คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1579/2518

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ผลิตเครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าใช้เครื่องหมายการค้าว่า “VETO”(วีโต้)ส่งออกจำหน่ายทั่วโลก และส่งมาจำหน่ายในประเทศไทยอย่างน้อยตั้งแต่ พ.ศ.2502 เมื่อ พ.ศ.2507 จำเลยได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “VETO”สำหรับจำพวกสินค้า 50 ทั้งจำพวกกองทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนให้แล้ว แต่เมื่อ 2-3 ปี มานี้ จำเลยเคยสั่งซื้ออุปกรณ์ไฟฟ้าซึ่งใช้เครื่องหมายการค้าวีโต้ของโจทก์ไปจำหน่าย หาได้เคยผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้เครื่องหมายวีโต้ขึ้นจำหน่ายไม่ ที่จำเลยขอจดทะเบียนไว้นั้นก็เพื่อจะใช้กับสินค้าเครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าที่จำเลยจะผลิตขึ้นในโอกาสต่อไป โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า “VETO” ดีกว่าจำเลย จึงมีสิทธิฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนเครื่องหมายการค้าคำว่า”VETO” ซึ่งจำเลยจดทะเบียนไว้แล้วและห้ามจำเลยใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวได้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้ามาตรา 41(อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 355/2504) แต่โจทก์มิได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ จึงไม่มีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายที่ล่วงละเมิดสิทธิเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามมาตรา 29 วรรคแรก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบริษัทจำกัด จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายในประเทศอิตาลี โจทก์ผลิตสินค้าเครื่องอุปกรณ์ที่ใช้กับไฟฟ้ามากว่า 20 ปีแล้วโดยใช้เครื่องหมายการค้าเป็นอักษรโรมันว่า “VETO” อ่านออกเสียงในภาษาไทยว่า “วีโต้” โจทก์ส่งสินค้ามาให้ตัวแทนค้าต่างจำหน่ายตั้งแต่ก่อน พ.ศ. 2500 ตลอดมา เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2507 จำเลยยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “VETO” ต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยไม่มีอำนาจที่จะกระทำได้ เป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์เสียหายขอคิดค่าเสียหาย 50,000 บาท โจทก์ทราบเรื่องที่จำเลยจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเมื่อต้นปี พ.ศ. 2515 และได้บอกให้จำเลยเพิกถอนและเลิกใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย จึงขอให้ศาลบังคับจำเลยเพิกถอนเลิกใช้เครื่องหมายการค้ารูปรอยประดิษฐ์ของโจทก์ และงดจำหน่ายสินค้า ถ้าจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย และให้จำเลยชำระค่าเสียหาย 50,000 บาทพร้อมทั้งดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยให้การว่า เครื่องหมายการค้าคำว่า “VETO” เป็นของจำเลยที่ได้จดทะเบียนต่อกองทะเบียนเครื่องหมายการค้ากระทรวงพาณิชย์ในจำพวก 50สำหรับสินค้าที่ได้ระบุไว้ทั้งจำพวกเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2507 จำเลยได้ผลิตสินค้าโดยใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “VETO” จำหน่ายในประเทศไทยเป็นเวลานานกว่า10 ปีแล้ว ที่โจทก์อ้างว่าได้ส่งสินค้าโดยใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยตั้งแต่ก่อน พ.ศ. 2500 ไม่เป็นความจริง โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอน คดีโจทก์ขาดอายุความแล้ว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยเลิกใช้เครื่องหมายการค้ารูปรอยประดิษฐ์คำว่า “VETO” ให้จำเลยงดจำหน่ายสินค้าที่ใช้เครื่องหมาย “VETO” และให้จำเลยแจ้งขอถอนหรือเลิกใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวต่อกองทะเบียนเครื่องหมายการค้า ถ้าไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ให้จำเลยชำระค่าเสียหาย 20,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ในปัญหาที่ว่า โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้ารายพิพาทดีกว่าจำเลยผู้ที่ได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของหรือไม่นั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สินค้าเครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าว่าวีโต้ของโจทก์ได้ส่งเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยอย่างน้อยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2502 เป็นต้นมา เมื่อ 2 – 3 ปีมานี้จำเลยเคยสั่งซื้ออุปกรณ์ไฟฟ้าซึ่งใช้เครื่องหมายการค้าวีโต้ของโจทก์ไปจำหน่าย อันแสดงว่าจำเลยหาได้เคยผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าวีโต้ขึ้นจำหน่ายไม่ จึงเชื่อว่าจำเลยขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่าวีโต้เพื่อจะใช้กับสินค้าเครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าที่จำเลยจะผลิตขึ้นในโอกาสต่อไป โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า “VETO” ดีกว่าจำเลย จึงมีสิทธิฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนเครื่องหมายการค้าคำว่า “VETO” ซึ่งจำเลยจะจดทะเบียนไว้แล้ว และห้ามไม่ให้จำเลยใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวได้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 41 ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 355/2504ระหว่างบริษัทไซ้ซอีคอน อาเก จำกัด โจทก์ นายห่าน แซ่เล้า กับพวก จำเลย แต่โจทก์มิได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นไว้ จึงไม่มีสิทธิฟ้องบังคับจำเลยให้ใช้ค่าเสียหายที่ล่วงละเมิดสิทธิเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ตามมาตรา 29 วรรคแรกแห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว

พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า จำเลยไม่ต้องชำระค่าเสียหายจำนวน 20,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share