72 วรรคสาม กระทงหนึ่ง จำคุกคนละ 1 ปี ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯมาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ซึ่งเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 เป็นกระทงที่สอง จำคุกคนละ 6 เดือนและมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสาม 340 ตรี เป็นกระทงที่สามจำคุกคนละ 21 ปีเฉพาะในข้อหานี้ โจทก์ขอให้เพิ่มโทษจำเลยที่ 1กึ่งหนึ่ง เนื่องจากเคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกในข้อหาชิงทรัพย์แล้วกลับมากระทำผิดอีกภายใน 3 ปี นับแต่พ้นโทษ แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ถูกจับตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2538 แสดงว่าจำเลยที่ 1 พ้นโทษก่อนวันดังกล่าวซึ่งเป็นวันก่อนใช้พระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงครองสิริราชสมบัติ ครบ 50 ปี พ.ศ. 2539 ซึ่งตามพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 4 ให้ล้างมลทินให้ผู้กระทำผิดก่อนหรือในวันที่ 9 มิถุนายน 2539 และพ้นโทษไปแล้วก่อนพระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ จำเลยที่ 1 จึงได้รับการล้างมลทินในความผิดที่ต้องคำพิพากษาให้จำคุกแล้ว เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ไม่ได้จึงไม่เพิ่มให้ ยกคำขอส่วนนี้ รวมจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 22 ปี 6 เดือน จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 15 ปีนับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษของจำเลยในคดีหมายเลขดำที่ 1528/2538หมายเลขแดงที่ 235/2539 ของศาลจังหวัดขอนแก่น คดีหมายเลขดำที่ 878/2539หมายเลขแดงที่ 2743/2540 คดีหมายเลขดำที่ 1922/2539 หมายเลขแดงที่ 5685/2540 คดีหมายเลขดำที่ 1923/2539 หมายเลขแดงที่ 6016/2539 คดีหมายเลขดำที่ 1928/2539 หมายเลขแดงที่ 3168/2540 คดีหมายเลขดำที่ 3095/2539 หมายเลขแดงที่ 7161/2539 ของศาลชั้นต้น ส่วนที่ขอให้นับโทษต่อจากคดีหมาเลขดำที่ 3260/2539 คดีหมายเลขดำที่ 2563/2539 และคดีหมายเลขดำที่ 3983/2539 ของศาลชั้นต้น โจทก์มิได้แถลงว่าศาลพิพากษาอย่างไร จึงไม่นับต่อให้ ยกคำขอส่วนนี้ (ที่ถูกให้ยกคำขอให้นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากคดีหมายเลขดำที่ 390/2539 ของศาลจังหวัดขอนแก่นด้วย) นับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษในคดีหมายเลขแดงที่ 1512/2538 ของศาลจังหวัดขอนแก่น ริบของกลาง ให้จำเลยทั้งสองรวมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 18,500 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339 วรรคสอง ประกอบมาตรา 340 ตรี, 83 จำคุก 18 ปี จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสอง ประกอบมาตรา 83จำคุก 12 ปี คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยทั้งสองเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้างมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78หนึ่งในสามคงจำคุกจำเลยที่ 1 ไว้มีกำหนด 12 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 8 ปีรวมทุกกระทงแล้วให้จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 13 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด9 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ตามคำเบิกความของผู้เสียหายระบุว่า ผู้เสียหายพาจำเลยทั้งสองไปดูห้องเช่าที่ชั้น 10 ผู้เสียหายยืนรออยู่หน้าห้อง