คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5029/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การยกที่ดินให้เป็นที่สาธารณประโยชน์สำหรับแผ่นดินนั้น หากไม่ได้ทำเป็นหนังสือแล้วต้องมีการแสดงเจตนาตอบรับการยกให้ จากรัฐโดยอย่างน้อยต้องทำเป็นหนังสือตอบรับหรือเข้าไปครอบครองใช้สอยทำประโยชน์ในที่ดินที่ได้รับการยกให้ เมื่อไม่ปรากฏว่าก.ได้ทำเป็นหนังสือยกที่ดินพิพาทให้แก่ส่วนราชการของรัฐหน่วยใดเมื่อใดหรือส่วนราชการของรัฐหน่วยใดได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ใช้ที่ดินพิพาท คงได้ความว่าพ.ศ. 2533 จำเลยขอเลขที่บ้านซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินพิพาทไม่ได้จึงได้ร้องเรียนต่อทางราชการ ทางราชการจึงดำเนินการตรวจสอบที่ดินพิพาทซึ่งมีบ้านจำเลยปลูกอาศัยและขอออกเลขที่บ้านหลังดังกล่าว จึงมีการอ้างว่า ก. ยกที่ดินพิพาทให้เป็นที่สาธารณประโยชน์แล้ว ทั้ง ล. ซึ่งเคยเป็นผู้ใหญ่บ้านและเป็นกำนันตำบลหนองอิรุณเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ปกครองดูแลที่ดินพิพาท ย่อมต้องรู้ว่าที่ดินใดเป็นที่สาธารณประโยชน์ แต่ล.ก็มิได้ดำเนินการอย่างใดเพื่อให้เห็นว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ดังอ้างเลย จึงรับฟังไม่ได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์เมื่อจำเลยได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยปลูกต้นมะพร้าวและมะขามเทศมาตั้งแต่ พ.ศ. 2495 และปลูกบ้านอยู่อาศัยในที่ดินพิพาทเมื่อ พ.ศ. 2530จึงเป็นการที่จำเลยเข้าครอบครองทำประโยชน์และอยู่อาศัยในที่ดินพิพาทไม่เป็นการบุกรุก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9, 108, 108 ทวิประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 96 ลงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2515 ข้อ 11 กับให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ให้จำเลย คนงาน ผู้แทนและบริวารของจำเลยออกจากที่ดินของรัฐที่ครอบครองดังกล่าว
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 9, 108 ทวิ วรรคหนึ่ง ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 96 ลงวันที่29 กุมภาพันธ์ 2515 ข้อ 11 ลงโทษจำคุก 3 เดือน ให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างกับให้จำเลยและบริวารออกไปให้พ้นจากที่ดินพิพาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยมีว่า จำเลยได้บุกรุกที่ดินพิพาทตามแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุเอกสารหมาย จ.2 ตามฟ้องหรือไม่โจทก์ฎีกาว่าที่ดินพิพาทเดิมเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตาม สค.1 เลขที่ 153 ของนายกู้เกียรติ สมสู่ ต่อมานายกู้เกียรติได้ไปขอออกเป็นโฉนดคือที่ดินโฉนดเลขที่ 12658 ซึ่งนายกู้เกียรติให้ผู้ปกครองท้องที่กันแนวเขตด้านทิศตะวันออกแบ่งหักเป็นลำห้วยสาธารณประโยชน์ไว้ตามแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุเอกสารหมาย จ.2 แม้ในที่ดินโฉนดเลขที่ 12658 ระบุว่าด้านทิศตะวันออกติดลำห้วยซึ่งรวมถึงที่ดินพิพาทด้วยนั้นก็เป็นการระบุที่เกิดจากการรังวัดเท่านั้น พยานโจทก์ทุกคนที่เบิกความว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่นายกู้เกียรติยกให้เป็นที่สาธารณประโยชน์ ต่อมาจำเลยได้บุกรุกเข้าไปทำประโยชน์และปลูกบ้านอยู่อาศัยในที่ดินพิพาทนั้นต่างไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อนจึงมีน้ำหนักรับฟังได้ว่าการที่จำเลยเข้าไปครอบครองและปลูกบ้านอยู่ในที่ดินพิพาทเมื่อประมาณเดือนสิงหาคม 2533 เป็นการบุกรุกที่สาธารณประโยชน์ตามฟ้องแล้ว ที่จำเลยเบิกความว่าได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมา 30-40 ปี ก็มีเฉพาะจำเลยและนายเป๋งบุ๊น