คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7047/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การบอกกล่าวล่วงหน้าเพื่อเลิกจ้างตามที่พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคสอง กำหนด อาจทำเป็นหนังสือหรืออาจบอกกล่าวล่วงหน้าด้วยวาจาก็ได้ แต่ถ้ามีเหตุเลิกจ้างตามมาตรา 119 และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 นายจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างด้วยวาจาได้ทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือแต่ต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ว่าถ้านายจ้างประสงค์จะยกเหตุตามมาตรา 119 ขึ้นอ้างเป็นข้อปฏิเสธไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย นายจ้างจะต้องแจ้งเหตุนั้นให้ลูกจ้างทราบขณะบอกเลิกจ้างด้วยวาจา ส่วนบทบัญญัติในมาตรา 17 วรรคสาม มีความหมายว่า กรณีนายจ้างบอกเลิกสัญญาจ้างโดยทำเป็นหนังสือ หากประสงค์จะยกเหตุตามมาตรา 119 ขึ้นอ้างเพื่อไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย นายจ้างต้องระบุเหตุดังกล่าวไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างด้วย มิฉะนั้นนายจ้างก็ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง แต่มิได้บังคับเด็ดขาดว่าห้ามนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างด้วยวาจา เมื่อข้อเท็จจริงยังไม่ปรากฏว่าขณะจำเลยบอกเลิกจ้างโจทก์ด้วยวาจา จำเลยได้แจ้งให้โจทก์ทราบถึงการกระทำผิดของโจทก์อันเป็นเหตุไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามมาตรา 119 และเรื่องนี้จำเลยให้การต่อสู้คดีไว้แล้ว จึงควรให้มีการนำสืบพยานในประเด็นนี้ก่อน ศาลแรงงานกลางงดสืบพยานแล้วพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์จึงไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิด และไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมาย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 3,801 บาท และค่าชดเชยจำนวน 16,290 บาท แก่โจทก์

จำเลยให้การว่า โจทก์ขัดคำสั่งและไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายจ้าง จำเลยมีสิทธิให้โจทก์ออกจากงานโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชย ขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างการพิจารณา โจทก์แถลงไม่ติดใจเรียกร้องสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ส่วนจำเลยแถลงว่าได้เลิกจ้างโจทก์ด้วยวาจา ศาลแรงงานกลางเห็นว่าข้อเท็จจริงพอที่จะวินิจฉัยได้ จึงให้งดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลย แล้ววินิจฉัยว่าตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคสอง (ที่ถูกเป็นวรรคสาม) บัญญัติว่า ในกรณีที่นายจ้างเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาจ้าง ถ้านายจ้างไม่ได้ระบุเหตุผลไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้าง นายจ้างจะยกเหตุตามมาตรา 119 ขึ้นอ้างในภายหลังไม่ได้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยวาจามิได้ทำเป็นหนังสือระบุเหตุผลในการเลิกจ้างเอาไว้ จำเลยจึงไม่อาจอ้างว่าโจทก์ขัดคำสั่งและไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายจ้าง ข้อเท็จจริงต้องฟังว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำผิด จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์จำนวน 16,290 บาท

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ถูกจำเลยเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า จำเลยให้การว่าได้เลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุที่โจทก์ได้กระทำความผิดตามที่จำเลยอ้างในอุทธรณ์ดังกล่าวข้างต้น ซึ่งเป็นเหตุตามมาตรา 119 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ. 2541 ที่นายจ้างมีสิทธิยกขึ้นอ้างเป็นเหตุเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง มีปัญหาว่ากรณีเช่นนี้ การที่ศาลแรงงานกลางนำมาตรา 17 วรรคสามแห่งบทกฎหมายดังกล่าวมาปรับแก่คดีแล้ววินิจฉัยว่าในการเลิกจ้างด้วยวาจานายจ้างไม่อาจยกเหตุตามมาตรา 119 ขึ้นอ้างเพื่อปฏิเสธไม่ต้องรับผิดจ่ายค่าชดเชย ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด เป็นการวินิจฉัยถูกต้องหรือไม่ เมื่อพิเคราะห์บทบัญญัติ มาตรา 17 วรรคสองแล้วจะเห็นว่าได้กำหนดหลักการเรื่องการบอกกล่าวล่วงหน้าเพื่อเลิกสัญญาจ้างขึ้นใหม่เป็นพิเศษยิ่งกว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 โดยกำหนดว่าในกรณีที่สัญญาจ้างไม่มีกำหนดระยะเวลานายจ้างหรือลูกจ้างอาจบอกเลิกสัญญาจ้างโดยบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวหนึ่งคราวใดเพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็ได้ อันเป็นการแสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่า การบอกกล่าวล่วงหน้าเพื่อเลิกสัญญาจ้างอาจทำเป็นหนังสือหรืออาจบอกกล่าวล่วงหน้าด้วยวาจาก็ได้ แต่การบอกกล่าวล่วงหน้าที่ได้ทำเป็นหนังสือดังกล่าวได้ถูกจำกัดโดยมาตรา 17 วรรคท้ายว่าไม่ให้ใช้บังคับแก่การเลิกจ้าง ตามมาตรา 119 และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 ซึ่งหมายความว่าถ้ามีเหตุเลิกจ้างตามบทบัญญัติทั้งสองมาตราดังกล่าวนายจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างด้วยวาจาได้ทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวเลิกสัญญาจ้างล่วงหน้าเป็นหนังสือ แต่ทั้งนี้จะต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ว่าถ้านายจ้างประสงค์จะยกเหตุตามมาตรา 119 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ขึ้นอ้างเป็นข้อปฏิเสธไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย นายจ้างจะต้องแจ้งเหตุนั้นให้ลูกจ้างทราบขณะบอกเลิกจ้างด้วยวาจา ส่วนบทบัญญัติในมาตรา 17 วรรคสาม แห่งบทกฎหมายดังกล่าวที่ว่าในกรณีที่นายจ้างเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาจ้างถ้านายจ้างไม่ได้ระบุเหตุผลไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้าง นายจ้างจะยกเหตุตามมาตรา 119 ขึ้นอ้างในภายหลังไม่ได้นั้น คงมีความหมายเพียงว่า ในกรณีนายจ้างเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาจ้างโดยทำเป็นหนังสือ หากนายจ้างประสงค์จะยกเหตุตามมาตรา 119 ขึ้นอ้างเพื่อไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย นายจ้างจะต้องระบุเหตุดังกล่าวนั้นไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างด้วย มิฉะนั้นนายจ้างก็ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง มาตรา 17 วรรคสาม จึงหาได้บังคับเด็ดขาดห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างด้วยวาจาไม่ เมื่อข้อเท็จจริงยังไม่ปรากฏว่าขณะจำเลยบอกเลิกจ้างโจทก์ด้วยวาจา จำเลยได้แจ้งให้โจทก์ทราบแล้วถึงการกระทำความผิดของโจทก์อันเป็นเหตุไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามมาตรา 119 และในเรื่องนี้จำเลยก็ได้ให้การต่อสู้คดีไว้แล้ว จึงควรให้มีการนำสืบพยานว่าขณะที่จำเลยบอกเลิกจ้างโจทก์ด้วยวาจา จำเลยได้แจ้งเหตุที่ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยดังกล่าวแก่โจทก์แล้วหรือไม่ ที่ศาลแรงงานกลางงดสืบพยานโจทก์จำเลย แล้วพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น”

พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางสืบพยานโจทก์และจำเลย แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share