แต่จำเลยทั้งสองตรวจดูภายในห้องค่อนข้างนาน ผู้เสียหายจึงเข้าไปเพื่อจะโทรศัพท์บอกพนักงานข้างล่างให้ทราบว่าผู้เสียหายอยู่ที่ชั้น 10 แต่ยังไม่ทันได้กดหมายเลขโทรศัพท์จำเลยที่ 1 ได้เอาอาวุธปืนสั้นออกมาจี้ผู้เสียหาย ส่วนจำเลยที่ 2 วิ่งไปปิดประตูห้องแล้วมาล็อกคอผู้เสียหาย จำเลยที่ 2 พูดว่า “อย่าร้องนะ” จากนั้นจำเลยที่ 1 ก็ปลดเอาสร้อยคอ 1 เส้น สร้อยข้อมือ 1 เส้น เหรียญรูป ร.5 เลี่ยมทอง 1 องค์ นาฬิกาข้อมือ 1 เรือน และแหวนทองคำ 2 วง ของผู้เสียหาย แล้วจำเลยทั้งสองช่วยกันลากผู้เสียหายเข้าไปในห้องน้ำเอากุญแจมือใส่ข้อมือผู้เสียหายแล้วคล้องติดกับเหล็กมือจับอ่างอาบน้ำ จำเลยที่ 2 จะเอากระเป๋าใส่เงินของผู้เสียหายอีก ผู้เสียหายร้องขึ้น จึงถูกจำเลยที่ 2 ชกท้องอีก 3 ครั้ง จากนั้นจำเลยทั้งสองก็ออกจากห้องไป เนื่องจากข้อมือของผู้เสียหายเล็กจึงพยายามดิ้นหลุดจากกุญแจมือได้ ผู้เสียหายออกมานอกห้องแล้วเห็นจำเลยทั้งสองยืนอยู่หน้าลิฟต์ผู้เสียหายร้องขอให้คนช่วย แต่จำเลยทั้งสองหลบหนีลงมาได้ เมื่อผู้เสียหายลงมาชั้นล่างแล้วได้บอกนายนิพล แสงเงิน ซึ่งเป็นพนักงานอพาร์ตเมนต์ ขณะเดียวกันมีพนักงานของการไฟฟ้าบอกว่าเห็นจำเลยทั้งสองขึ้นรถแท็กซี่หลบหนีไปต่อมาผู้เสียหายได้ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนส่งผู้เสียหายไปให้แพทย์ทำการตรวจชันสูตรบาดแผลและทำการรักษาบาดแผลตามเอกสารหมาย จ.1 จากคำเบิกความของผู้เสียหายดังกล่าวเห็นได้ชัดเจนว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ชักอาวุธปืนออกมาจี้ผู้เสียหายส่วนจำเลยที่ 2 เป็นผู้ล็อกคอผู้เสียหาย จำเลยที่ 2 ไม่ได้ใช้อาวุธปืนแต่อย่างใดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ตรี มุ่งหมายที่จะลงโทษให้หนักขึ้นเฉพาะผู้ที่มีหรือใช้อาวุธปืนเท่านั้น มิใช่ว่าผู้ที่ร่วมกระทำการชิงทรัพย์รายเดียวกันจะต้องระวางโทษหนักขึ้นทุกคน เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ได้มีหรือใช้อาวุธปืนด้วย จำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ตรี อีกทั้งได้ความจากพยานโจทก์แต่เพียงว่าหลังจากจำเลยทั้งสองชิงทรัพย์ผู้เสียหายแล้ว จำเลยทั้งสองหนีลงมาชั้นล่างแล้วขึ้นรถแท็กซี่หลบหนีไปเท่านั้น โดยโจทก์ไม่สามารถนำสืบให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองตระเตรียมการนำรถแท็กซี่มาใช้ประกอบอาชญากรรมชิงทรัพย์คดีนี้เพื่อให้พ้นจากการจับกุมด้วยจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการชิงทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะเพื่อให้พ้นจากการจับกุม การกระทำของจำเลยทั้งสองดังกล่าวไม่ต้องด้วยมาตรา 340 ตรี เช่นกัน ส่วนการบาดเจ็บของผู้เสียหายนั้น ได้ตรวจดูผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์เอกสารหมาย จ.1 แล้วปรากฏว่ามีบาดแผลบวมที่คอมีรอยถลอกทางยาว 3 เซนติเมตร กว้าง 2 เซนติเมตร และมีรอยขีดข่วน 2 รอยขนาดเล็ก ๆ บาดแผลถลอกเล็ก ๆ อีก 2 ถึง 3 แห่ง ที่หลังมือซ้าย ข้อมือซ้ายบวมแดงเป็นหย่อม ๆ และมีบาดแผลถลอกที่ริมฝีปากบนทางด้านซ้าย แพทย์มีความเห็นว่าจะใช้เวลาในการรักษาประมาณ 7 วัน จากรายงานการตรวจของแพทย์ดังกล่าวจะเห็นได้ว่าบาดแผลของผู้เสียหายมีเพียงเล็กน้อย ไม่ถึงกับเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายและจิตใจ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสาม คงมีความผิดตามมาตรา 339 วรรคสอง เท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว”
พิพากษายืน