คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6637/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ในคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ใช้เงินตามเช็ค โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความ และศาลพิพากษาตามยอมแล้ว ผลของการประนีประนอมยอมความย่อมทำให้การเรียกร้องซึ่งแต่ละฝ่ายที่ได้สละนั้นระงับสิ้นไป ทำให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิตามที่แสดงในสัญญานั้นว่าเป็นของตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 852 โจทก์คงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้แก่ตนตามสัญญาประนีประนอมยอมความเท่านั้น แม้จำเลยจะไม่ชำระหนี้ตามสัญญาดังกล่าวโจทก์ก็ไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้รับผิดในมูลหนี้ตามเช็คได้อีก ดังนั้น หนี้ตามเช็คจึงเป็นอันระงับสิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด คดีจึงเป็นอันเลิกกันตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534มาตรา 7 สิทธิของโจทก์ในการนำคดีมาฟ้องย่อมระงับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39
ในสัญญาประนีประนอมยอมความระบุเป็นข้อยกเว้นไว้ว่า การยอมความในคดีแพ่งไม่ถือว่าเป็นการยอมความในคดีอาญา ข้อตกลงดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ที่ขัดต่อกฎหมายโดยชัดแจ้งจึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 150 แต่ข้อตกลงนั้นสามารถแยกออกต่างหากจากข้อตกลงอื่น ๆ ได้หาทำให้สัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งตกเป็นโมฆะทั้งหมดไม่(คำสั่งศาลฎีกา)

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวน ศาลชั้นต้นรวมพิจารณาพิพากษาด้วยกัน

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องทั้งสองสำนวนว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันออกเช็คโดยเจตนาไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91 และนับโทษจำเลยทั้งสองติดต่อกัน

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้องทั้งสองสำนวน

จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพและรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 เป็นความผิดหลายกรรมเรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 รวม 10 กระทง ปรับจำเลยที่ 1 กระทงละ 20,000 บาท และจำคุกจำเลยที่ 2 กระทงละ 3 เดือน รวมปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 200,000 บาท และจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 ปี 6 เดือน จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 100,000 บาท และจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด1 ปี 3 เดือน หากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ทั้งสองสำนวน

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ปรับจำเลยที่ 1 ในกระทงที่ 1, 3, 6, 7, 8 และ 9 กระทงละ 2,000 บาท รวมโทษ 10 กระทง เป็นปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน92,000 บาท และจำคุกจำเลยที่ 2 ในกระทงที่ 1, 3, 6, 7, 8 และ 9 กระทงละ1 เดือน รวมโทษ 10 กระทง เป็นจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี 6 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 46,000 บาทและจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 9 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยทั้งสองฎีกาทั้งสองสำนวนโดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาทและมูลคดีตามเช็คพิพาทคดีนี้โจทก์ได้นำไปฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ชดใช้เงินตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 2279/2537 และหมายเลขดำที่ 2675/2538 ของศาลจังหวัดสมุทรปราการ โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลจังหวัดสมุทรปราการได้พิพากษาตามยอมแล้วเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2539 และวันที่ 17 กรกฎาคม 2539

ปัญหาต้องวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายมีว่า สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปแล้วหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าในคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการเรียกให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินตามเช็คพิพาท โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลได้พิพากษาคดีตามยอมแล้ว ผลของการประนีประนอมยอมความดังกล่าวย่อมทำให้การเรียกร้องซึ่งแต่ละฝ่ายได้สละนั้นระงับสิ้นไปและทำให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิตามที่แสดงในสัญญานั้นว่าเป็นของตน ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 852 โจทก์คงมีสิทธิเรียกให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้แก่ตนตามสัญญาประนีประนอมยอมความเท่านั้น แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น โจทก์ก็ไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดในมูลหนี้ตามเช็คพิพาทได้อีก ดังนั้น หนี้ที่จำเลยทั้งสองได้ออกเช็คพิพาทเพื่อใช้เงินนั้นจึงเป็นอันระงับสิ้นผลผูกพันไปก่อนที่ศาลฎีกาจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด คดีจึงเป็นอันเลิกกันตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 7 สิทธิของโจทก์ในการนำคดีมาฟ้องย่อมระงับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 แม้ในสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวข้อ 6 และข้อ 5 ระบุเป็นข้อยกเว้นไว้ว่าการยอมความในคดีแพ่งไม่ถือว่าเป็นการยอมความในคดีอาญาก็ตามข้อตกลงดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ที่ขัดต่อบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวมาแล้วโดยชัดแจ้งจึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 และข้อตกลงดังกล่าวสามารถแยกออกต่างหากจากข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 1 ได้ จึงหาทำให้สัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งดังกล่าวตกเป็นโมฆะทั้งหมด”

เมื่อสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไป จึงให้จำหน่ายคดีทั้งสองสำนวนเสียจากสารบบความ

Share