แซ่ซื้อ บุตรจำเลยเท่านั้น ส่วนพยานจำเลยคนอื่นอีกหลายคนไม่ได้เบิกความยืนยันรับรองว่าจำเลยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมา 30-40 ปี ดังที่จำเลยอ้าง จำเลยจึงมีความผิดตามฟ้องนั้น เห็นว่า การยกที่ดินให้เป็นที่สาธารณประโยชน์สำหรับแผ่นดินนั้น หากไม่ได้ทำเป็นหนังสือแล้วต้องมีการแสดงเจตนาตอบรับการยกให้จากรัฐโดยอย่างน้อยต้องทำเป็นหนังสือตอบรับหรือเข้าไปครอบครองใช้สอยทำประโยชน์ในที่ดินที่ได้รับการยกให้นั้น แต่ตามทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่านายกู้เกียรติ สมสู่ ได้ทำเป็นหนังสือยกที่ดินพิพาทให้แก่ส่วนราชการของรัฐหน่วยใดเมื่อใด หรือส่วนราชการของรัฐหน่วยใดได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ใช้ที่ดินพิพาทนี้คงได้ความจากทางนำสืบของโจทก์ว่าเมื่อ พ.ศ. 2533 จำเลยขอเลขที่บ้านซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินพิพาทไม่ได้ จำเลยจึงได้ร้องเรียนต่อทางราชการ จากนั้นทางราชการจึงได้ดำเนินการตรวจสอบที่ดินพิพาทซึ่งมีบ้านจำเลยปลูกอาศัยและขอออกเลขที่บ้านหลังดังกล่าว จึงมีการอ้างว่านายกู้เกียรติยกที่ดินพิพาทให้เป็นที่สาธารณประโยชน์แล้ว การที่จำเลยเข้าไปอยู่ในที่ดินพิพาท เป็นการบุกรุกที่สาธารณประโยชน์ นอกจากนั้นได้ความจากคำเบิกความของนายเลอพงศ์ สิงห์โตทองพยานโจทก์ว่าพยานเป็นผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 4 และเป็นกำนันตำบลหนองอิรุณ ตั้งแต่ พ.ศ. 2521 เมื่อนับถึง พ.ศ. 2533 ซึ่งเป็นปีที่อ้างว่าจำเลยบุกรุกที่ดินพิพาทจึงเป็นเวลาถึง 12 ปีแล้ว แต่พยานซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่หมู่ที่ 4 ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ดินพิพาทอยู่ในเขตท้องที่และเป็นผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 4 และเป็นกำนันตำบลหนองอิรุณด้วย เบิกความว่า “จำเลยจะเข้าไปอยู่ในที่พิพาทเมื่อใด ข้าฯ ไม่ทราบ” และ “ตามภาพถ่ายหมาย ล.2 นั้นเป็นบ้านของจำเลยซึ่งบ้านของจำเลยมีปลูกต้นมะพร้าวด้วย” ตามคำเบิกความดังกล่าวแสดงว่า หากนายกู้เกียรติยกที่ดินพิพาทให้เป็นที่สาธารณประโยชน์แล้ว พยานซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 4 และเป็นกำนันตำบลหนองอิรุณเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ปกครองดูแลที่ดินพิพาทด้วย ย่อมต้องรู้ว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ตั้งแต่เป็นผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 4 และเป็นกำนัน ตำบลหนองอิรุณตั้งแต่ พ.ศ. 2521 นั้นแล้ว เพราะที่ดินพิพาทมีเนื้อที่ 7 ไร่เศษ มีต้นมะพร้าวอายุนับเป็น 10 ปี ตามภาพถ่ายหมาย ล.2 ปลูกอยู่ แต่นับแต่ พ.ศ. 2521 พยานมิได้ดำเนินการเพื่อให้เห็นว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ดังที่พยานอ้างว่าที่ดินพิพาทนายกู้เกียรติผู้เป็นเจ้าของเดิมยกให้เป็นที่สาธารณประโยชน์ตามบันทึกถ้อยคำที่พยานบันทึกไว้ในเอกสารหมาย จ.1นั้นเลยพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบยังไม่มีน้ำหนักรับฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์อีกทั้งจำเลยมีเจตนาบุกรุก ดังนั้น ที่จำเลยนำสืบว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่จำเลยได้เข้าครอบครองและทำประโยชน์โดยปลูกต้นมะพร้าวและมะขามเทศมาตั้งแต่ พ.ศ. 2495 และปลูกบ้านอยู่อาศัยในที่ดินพิพาทเมื่อ พ.ศ. 2530 ตามภาพถ่ายหมาย ล.2 จึงมีน้ำหนักรับฟังได้ การที่จำเลยเข้าครอบครองทำประโยชน์และอยู่อาศัยในที่ดินพิพาทจึงไม่เป็นการบุกรุกตามฟ้องที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังว่าจำเลยมิได้บุกรุกที่ดินพิพาทตามฟ้องจึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share