คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1972/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ผู้ร้องทั้งสามเป็นผู้จัดการมรดกของ จ. ต่อมาผู้ร้องที่ 2 และที่ 3 ประสงค์จะนำที่ดิน 2 แปลงออกแบ่งแก่ทายาทอ้างว่าเป็นทรัพย์มรดกของ จ. ที่ต้องการจัดการตามพินัยกรรม แต่ผู้ร้องที่ 1 ไม่ยินยอม อ้างว่าที่ดินดังกล่าวไม่ใช่ทรัพย์มรดกแต่เป็นของผู้ร้องที่ 1 เนื่องจาก จ. ยกให้ผู้ร้องที่ 1 ก่อนถึงแก่ความตาย กรณีจึงเป็นเรื่องที่ผู้ร้องที่ 1 อ้างสิทธิเป็นข้อพิพาทโต้แย้งข้ออ้างของผู้ร้องที่ 2 และที่ 3 อันเป็นข้ออ้างเพื่อประโยชน์ของทายาทโดยรวม ผู้ร้องที่ 1 จึงเป็นผู้ที่มีส่วนได้เสียอันเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดก จึงไม่สมควรให้ผู้ร้องที่ 1 ร่วมเป็นผู้จัดการมรดกต่อไป

ย่อยาว

กรณีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องทั้งสามเป็นผู้จัดการมรดก (มีพินัยกรรม) ของนายจำรัส ชูประเทศ (รองอำมาตย์โทจำรัส ชูประเทศ) ผู้ตายโดยให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย

ผู้ร้องที่ 2 และที่ 3 ยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องขอว่าตามพินัยกรรมของนายจำรัสชูประเทศ ข้อ 6 กำหนดให้ยกที่ดิน น.ส.3 เลขที่ 206 เล่มที่ 6 หน้า 42 อยู่หมู่ที่ 7 ตำบลกลางดง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ส่วนที่อยู่ริมถนนมิตรภาพตอนมีมะม่วงต้นใหญ่จนจดที่ดินของนายพงษ์ ปุณณกัณฑ์ ให้แก่ผู้ร้องที่ 2 และนายชัยรัตน์ ชูประเทศ ส่วนอีกฝั่งถนนซึ่งมีเขื่อนน้ำพร้อมสิ่งก่อสร้างยกให้แก่ผู้ร้องที่ 3 และผู้ร้องที่ 1 ได้ที่ดินตามแบบหมายเลข 3 สารบบเล่ม 5 ข หน้า 129 อยู่หมู่ที่ 1 ตำบลกลางดง อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งซื้อจากนายผาคำ ชนะชัย นับแต่ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องทั้งสามเป็นผู้จัดการมรดกแล้ว ผู้ร้องทั้งสามได้แบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทไปบ้างแล้ว ยังคงเหลือที่ดินทั้ง 2 แปลงดังกล่าว ซึ่งผู้ร้องที่ 1 ครอบครองเอกสารสิทธิ เนื่องจากผู้ร้องที่ 1 ไม่ร่วมมือ ขอให้ถอนผู้ร้องที่ 1 ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดก ให้ผู้ร้องที่ 1 มอบเอกสารสิทธิเกี่ยวกับที่ดินดังกล่าวแก่ผู้ร้องที่ 2 ที่ 3 เพื่อจัดแบ่งให้ทายาทต่อไป หากไม่ส่งมอบให้ผู้ร้องที่ 2 ที่ 3 มีอำนาจร้องขอต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อออกใบแทน

ผู้ร้องที่ 1 ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องที่ 1 ได้แบ่งปันทรัพย์มรดกให้ทายาทไปหมดแล้วส่วนที่ดิน 2 แปลงตามที่ผู้ร้องที่ 2 ที่ 3 อ้าง ไม่ใช่ทรัพย์มรดก ผู้ร้องที่ 1 จึงไม่ต้องแบ่งให้แก่ทายาท ผู้ร้องที่ 1 ไม่ได้ละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ผู้จัดการมรดกแต่อย่างใดขอให้ยกคำร้องขอของผู้ร้องที่ 2 และที่ 3

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ถอนผู้ร้องที่ 1 ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของนายจำรัส ชูประเทศ ผู้ตาย คงให้เหลือแต่ผู้ร้องที่ 2 กับผู้ร้องที่ 3 เพียงสองคนร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลชั้นต้นลงวันที่ 8 มิถุนายน 2524 ต่อไป คำขออื่นให้ยก

ผู้ร้องที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ยกคำร้องขอของผู้ร้องที่ 2 และที่ 3

ผู้ร้องที่ 2 และที่ 3 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องที่ 2 และที่ 3 ว่ามีเหตุที่จะถอนผู้ร้องที่ 1 จากการเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติในชั้นนี้ว่า ผู้ร้องที่ 2 และที่ 3 ประสงค์จะนำที่ดิน 2 แปลงออกแบ่งแก่ทายาทอ้างว่าเป็นทรัพย์มรดกของนายจำรัสที่จะต้องจัดการตามพินัยกรรม แต่ผู้ร้องที่ 1 ไม่ยินยอม อ้างว่าที่ดินดังกล่าวไม่ใช่ทรัพย์มรดก แต่เป็นของผู้ร้องที่ 1 เนื่องจากนายจำรัสยกให้ผู้ร้องที่ 1 ก่อนถึงแก่ความตาย ดังนี้ เป็นการที่ผู้ร้องที่ 1 อ้างสิทธิเป็นข้อพิพาทโต้แย้งข้ออ้างของผู้ร้องที่ 2 และที่ 3 อันเป็นข้ออ้างเพื่อประโยชน์ของทายาทโดยรวมผู้ร้องที่ 1 จึงเป็นผู้ที่มีส่วนได้เสียอันเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดก เห็นว่าเป็นกรณีที่ไม่สมควรให้ผู้ร้องที่ 1 ร่วมเป็นผู้จัดการมรดกต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์ยกคำร้องของผู้ร้องที่ 2 และที่ 3 เสียนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องที่ 2 และที่ 3 ฟังขึ้น”

พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share